คันหู ต้องตรวจให้รู้ว่าเป็นอะไร


คันหู ต้องตรวจให้รู้ว่าเป็นอะไร

"คันหู...ไม่รู้เป็นอะไร" รู้แต่ว่า ถ้าปล่อยไว้น่าจะไม่ดีแน่ๆ เพราะอาการคันหูที่ใครหลายคนคิดว่าเป็นแค่อาการทั่วไป คันเมื่อไหร่ก็แค่หาอะไรเข้าไปแคะเข้าไปปั่นในหูให้หายคัน แต่รู้หรือเปล่าว่า? การทำแบบนั้นอาจทำให้แก้วหูทะลุจนถึงขั้นต้องผ่าตัดปะแก้วหูกันเลยทีเดียว

พูดแบบนี้แล้ว บางคนอาจสงสัยว่าจะรุนแรงขนาดนั้นได้จริงหรือ วันนี้ พญ.นภารัตน์ จิระวัฒนผลิน โสต ศอ นาสิกแพทย์ แห่ง โรงพยาบาลพญาไท 3 จะมาเฉลยพร้อมล้วงลึกในทุกปัญหาการคันหู เราจะได้รู้ว่าคันหูเกิดจากอะไรได้บ้าง และจะต้องรักษาอย่างไร?ทำความรู้จักกับโครงสร้างหู...กันก่อน

ก่อนจะกล่าวถึงอาการคันหูนั้น พญ.นภารัตน์ บอกว่า เราควรเริ่มต้นจากการทำความรู้จักโครงสร้างของหูกันก่อน ซึ่งคุณหมออธิบายว่า...

"หูของคนเรานั้น ประกอบไปด้วย 3 ชั้น คือชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน แต่บริเวณที่เกี่ยวข้องกับอาการคันหูมากที่สุดคือ ‘หูชั้นนอก' ซึ่งเปรียบเสมือนถ้ำที่มีความลึกประมาณ 2.5 ซม. โดยผิวหนังตรงปากทางเข้ารูหูจะมีรูขุมขนและต่อมไขมันซึ่งสามารถผลิตเหงื่อและมีความมันเหมือนผิวหน้าของคนเราได้
พอถัดลึกเข้าไปสักหน่อย ภายในหูก็จะอุ่นขึ้น พอๆ กับอุณหภูมิร่างกายที่เราใช้วัดไข้กันนั่นแหละ ความสำคัญคือ รูหูชั้นนอกที่อยู่ลึกขึ้นนี้จะเริ่มไม่มีขนและไม่สามารถผลิตขี้ไคลได้ ดังนั้นเมื่อผิวหูของเราแห้งแล้วเกิดการตกสะเก็ดที่ผิวหนัง หรือมีขี้หูเหนียวแฉะหล่นเข้าไป ก็จะไม่สามารถไหลหรือหลุดออกมาเองได้

ระหว่างหูชั้นนอกกับหูชั้นกลางจะถูกกั้นด้วยแก้วหูขนาด 0.8-1 ซม. ซึ่งทำหน้าที่เหมือนประตูใหญ่ทรงวงรี เมื่อเข้าไปที่หูชั้นกลางคือ ด้านหลังแก้วหู ก็จะมีกระดูก 3 ชิ้นเรียงต่อกันชื่อว่า ค้อน, ทั่ง และโกลน ซึ่งมีหน้าที่นำเสียงไปสู่หูชั้นในต่อไป นอกจากนี้ยังมีรูท่อเล็กๆ ที่เชื่อมไปถึงหลังโพรงจมูกอีกที เรียกว่าท่อปรับแรงดันหูชั้นกลาง (ท่อยูสเตเชียน) เสมือนสร้างทางหนีในอุโมงค์หรือเป็นรูระบายอากาศนั่นเอง
ส่วนหูชั้นสุดท้ายก็คือชั้นในสุด รูปร่างจะเหมือนรูปก้นหอยที่ติดกับวงแหวน 3 วง ส่วนนี้จะมีเส้นประสาทหูทำหน้าที่ในการได้ยินและทรงตัว เวลาที่หูตึงจากเส้นประสาทหูเสื่อม เวียนหัวจากน้ำในหูไม่เท่ากัน และตะกอนหินปูนในหูหลุด ก็จะเกิดที่หูชั้นใน"

คันหู ต้องรู้ที่มา เพื่อการรักษาที่ตรงโรค

อาการคันหูอาจดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ถึงอย่างนั้นก็ควรรู้ที่มาและสาเหตุ เพื่อให้สามารถรับมือได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้ พญ.นภารัตน์ ได้ตอบทุกข้อข้องใจในอาการคันหูไว้ว่า...

"อาการคันหูส่วนใหญ่จะเกิดที่บริเวณชั้นนอกกว่า 99% แต่ไม่ถึงชั้นกลางและชั้นใน ซึ่งถ้าเป็นการคันที่เกิดจากขี้หู ก็อาจจะมาจากการมีขี้หูที่เป็นขุยๆ แล้วมีการขยับเกิดขึ้น เหมือนเราคันตอนที่ผิวแห้ง โดยเฉพาะเวลาหน้าหนาวก็จะเป็นขุยง่าย พอตกสะเก็ดก็จะทำให้เกิดอาการคันได้ ซึ่งถ้าเผลอไปแคะหรือเกาก็อาจจะมีรอยถลอก เกิดการติดเชื้อตามมา ทำให้คันไม่หาย ทั้งยังมีเลือดออก และกลายเป็นปวดหูในที่สุด

ซึ่งการที่เราเอานิ้วไปแคะ หรือเอาไม้แคะหูไปปั่น ก็เหมือนเราเอามีดไปกรีดดีๆ นี่เอง เพราะจะทำให้เกิดการบาดเจ็บ ยิ่งในช่องหูปกตินั้นก็มีเชื้อโรคประจำถิ่นอยู่แล้ว ทีนี้ถ้าเราทำให้เกิดบาดแผล เชื้อโรคก็จะเข้าไปในแผลได้ง่าย ทำให้ติดเชื้อ กลายเป็นหนอง แบบนี้ก็จะเป็น ‘การคันหูจากติดเชื้อแบคทีเรีย' ซะส่วนใหญ่"

อาการคันหูจากการติดเชื้อรา

คุณหมออธิบายเพิ่มเติมว่า....

"ยังมีการคันหูอีกประเภทหนึ่ง คือ ‘การคันหูที่เกิดจากติดเชื้อรา' ซึ่งมาจากความชื้น เคสที่เป็นมักมีประวัติน้ำเข้าหูบ่อยๆ แล้วไม่ทำให้หูแห้งในทันที หรือคนที่ว่ายน้ำบ่อยๆ ทำให้หูมีความชื้น ผสมกับขี้หูที่อาจจะมีอยู่แล้ว ก็ทำให้เชื้อรางอกขึ้นมา โดยการคันหูจากสาเหตุนี้จะคันมาก ร่วมกับมีอาการปวดเล็กน้อย และอาจจะมีน้ำไหลออกจากหูด้วย

วิธีการป้องกันก็คือ เวลาที่สระผมหรือน้ำเข้าหู ให้เอียงศีรษะเอาน้ำออกจากหูก่อน แล้วซับด้วยสำลีด้านนอกเท่านั้น รวมถึงอาจจะใช่ไดร์เป่าผมแบบที่ไม่ร้อนจนเกินไป แต่เตือนก่อนว่าถ้าใช้ไดร์เป่าหูนานๆ บางทีก็ไปกระตุ้นหูชั้นใน ทำให้รู้สึกมึนงงได้ ซึ่งอันนี้เป็นกลไกปกติของร่างกาย เพราะแรงดันเปลี่ยนแปลง จากการดูดขี้หูหรือมีลมตีเข้าไปในรูหู ก็จะไปรบกวนหูชั้นใน ทำให้น้ำในหูชั้นในเคลื่อนไหวจนเกิดอาการเวียนหัว มึนงง แต่จะหายไปได้เองในสักพักหนึ่งราว 2-3 นาที

นอกเหนือจากการติดเชื้อต่างๆ แล้ว โรคผิวหนังที่เกิดสะเก็ดผิวหนังลอกออกบ่อยอย่าง ‘สะเก็ดเงิน' มักเป็นโรคที่พบอาการคันหูและผิวหนังได้มาก เพราะผิวหนังที่หลุดลอกจากโรคนี้มักจะระคายเคืองและหล่นเข้าไประคายเคืองต่อแก้วหูได้ ทั้งนี้ผู้ที่มี ผิวหูแห้งขาดความชุ่มชื้น ก็สามารถทำให้เกิดสะเก็ดผิวหนังเป็นขุยลอกออกได้เช่นกัน โดยมักเจอในสภาวะอากาศหนาวเย็น ความชื้นต่ำ อากาศแห้ง เมื่อเกิดผิวลอกออกก็ทำให้ระคายเคืองและคันหูได้

สำหรับผู้ที่มีอาการภูมิแพ้นอกเหนือจากคันจมูก คันตาแล้ว อาจจะมีอาการ ‘คันหูจากภูมิแพ้' ได้ แต่การคันลักษณะนี้คนไข้ส่วนใหญ่มักจะคันผิวหนังร่วมด้วย ซึ่งการคันหูประเภทนี้จะไม่ได้คันจนมากนัก เพราะจะเกิดที่ผิวหนังมากกว่า"

ขี้หู...ศัตรูที่ควรกำจัด?

ในส่วนของขี้หูนั้น พญ.นภารัตน์ ได้ให้ความรู้ว่า โดยปกติแล้วขี้หูจะหลุดออกมาได้เองตามธรรมชาติ ยกเว้นคนไข้บางรายที่ต้องทำความสะอาดออก เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการได้ยินตามมา...
"ขี้หูจะมีลักษณะคล้ายดินก้อนหนึ่งค่ะ ถ้าขี้หูแห้งก็จะสีเข้มๆ ไปจนถึงดำ ซึ่งขี้หูที่มีลักษณะนี้แสดงว่าเกิดมานานแล้ว อาจจะใช้เวลามากกว่า 1 ปีขึ้นไป หรือบางทีเจอแบบที่เกิดมานานเป็น 10 ปีขึ้นไปก็มี คือไม่เคยแคะเลย จนมีลักษณะเป็นเหมือนก้อนหิน มีความแข็งชนิดที่ว่ากระเด้งได้ ซึ่งคนไข้ก็จะมาด้วยอาการปวดหู หูอื้อ แต่ถ้าเป็นขี้หูที่เพิ่งเกิดมาใหม่ คือเป็นขี้ไคลก่อตัวมาใหม่ๆ ก็จะเป็นสีเหลือง คล้ายๆ เทียนขี้ผึ้ง ซึ่งจะอยู่บริเวณด้านนอก สามารถหลุดออกเองได้ โดยการเคี้ยว ขยับกราม ยกเว้นบางรายที่อาจจะมีขี้หูเยอะ ด้วยเรื่องกรรมพันธุ์

การทำความสะอาดด้วยการแคะหู หากทำไม่ถูกวิธีก็อาจทำให้เกิดผลเสียตามมาได้ เพราะการที่เอาไม้แหย่แคะหู หรือปั่นก็จะทำให้ขี้หูหลุดเข้าไปโซนด้านใน โดยโซนด้านในปกติจะไม่มีขี้หู แต่พอโดนดันเข้าไปข้างในก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้น ทำให้คันหู หูอื้อ จนเกิดขี้หูอุดตันได้ในที่สุด

สำหรับคนที่ขี้หูไม่เยอะก็ไม่เป็นไร ก็ปล่อยไว้ได้ แต่ว่าถ้าเป็นโรคขี้หูเยอะ ก็ควรที่จะจัดการ ด้วยการคอยดูรูหู โดยอาจจะให้คนใกล้ชิดคอยดูรูหูให้ เนื่องจากหูเป็นอวัยวะที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตัวเอง จึงไม่ควรแคะสุ่มสี่สุ่มห้า โดยที่มองไม่เห็น แต่ถ้าเป็นขี้หูขนาดเล็ก ก็อาจจะเอาออกได้โดยใช้คอตตอนบัตหัวเล็กชุบน้ำเกลือได้ในบางรายเท่านั้น หรือใช้วิธีหยอดยาละลายขี้หูป้องกันไว้ทุกๆ 2-3 อาทิตย์ เป็นยาที่ใช้ระบายขี้หูโดยเฉพาะ เพื่อไม่ให้อุดตันและทำให้หูอื้อในที่สุด แต่หากหยอดยาแล้ว อาการไม่ทุเลาลงภายใน 1-2 วัน ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว"

หูน้ำหนวก...ภัยลุกลามจากการแคะหู

แม้การแคะ ทำความสะอาดหูจะเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ถึงอย่างนั้น พญ.นภารัตน์ ก็ได้เตือนว่าหากทำไม่ถูกหรือเกิดพลาดพลั้งขึ้นมาก็อาจทำให้ลุกลามกลายเป็นหูน้ำหนวกจนถึงขั้นต้องปะแก้วหูได้เลย...
"อีกหนึ่งปัญหาเรื่องหูที่อาจตามมาจากอาการคัน คือ หูน้ำหนวก ซึ่งจะมีอาการแก้วหูทะลุ ทำให้มีน้ำไหลตลอดเวลา ซึ่งอาการในขั้นนี้จะทำให้หูอื้อ มากกว่าที่จะคันหู ซึ่งสาเหตุของแก้วหูทะลุนี้ อาจจะมาจากอุบัติเหตุ คือมีสิ่งแปลกปลอมทิ่มเข้าไปในหู ทำให้รู้สึกปวดมากในทันที รวมทั้งยังอาจเกิดจากการเป็นหวัด ภูมิแพ้ น้ำมูก ติดเชื้อ หรือเป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง แล้วมีการสั่งน้ำมูกอย่างแรง หรือเป็นไซนัสบ่อยๆ เหล่านี้ก็มีสิทธิ์ที่จะทำให้เกิดการบวมในท่อปรับแรงดันหูชั้นกลาง ทำให้มีแรงดันกระทบมาที่หูชั้นกลางเยอะ เมื่อเกิดแรงดันมากๆ ก็จะทำให้หูส่วนนี้บวม จนอากาศระบายออกมาไม่ได้ มันก็จะดันให้เกิดรูเล็กๆ ก่อน แล้วการติดเชื้อที่ขังอยู่ในหูชั้นกลาง ทำให้มีน้ำไหลซึมออกมา เป็นอาการที่เรียกว่าหูน้ำหนวก การรักษาก็คือต้องแก้การติดเชื้อ ด้วยการหยอดยา กินยา และสุดท้ายเมื่อน้ำทั้งหมดแห้งไปก็ต้องปิดแก้วหู ซึ่งทำได้ 2 แบบ คือ

 1.การปะแก้วหูด้วยแผ่นกระดาษติดแก้วหู โดยผู้ป่วยไม่ต้องนอนโรงพยาบาลหรือฉีดยาชา ใช้สำหรับรูทะลุที่มีขนาดไม่เกิน 25% ของรูแก้วหูทั้งหมด โดยใช้การแต้มยาเพื่อกระตุ้นให้เนื้อเยื่องอกขึ้นมา และทำร่วมกันกับการใช้แผ่นกระดาษสำหรับทางการแพทย์ติดแก้วหู วางไว้ประมาณ 2-3 เดือน เพื่อให้เนื้อเยื่อแก้วหูเชื่อมปิดสนิท

2.การผ่าตัดโดยใช้เนื้อเยื่อเทียมปิดรูแก้วหูทะลุ หรือนำเนื้อเยื่อจากหลังใบหูมาใช้ปะแก้วหู แบบทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน เหมาะสำหรับรูแก้วหูทะลุที่ใหญ่เกิน 25% ขึ้นไป ทำในห้องผ่าตัดมีทั้งฉีดยาชาเฉพาะที่และดมยาสลบ ใช้เวลาในการดูแลต่อที่บ้าน 2-3 เดือนเช่นกัน

โดยนอกเหนือจากวิธีการรักษานี้ ยังต้องป้องกันเพื่อไม่ให้เป็นซ้ำ ด้วยการรักษาต้นเหตุ เช่น ภูมิแพ้หรือไซนัสด้วย"

รู้แบบนี้แล้ว... เราคงจะต้องระมัดระวังการเกาหูหรือแคะหูที่รุนแรงเกินไป เพราะอาการคันหูอาจจะไม่ใช่แค่โรคธรรมดาๆ ที่หายเองได้หากติดเชื้อหรือแก้วหูทะลุ ดังนั้นเราจึงต้องรู้ว่า อาการคันหูที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากสาเหตุใด จะได้รีบรักษาให้หายก่อนลุกลามจนรักษายากหรือสายเกิดแก้

เครดิตแหล่งข้อมูล : phyathai.com


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์