เช็กกันหน่อย อาการแบบนี้ใช่ “โรคซึมเศร้า” หรือป่าว?


เช็กกันหน่อย อาการแบบนี้ใช่ “โรคซึมเศร้า” หรือป่าว?

ไม่รู้เพราะอะไร แต่อยากอยู่คนเดียว ไม่อยากทำอะไร รู้สึกว่าชีวิตแย่ โลกนี้ไม่น่าอยู่... หากคุณกำลังมีความคิดแบบนี้ คุณอาจกำลังตกอยู่ในภาวะ "โรคซึมเศร้า"

 

ทุกวันนี้เราแทบไม่รู้เลยว่าคนที่เดินสวนกัน คนที่นั่งทำงานด้วยกัน หรือแม้กระทั่งคนที่อยู่บ้านเดียวกัน...เป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ เพราะถ้าเราไม่สังเกตหรือใส่ใจคนคนนั้นมากพอ เราจะไม่เห็นถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของเขา หรือที่น่ากังวลไปกว่านั้นนั่นคือ คุณเองก็อาจไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็น "โรคซึมเศร้า" อยู่หรือไม่

 

 

อาการนี้ที่เราเป็น...เรียก "โรคซึมเศร้า" หรือไม่?
ทุกคนควรหมั่นสังเกตตัวเองและคนใกล้ชิดว่ามีพฤติกรรมใดบ่งชี้ว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ โดยเริ่มจากสังเกต "ภาวะอารมณ์หรือความคิดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างผิดปกติ" โดยสามารถสำรวจง่ายๆ ตาม 9 ข้อนี้

มักมีอารมณ์เชิงลบ มีอารมณ์เศร้า ท้อแท้ หดหู่ สิ้นหวังอย่างต่อเนื่อง ร้องไห้โดยไม่ทราบสาเหตุ มีความกังวลหรือหงุดหงิดมากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานและความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้าง
เบื่อหน่ายสิ่งรอบตัว เก็บตัว ไม่อยากพบไม่อยากคุยกับใคร เลิกสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบทำ
พฤติกรรมการกินผิดปกติ เบื่ออาหารหรืออยากอาหารมากขึ้น กินน้อยไป กินมากไปทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงผิดปกติ

มีปัญหาในการนอน นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท หรือนอนมากจนเกินไป
กระวนกระวายหรือเฉื่อยชา มีอาการกระสับกระส่าย กระวนกระวายมากเกินไป หรือมีอาการตรงกันข้าม คือ เฉื่อยชา เคลื่อนไหวช้าลง

อ่อนเพลียง่าย มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีเรี่ยวแรงที่จะทำอะไรทั้งสิ้น
สมาธิสั้น ความจำแย่ลง สมาธิในการทำสิ่งต่างๆ และความสามารถในการคิดและการตัดสินใจลดลง
สูญเสียความมั่นใจ รู้สึกตนเองไร้ค่า คิดว่าตนเองเป็นภาระ สูญเสียความมั่นใจในตนเอง รู้สึกผิดและโทษตนเองอยู่ตลอดเวลาในทุกๆ เรื่อง

ไม่อยากมีชีวิตอยู่ คิดเรื่องความตายหรือการฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้ง
ซึ่งข้อสำรวจนี้เป็นเกณฑ์ที่แพทย์ใช้ในการวินิจฉัยโรคซึมเศร้า หากพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดนั้น...
มีอาการอย่างน้อย 5 อาการขึ้นไป

มีอาการในข้อ 1 หรือข้อ 2 ร่วมด้วยอย่างน้อย 1 ข้อ

มีอาการตลอดทั้งวัน

เป็นแทบทุกวัน ต่อเนื่องอย่างน้อย 2 สัปดาห์

ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด และหาแนวทางแก้ไขหรือรักษาต่อไป เพราะอาจเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าได้

 

 

เตรียมรับมือ "โรคซึมเศร้า" หากตัวเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการน่าสงสัย
เราต้องหมั่นให้เวลาในการสังเกต "ร่างกาย" และ "จิตใจ" ทั้งของตัวเองและคนใกล้ชิดว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือมีอะไรที่ผิดปกติบ้างหรือไม่ เพราะ "โรคซึมเศร้า" ยิ่งเรารู้จักมันมากเท่าไหร่ เรายิ่งรับมือกับมันได้ดีมากขึ้นเท่านั้น

หากยังมีอาการไม่มาก ควรหาความรู้และคำแนะนำที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าจากแพทย์เฉพาะทาง เพราะจะได้เรียนรู้วิธีการประคับประคองและจัดการอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม

หมั่นออกกำลังกาย หรือหากิจกรรมทำร่วมกับเพื่อนๆ หรือคนในครอบครัว จะทำให้ร่างกายสดชื่น มีพลังที่ดี จะช่วยให้อาการไม่แย่ลง

การหากิจกรรมทำเพื่อให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย ไม่คิดถึงแต่เรื่องในอดีตที่ทำให้เครียด พยายามให้ผู้ป่วยมีสติอยู่กับปัจจุบัน จะช่วยให้อาการป่วยทางใจค่อยๆ บรรเทาลงได้มาก

คนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัว ควรทำความเข้าใจเรื่องของโรคซึมเศร้าให้มาก เพื่อจะได้เข้าใจและรับมือกับผู้ป่วยอย่างถูกวิธี พร้อมกับเฝ้าระวังและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด สำคัญที่สุดคือการลดปัจจัยกระตุ้นอาการซึมเศร้าต่างๆ เช่น คำพูดที่อาจกระทบกระเทือนจิตใจ การทะเลาะกัน ทำให้บรรยากาศตึงเครียด และควรงดดูสื่อต่างๆ ที่มีเนื้อหาเร้าอารมณ์ เป็นต้น

หากมีอาการจากโรคซึมเศร้าชัดเจนมากขึ้นควรไปพบจิตแพทย์ เพื่อช่วยประเมินและเข้ารับการรักษาบำบัดอย่างถูกต้องและเหมาะสม

หากมีอาการโรคซึมเศร้าในขั้นรุนแรง ทำร้ายตัวเอง หรือเสี่ยงต่อผู้อื่นจะได้รับอันตราย ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลทันที

"โรคซึมเศร้า" รักษาหายได้ แค่เข้าใจโรค
โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่มีโอกาสรักษาให้หายได้ เพียงต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม เริ่มจากการสอบถามอาการ ผลกระทบที่เกิดขึ้น ระดับความรุนแรง โรคประจำตัว ยาที่รับประทานเป็นประจำ ไปจนถึงการใช้ชีวิตประจำวัน จากนั้นแพทย์เฉพาะทางจะเป็นผู้ประเมินว่าควรรักษาแบบใด ถ้าหากสงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการบ่งชี้ว่าอาจเป็นโรคซึมเศร้าควรรีบมาพบแพทย์ทันที

การพูดคุยกัน การถามไถ่กันด้วยความห่วงใยเป็นสิ่งที่ดีที่ควรมอบให้กันและกันอย่างสม่ำเสมอ เพราะเราไม่รู้เลยว่าใครบ้างที่กำลังขาดกำลังใจ ใครบ้างที่กำลังหดหู่กับชีวิต หรือใครบ้างที่กำลังตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า ฉะนั้นเราต้องสังเกตและเฝ้าระวังความผิดปกติให้ดี ที่สำคัญต้องหมั่นดูแล "ใจ" ของตัวเอง และคนที่คุณรักให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วย

เครดิตแหล่งข้อมูล : phyathai


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์