“ปวดหัวเรื้อรัง” เดี๋ยวปวด…เดี๋ยวหาย อย่าปล่อยไว้!
ของปวดหัวของแต่ละคนก็อาจมีสาเหตุการเกิดโรคที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งที่ทุกคนควรทำเหมือนกันเมื่อมีอาการปวดหัวผิดปกติ คือ... ควรรีบมาปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพราะนอกจากจะได้รับคำแนะนำและได้รับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของโรคอย่างแม่นยำแล้ว หาก "อาการปวดหัวเรื้อรัง" ที่เป็นอยู่ยังไม่รุนแรงมากนักก็มีโอกาสสูงที่จะรักษาให้หายขาดได้
ทำไม? เราจึงปวดหัวบ่อยๆ
ปกติแล้วอาการปวดหัวสามารถพบได้ทั่วไป บางคนอาจปวดเพียงเล็กน้อย บางคนอาจปวดมาก ซึ่งสาเหตุของการปวดหัวนั้นมีหลายอย่าง เช่น ปวดหัวจากความเครียด ปวดหัวไมเกรน หรือมีความผิดปกติด้านอื่นๆ ในร่างกาย เช่น มีเนื้องอกในสมอง เส้นเลือดในสมองโป่งพอง โพรงจมูกอักเสบ หรือสายตาผิดปกติ และอื่นๆ อีกมาก ซึ่งแต่ละชนิดจะมีความรุนแรงแตกต่างกัน
"ปวดหัวเรื้อรัง" เกิดจากสาเหตุใด?
จริงๆ แล้วการปวดหัวเรื้อรัง คือลักษณะการปวดหัวที่มีอาการต่อเนื่องมากกว่า 15 วันต่อเดือน ติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน ซึ่งอาจเป็นการปวดหัวธรรมดาที่เกิดจากความเครียด ไมเกรน หรือใช้ยาแก้ปวดไม่ถูกต้องทำให้มีอาการปวดต่อเนื่องจนกลายเป็นอาการปวดหัวแบบเรื้อรัง แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นอาการปวดหัวที่นำไปสู่โรคร้ายอื่นๆ ได้เช่นกัน
ปวดหัวแบบไหน...ไม่อันตราย?
อาการปวดหัวที่เกิดจาก การปวดหัวไมเกรน ปวดหัวจากความเครียด การใช้ความคิด การนั่งทำงานนานๆ แสงสว่างไม่พอ เกิดความตึงของกล้ามเนื้อ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย อาการเหล่านี้เป็นอาการปวดหัวที่มักไม่เป็นอันตราย และถึงแม้ว่าอาการปวดหัวเรื้อรังจะรักษาไม่หายขาด แต่สามารถป้องกันและทำให้บรรเทาลงได้
"ปวดหัวเรื้อรัง" แบบนี้สิ...ถึงอันตราย
เมื่อไหร่ที่มีอาการปวดหัวแบบรุนแรงมากหรือรุนแรงที่สุดในชีวิตที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยมักมีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น แขนขาอ่อนแรง ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน การได้ยินลดลง หรือชักเกร็ง กระตุก เดินเซ หรือคอแข็ง หรือมีอาการปวดหัวรุนแรงที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน นั่นอาจเป็นอาการของโรคอื่นที่แอบแฝง เช่น เนื้องอกในสมอง มะเร็งสมอง เส้นเลือดสมองโป่งพอง หรือความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้จะก่อให้เกิดอันตรายได้มาก ดังนั้นหาก...
มีอาการเหล่านี้อย่าชะล่าใจ...รีบมาพบแพทย์ด่วน!!
-ปวดศีรษะรุนแรงขึ้นแบบทันทีทันใด
-ปวดศีรษะพร้อมกับมีไข้และคอแข็งร่วมด้วย
-ปวดศีรษะร่วมกับอาการทางระบบประสาทผิดปกติ เช่น แขนขาอ่อนแรง เดินเซ ปากเบี้ยว เป็นต้น
-อาการปวดศีรษะในผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV
-ปวดศีรษะมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่ตอบสนองต่อการรักษา
อาการปวดหัวเรื้อรัง...รักษาได้หรือไม่?
ในการรักษาอาการปวดหัวเรื้อรังนั้นสามารถแบ่งได้ตามความรุนแรง หากพบว่าปวดหัวเรื้อรังเบื้องต้น แพทย์ก็จะทำการซักประวัติโดยละเอียด ทำการตรวจร่างกายและตรวจทางระบบประสาท หากพบว่าอาการปวดดังกล่าวเป็นอาการที่ไม่ก่ออันตราย แพทย์ก็จะให้ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อหรือคลายเครียด และแนะนำวิธีการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น
ในกรณีที่มีความผิดปกติก็จะมีการตรวจเพิ่มเติม ทั้งการตรวจเลือด การตรวจเอกซเรย์ ซึ่งมีทั้งเอกซเรย์กะโหลกศีรษะแบบธรรมดาเพื่อดูโพรงไซนัส หรือพิจารณาส่งตรวจด้วยสนามแม่เหล็ก (MRI) ซึ่งจะให้ความละเอียดมากขึ้น
MRI การตรวจวินิจฉัยเพื่อหาความผิดปกติ
MRI เป็นนวัตกรรมการตรวจโดยการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่มีความปลอดภัยสูง และไม่มีอันตรายต่อร่างกาย ส่วนใหญ่มักใช้ตรวจวินิจฉัยเนื้องอกในสมอง โดยเฉพาะเนื้องอกในสมองและกะโหลกศีรษะบริเวณสมองน้อยและก้านสมอง และยังนำ MRI มาใช้ในการวินิจฉัยความผิดปกติอื่นของสมองได้อีก เช่น ภาวะสมองอักเสบจากสาเหตุต่างๆ โรคปลอกประสาทอักเสบ เพื่อทำการรักษาในขั้นตอนต่อไป
อาการแบบไหน...ควรได้รับการตรวจ MRI สมอง?
-มีอาการปวดหัว แขนขาอ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่ง หรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง
-มีอาการชักหรือหมดสติบ่อยๆ ความจำเสื่อม สับสน คลื่นไส้ อาเจียน
-มีอาการวิงเวียนศีรษะคล้ายบ้านหมุน เสียการทรงตัว เป็นๆ หายๆ
-มีอาการ ปากเบี้ยว หนังตาตก หรือลิ้นชาแข็ง
อย่าปล่อยให้ "อาการปวดหัวเรื้อรัง" มาบดบังความสุขเรา