หน้าเบี้ยวครึ่งซีก ไม่ใช่เรื่องเล็ก


หน้าเบี้ยวครึ่งซีก ไม่ใช่เรื่องเล็ก


    หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว เป็นอาการป่วยที่หลายๆ คนฟังแล้วก็มักจะคิดไปถึงโรคหลอดเลือดสมอง หรือไม่ก็โรคกลุ่มอัมพฤกษ์ อัมพาต แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีโรคอื่นอีกที่ทำให้อยู่ๆ เราก็มีอาการหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก ไม่ขยับตอบสนองตามที่ควรจะเป็นได้ ซึ่งนั่นก็คือ "โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก" หรือ "Bell's Palsy" ซึ่งหากใครฟังชื่อแล้วรู้สึกไม่คุ้นหู ไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยนั้น ควรทำความรู้จักไว้สักนิด เพราะทั้งตัวเราเองและคนใกล้ชิดทุกคนล้วนเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้หมดแบบไม่มีข้อยกเว้น

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกคืออะไรใครเป็นกลุ่มเสี่ยงภัยที่สุด?

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก หรือ Bell's Palsy เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ซึ่งทำหน้าที่สั่งการกล้ามเนื้อใบหน้า จึงส่งผลต่อความผิดปกติของกล้ามเนื้อใบหน้าโดยตรง โดยสาเหตุของการอักเสบนั้นยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่สันนิษฐานว่าเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ที่สุด คือ กลุ่มคนไข้โรคเบาหวาน กลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์ กลุ่มคนไข้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน และกลุ่มที่มีภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง หรือจริงๆ แล้วต่อให้เป็นคนที่ไม่ได้เจ็บป่วยเป็นโรคอะไร แต่หากพักผ่อนไม่เพียงพอ ภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอลง ก็สามารถป่วยเป็นโรคนี้ได้ จึงถือว่าโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกนี้เป็นโรคใกล้ตัวที่ควรทำความรู้จักไว้ เพราะทุกคนมีโอกาสเป็นได้

อาการแบบไหนชวนสงสัยว่าเป็นโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก
สัญญาณเตือนที่เป็นจุดสังเกตชัดเจนของโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกนี้ คือ คนไข้มักจะมาด้วยอาการอ่อนแรงบริเวณกล้ามเนื้อใบหน้า ใบหน้าซีกหนึ่งจะขยับไม่ค่อยได้ ยักคิ้วไม่ได้ หลับตาไม่สนิท ปากเบี้ยว หรืออาจมีน้ำไหลออกจากปากเวลาดื่มน้ำ ในคนไข้บางรายจะมีอาการปวดบริเวณหลังหูและท้ายทอยนำมา ก่อนที่จะเกิดอาการเบี้ยวอ่อนแรงที่กล้ามเนื้อใบหน้า ส่วนใหญ่มักเป็นแบบฉับพลันคืออยู่ๆ ก็เกิดอาการขึ้นมาเลย และจะชัดเจนมากขึ้นเมื่อผ่านช่วงระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ ดังนั้น หากพบเห็นอาการต้องสงสัยเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยทันที เพราะยิ่งปล่อยทิ้งไว้ อาการจะยิ่งทรุดหนักและรักษาหายฟื้นตัวช้ามากขึ้น

วินิจฉัยอย่างไรถึงแน่ใจว่าใช่โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก

เนื่องจากอาการของโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกนั้น จะมีลักษณะที่คล้ายกันกับโรคหลอดเลือดสมอง และโรคในกลุ่มอัมพฤกษ์ อัมพาต การวินิจฉัยที่แม่นยำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงมีความสำคัญมาก เพื่อนำไปสู่การวางแผนการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม โดยแนวทางในการวินิจฉัยนั้น แพทย์จะซักถามจากประวัติผู้ป่วยก่อนว่า มีอาการเป็นมาเป็นเฉียบพลันหรือไม่ จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการตรวจร่างกาย ซึ่งความแตกต่างระหว่างอาการของโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกกับโรคในกลุ่มอื่นๆ โรคกลุ่มหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต อาจจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาจมีเวียนหัวบ้านหมุน มีอาการอ่อนแรงตามแขนขา ไม่ใช่อาการที่ใบหน้าอย่างเดียว

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกรุนแรงแค่ไหนรักษาได้อย่างไร?

ความรุนแรงของโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกนั้นจะขึ้นอยู่กับอาการของคนไข้แต่ละราย ซึ่งไม่เท่ากัน เพราะบางคนอาจเป็นเล็กน้อย บางคนเป็นแล้วแต่ปล่อยทิ้งไว้นาน ไม่ได้รีบมารักษาก็จะมีอาการรุนแรงรักษายากกว่า ซึ่งแพทย์ก็จะมีแนวทางในการรักษาแตกต่างกันไปในระดับของความอ่อนแรงที่คนไข้เป็น ทั้งนี้ วิธีการรักษาแต่เดิมจะใช้ยาเป็นหลัก โดยมีการใช้ทั้งยาในกลุ่มสเตียรอยด์และยาต้านไวรัสร่วมกัน ซึ่งส่วนใหญ่หลังจากได้รับยาอาการก็จะค่อยๆ ดีขึ้นได้เองตามลำดับ แต่ระยะเวลาในการฟื้นตัวของคนไข้แต่ละคนจะไม่เท่ากัน โดยมากจะอยู่ที่ประมาณ 3-6 เดือน ทั้งนี้ สำหรับในคนไข้ที่รับประทานยาเกิน 2 เดือนแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นเลย จำเป็นจะต้องมีการตรวจโรคเพิ่มเติมด้วยการทำ MRI หรือเอกซเรย์สมองด้วย เพื่อดูว่ามีการกดทับเส้นประสาทอื่นๆ หรือมีเนื้องอกรวมด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ นอกจากการรับประทานยาแล้ว ในการรักษาโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ก็ยังมีการใช้การกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้าด้วย

หน้าเบี้ยวครึ่งซีกหายเร็วฟื้นตัวไวด้วยการใช้เครื่องกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้า
นอกจากแนวทางการรักษาแบบเดิมด้วยการใช้ยาและการใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าแล้ว ในปัจจุบันได้มีวิธีการรักษารูปแบบใหม่ที่ให้ผลลัพธ์ในการฟื้นตัวที่รวดเร็วกว่า นั่นก็คือ การรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งเป็นการใช้เครื่องส่งสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไปยังเส้นประสาทคู่ที่ 7 โดยตรง เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น ซึ่งเครื่องกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้านี้จะมีอยู่ได้กัน 2 แบบ คือ

*Transcranial Magnetic Stimulation (TMS) เป็นแบบใช้กระตุ้นที่สมองโดยตรง และ
*Peripheral Magnetic Stimulation (PMS) เป็นแบบใช้กระตุ้นเส้นประสาทด้านนอก ซึ่งสำหรับในการรักษาโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกนั้น แพทย์จะใช้การกระตุ้นคลื่นแม่เหล็กแบบ PMS ในการรักษา

วิธีการรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้ามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง?

ในการรักษาโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกด้วยเครื่องกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้านั้น ถือเป็นการรักษาที่ไม่มีความเสี่ยง และคนไข้ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวอะไรอะไรมาก เพียงแต่แพทย์จะทำการซักถามประวัติเบื้องต้นก่อนเพื่อคัดกรองผู้ที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้ ซึ่งกลุ่มคนไข้ที่ไม่สามารถใช้เครื่องกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้าในการรักษาได้ ได้แก่ คนไข้ที่มีประวัติเป็นโรคลมชักมาก่อน คนไข้ที่เคยฝังอุปกรณ์ในหู เป็นต้น โดยหลังจากผ่านการซักประวัติเรียบร้อยแล้ว หากผ่านก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษาทันที ซึ่งแพทย์จะใช้เครื่องมือส่งคลื่นแม่เหล็กไปกระตุ้นบริเวณเส้นประสาทบนใบหน้า คนไข้จะรู้สึกเหมือนว่ากล้ามเนื้อมีอาการกระตุก ขยับได้ ในการรักษานั้นจะกระตุ้นอยู่ประมาณ 10-15 นาทีต่อครั้ง ซึ่งจะทำการรักษาต่อเนื่องประมาณ 5 ครั้งขึ้นไป จึงจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นได้อย่างชัดเจน โดยเฉลี่ยแล้วจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ซึ่ง 1 สัปดาห์จะกระตุ้นประมาณ 1-2 ครั้ง ก็จะเห็นผลลัพธ์ที่หายดีได้ แต่ก็จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการในคนไข้แต่ละรายด้วยว่า มีระดับความอ่อนแรงของกล้ามเนื้อมากน้อยแค่ไหน และเข้ารับการ
รักษาเร็วมากน้อยเพียงใด

      โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศทุกวัย ถ้าร่างกายยิ่งอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันยิ่งอ่อนแอก็ยิ่งมีโอกาสเป็นได้ง่ายขึ้น และแม้จะสามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ดังนั้น การดูแลสุขภาพร่างกายตัวเองและคนใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุและคนป่วยในครอบครัวให้แข็งแรง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงให้ปลอดจากโรคนี้ได้ นอกจากนั้นแล้ว การหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ สังเกตอาการหน้าเบี้ยวครึ่งซีกให้ดีก็เป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง โดยหากพบเห็นอาการต้องสงสัย ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาทันที เพราะสำหรับโรคนี้ ยิ่งรักษาเร็วยิ่งหายดีได้ง่าย ฟื้นตัวได้สมบูรณ์ แต่กลับกันเลยหากส่งตัวรักษาช้า ปล่อยให้เป็นนาน ยิ่งกับกลุ่มผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องและผู้สูงอายุด้วยแล้ว โอกาสในการรักษาหายได้เร็วจะยิ่งน้อยลง และถึงแม้จะรักษาจนฟื้นตัว ก็อาจจะฟื้นตัวกลับมาไม่เต็มที่ 100%

เครดิตแหล่งข้อมูล : phyathai


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์