สังเกตให้ดี! เปิดอาการ โรคไอกรน รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
นพ.เฉลิมพล กล่าวต่อว่า ในพื้นที่ที่มีการระบาด ความครอบคลุมของวัคซีน DTP3 (คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน) เพียงร้อยละ 62 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ร้อยละ 90 จึงจะเกิดภูมิคุ้มกันระดับชุมชนได้ ประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยโรคไอกรนในระบบรายงาน 506 ข้อมูลตั้งแต่ 1 ม.ค.- 9 พ.ย.2566 ทั้งหมด 57 ราย เสียชีวิต 1 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ ต่ำกว่า 1 ปี (ร้อยละ 43.86)
นพ.เฉลิมพล กล่าวด้วยว่า อาการของโรคจะแสดงหลังจากรับเชื้อเฉลี่ย 7-10 วัน นานสุด 20 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำ ๆ มีน้ำมูก และไอต่อเนื่องประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นจะเริ่มแสดงอาการสำคัญของโรคคือ ไอเป็นชุด ๆ ถี่ ๆ ติดกัน 5-10 ครั้งหรือมากกว่านั้น
นพ.เฉลิมพล กล่าวต่อว่า จนทำให้ผู้ป่วยหายใจไม่ทัน จึงหยุดไอ และพยายามหายใจเข้าลึก ๆ และมีเสียงดังวู๊ป สลับกับการไอเป็นชุด ทั้งนี้ อาการดังกล่าวอาจเป็นเรื้อรังนาน 2-3 เดือน หากพบผู้ป่วยโรคไอกรน ควรแยกผู้ป่วยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ
นพ.เฉลิมพล กล่าวว่า เน้นย้ำ ผู้ปกครองต้องพาบุตรหลานที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี ไปรับวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ที่กำหนด คือ อายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 1 ปีครึ่ง และฉีดเข็มกระตุ้นเมื่ออายุ 4 ปี สำหรับพื้นที่ที่มีการระบาดของ โรคไอกรนอยู่ในขณะนี้ คือ จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส เด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี ควรฉีดวัคซีนให้ครบ 3 เข็ม
นพ.เฉลิมพล กล่าวต่อว่า โดยเข็มแรกสามารถรับวัคซีนได้ตั้งแต่ อายุ 6 สัปดาห์ เข็มสอง และเข็มสาม ห่างกัน 4 สัปดาห์ พร้อมสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากมีอาการของโรคไอกรน ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน
นพ.เฉลิมพล กล่าวด้วยว่า กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ควรไปรับวัคซีนไอกรน ตั้งแต่อายุครรภ์ที่ 27-36 สัปดาห์ นอกจากนี้ผู้ใหญ่ที่อยู่ใน บ้านที่มีเด็กเล็กควรไปรับวัคซีนเช่นกัน เพื่อป้องกันการเกิดโรคในผู้ใหญ่แล้วแพร่เชื้อต่อไปยังเด็กใน ครอบครัว