รู้ทันอาการอุ้งเชิงกรานหย่อน สังเกตได้ให้รีบพบแพทย์
อุ้งเชิงกรานหย่อนคืออะไร ?
อุ้งเชิงกรานหย่อน เกิดจากความอ่อนแอของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่อุ้มอวัยวะในช่องท้องส่วนล่างหรือท้องน้อย เมื่อกล้ามเนื้ออ่อนแอจึงทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน ได้แก่ กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ มดลูกและช่องคลอดในเพศหญิง รวมถึงทวารหนักและไส้ตรงของทั้งเพศขายและเพศหญิง
ใครบ้างที่เสี่ยงภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อน ?
ปัจจัยหลักที่ทำให้อวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานหย่อนเกิดขึ้น คือการที่กล้ามเนื้อ เอ็น และเนื้อเยื่อที่อยู่ในตำแหน่งเดิมอ่อนแอลง เช่น กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่พยุงอวัยวะในอุ้งเชิงกรานถูกทำลาย ซึ่งเกิดได้หลายปัจจัย เช่น
1.การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร ทำให้ช่องคลอดและเนื้อเยื่อที่พยุงช่องคลอดอ่อนแอลง มักเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์หรือหลังคลอดไม่นาน หากมีอาการหย่อนเป็นเวลานานต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด
2.อายุที่มากขึ้น รวมถึงผู้สูงอายุที่หมดประจำเดือน
3.ภาวะที่มีแรงดันต่ออุ้งเชิงกราน เช่น โรคอ้วน ท้องผูกเรื้อรัง ยกของหนัก หรือการออกแรงเบ่ง
4.ผู้หญิงที่มีโรคทางพันธุกรรมเกี่ยวกับอุ้งเชิงกรานหย่อน
5.สำหรับผู้ชาย ไม่จำเป็นต้องมีอายุมากก็มีโอกาสเป็นอุ้งเชิงกรานหย่อนได้ แค่มีภาวะที่ทำให้แรงดันในช่องท้องสูงขึ้น เช่น ไอเรื้อรัง ท้องผูกจนต้องเบ่งถ่ายนานๆ ยกของหนักบ่อยๆ การออกกำลังกล้ามเนื้อหน้าท้องที่ผิดวิธี ตลอดจนภาวะอ้วน ก็ทำให้เกิดการหย่อนของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานได้
จริงๆ แล้วภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อนสามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ความรุนแรงจะแตกต่างกัน มีตั้งแต่ปวดท้องเล็กน้อย ไม่มีก้อนเนื้อยื่นออกมา ไปจนถึงปวดท้องอย่างหนัก ปัสสาวะผิดปกติ ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด
6 อาการที่บอกว่าคุณอาจมีภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อน
ปวดท้องน้อย หรือรู้สึกหน่วงในช่องคลอด เป็นสัญญาณเตือนว่าอุ้งเชิงกรานเริ่มมีปัญหา
มีตกขาวผิดปกติ มีสีที่เปลี่ยนไป เช่น เขียว เหลือง และน้ำตาล หรือมีเลือดปนออกทางช่องคลอด
รู้สึกเจ็บและเลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ์.
ปัสสาวะไม่ปกติ รู้สึกแสบขณะปัสสาวะ ปัสสาวะไหลช้า ไหลไม่สุด ต้องกดท้องเพื่อช่วยในการปัสสาวะ
รู้สึกเหมือนมีก้อนภายในบริเวณช่องคลอด หรือมีก้อนยื่นออกมาจากช่องคลอด
ในส่วนของทวารหนักและไส้ตรง มีอาการปวดเหมือนอยากถ่ายอุจจาระ เหมือนถ่ายไม่สุด ถ่ายไม่หมด รวมถึงปวดถ่ายอุจจาระแต่พอเข้าไปถ่ายกลับถ่ายไม่ออก ต้องใช้แรงเบ่งและต้องนั่งในห้องน้ำเป็นเวลานานๆ บางครั้งอาจมีอาการปวดบีบที่ท้องน้อยด้านซ้ายร่วมด้วย แต่ถ้าเป็นมากจะคลำเจอก้อนยื่นบริเวณทวารหนัก
การรักษาอุ้งเชิงกรานหย่อน
การรักษาแบ่งได้เป็น 2 วิธี คือ รักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด และรักษาด้วยการผ่าตัด
การรักษาอุ้งเชิงกรานหย่อนแบบไม่ต้องผ่าตัด
ให้สังเกตอาการตัวเองและปรึกษาแพทย์เพื่อให้รู้ว่าโรคอยู่ในระยะไหน หากไม่รุนแรงหรือมีอาการน้อย เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าอุ้งเชิงกรานหย่อน ให้หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ลดการเบ่งที่ต้องออกแรงมากๆ เพื่อลดการใช้กล้ามเนื้อบริเวณช่องคลอด พยายามบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานควบคู่ไปด้วย เช่น การฝึกขมิบช่องคลอด หรือลดน้ำหนัก
ใช้อุปกรณ์พยุงช่องคลอด (Pessary) สอดเข้าไปในช่องคลอด เพื่อพยุงอุ้งเชิงกราน โดยต้องปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสม เช่น รูปทรงวงแหวนเหมือนห่วงที่ผู้ป่วยสามารถใส่และถอดเองได้
สำหรับคนที่มีอาการไม่หนัก ควรดื่มน้ำมากๆ กินผักและผลไม้เพื่อให้อุจจาระนิ่ม อาการจะลดลงได้
การรักษาอุ้งเชิงกรานหย่อนด้วยการผ่าตัด
สำหรับผู้ป่วยที่มีอุ้งเชิงกรานหย่อนมาก เมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด แพทย์จะเลือกรูปแบบการผ่าตัดที่เหมาะกับคนไข้ในแต่ละราย โดยพิจารณาจากหลายปัจจัย อาทิ อายุ โรคประจำตัว ความรุนแรงของอาการ
กรณีการรักษาอุ้งเชิงกรานหย่อนโดยการผ่าตัดที่มีทวารหนักโผล่ด้วย จะใช้วิธีการส่องกล้องทางหน้าท้องเพื่อตัดลำไส้และทำการเสริมความแข็งแรงของอุ้งเชิงกราน ในบางครั้งอาจมีการผ่าตัดผ่านทางหน้าท้องหรือผ่าตัดผ่านทางรูทวารก็ได้ อย่างไรก็ตาม ความเหมาะสมของแต่ละวิธีจะขึ้นอยู่กับคนไข้ว่ามีอาการบริเวณไหน
ทั้งนี้ การรักษาสามารถทำได้ทั้งการผ่าตัดทางช่องคลอดและผ่าตัดทางหน้าท้อง เพื่อทำให้อวัยวะในอุ้งเชิงกรานกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิม คนไข้ที่ได้รับการรักษาแล้วจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว
เครดิตแหล่งข้อมูล : phyathai