อ.เจษฎ์ สรุปให้แล้ว วิธีคำนวณการกินยาพาราฯ หลังมีหมอเตือน
ตามปกติสำหรับผู้ป่วยทั่วไป คือ ผู้ที่มีภาวะตับและไตเป็นปกตินั้น จริงๆ แล้วทางการแพทย์ระบุว่า ทั้งเด็กและผู้ใหญ่สามารถรับประทานยานี้ได้ 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และใน 1 วัน ไม่ควรกินเกิน 4 พันมิลลิกรัม โดยไม่รับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลานาน และถ้าทานแล้วไข้ไม่ลดภายใน 3 วัน หรือ อาการปวดในเด็กไม่บรรเทาภายใน 5 วัน หรือในผู้ใหญ่ไม่บรรเทาภายใน 10 วัน ควรไปพบแพทย์ เนื่องจากอาจเป็นอาการของโรคที่ร้ายแรงได้
ยาพาราเซตามอล ขนาด 325 มิลลิกรัม
- น้ำหนัก 45-67 กิโลกรัม กิน 2 เม็ด (จะเห็นว่ากินทีละ 2 เม็ด ได้โดยปลอดภัยครับ)
- น้ำหนัก 34-44 กิโลกรัม กิน 1 เม็ดครึ่ง
- น้ำหนัก 22-33 กิโลกรัม กิน 1 เม็ด
ยาพาราเซตามอล ขนาด 500 มิลลิกรัม
- น้ำหนัก 67 กิโลกรัมขึ้นไป กิน 2 เม็ด (จะเห็นว่ากินทีละ 2 เม็ด ได้โดยปลอดภัยครับ)
- น้ำหนัก 51-67 กิโลกรัม กิน 1 เม็ดครึ่ง
- น้ำหนัก 33-50 กิโลกรัม กิน 1 เม็ด
ยาพาราเซทามอล ยี่ห้อไทลินอล (Tylenol) ขนาด 650 มิลลิกรัม ชนิดเม็ดออกฤทธิ์นาน 8 ชั่วโมง
- ผู้ป่วยอายุ 18 ปีขึ้นไป น้ำหนักตั้งแต่ 44 กิโลกรัมขึ้นไป กิน 2 เม็ด แต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 8 ชั่วโมง เฉพาะเวลาปวดหรือมีไข้
- น้ำหนักน้อยกว่า 44 กิโลกรัม หรือผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ให้ใช้ยานี้ เพราะจะได้รับยาเกินขนาดที่แนะนำ ซึ่งอาจทำให้เกิดพิษต่อตับได้
#ข้อควรระวังในการกินยาพาราเซตามอล
+ห้ามกินยาพารา ขนาด 500 มิลิลกรัม เกิน 8 เม็ดต่อวัน หรือ 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน
+ห้ามกินยากับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะมีผลเสียต่อตับ
+หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับยาอื่นที่มีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบ เช่น ยาแก้หวัดบางชนิด ยาคลายกล้ามเนื้อบางชนิด เพราะอาจทําให้ได้รับยาเกินขนาด
+ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้ หากดื่มสุราเป็นประจํา เป็นโรคตับหรือโรคไต
+หากรับประทานยาแล้วเกิดอาการ เช่น บวมที่ใบหน้า เปลือกตา ริมฝีปาก ลมพิษ หน้ามืด ผื่นแดง ตุ่มพอง ผิวหนังหลุดลอก ให้หยุดยาและรีบปรึกษาแพทย์ทันที
+ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้หากมีภาวะพร่องจีซิกซ์พีดี (G6PD) หรือกำลังใช้ยาวาร์ฟารินซึ่งเป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดหนึ่ง เพราะอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาได้ง่ายกว่าผู้อื่น
+เก็บในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท พ้นแสงแดด และความร้อน เก็บให้พ้นมือเด็ก และสัตว์เลี้ยง อย่าเก็บในที่ชื้น เพราะจะทำให้ยาเสื่อมสภาพ
หากเกิน 3 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น ลดปริมาณยาไม่ได้ อาจจะต้องไปตรวจโรคอื่น เช่น ไข้เลือดออก หรืออาจต้องมีการรักษาจำเพาะ ... โดยอาจจะต้องระวังด้วยว่า ในทางปฏิบัติ สุขภาพร่างกายของแต่ละคนนั้น อาจแตกต่างไปจากแนวทางปฏิบัติตามทฤษฎีการให้ยา (เช่น ตอบสนองเร็ว หรือมีปัญหาเกี่ยวกับตับอยู่) จึงต้องควรระวังไม่ให้รับยามากเกินไปครับ