ดื่มน้ำน้อยเกินไป ระวังนิ่วในไตถามหา
นิ่วในไตคืออะไร เกิดจากสาเหตุใดกันแน่?
นิ่ว คือของแข็งที่เกิดจากการตกตะกอนของแร่ธาตุต่างๆ ที่รวมตัวกันเป็นก้อน มีชนิดและขนาดที่แตกต่างกันไป สามารถเกิดขึ้นได้หลายก้อนและในหลายๆ ตำแหน่งของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นถุงน้ำดี ท่อน้ำดี กระเพาะปัสสาวะ หรือว่าไต ซึ่งชื่ออาการผิดปกติก็จะเปลี่ยนไปตามตำแหน่งที่เกิดนิ่ว ดังนั้น นิ่วในไต จึงหมายถึง ก้อนของแข็งที่เกินขึ้นในบริเวณไต โดยมีปัจจัยที่ทำให้เกิดนิ่ว ได้แก่
1.อาจเกิดจากรูปร่างของไตที่มีความผิดปกติแต่กำเนิด จึงทำให้มีส่วนที่เป็นถุง เป็นกระเปาะหรือมีการตีบตันของทางเดินปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะระบายไม่สะดวก จนเกิดการตกค้าง ซึ่งเป็นสาเหตุที่อาจจะแก้ไขไม่ได้ หรือต้องอาศัยการผ่าตัดแก้ไข
2.เป็นผลมาจากการตกตะกอน เป็นความไม่สมดุลกันของสิ่งที่ทำให้เกิดนิ่ว ซึ่งได้แก่ แคลเซียมกับออกซาเลต กับสิ่งที่ช่วยยับยั้งการเกิดนิ่ว ได้แก่ ซิเตรทกับแมกนีเซียม โดยมีปัจจัยที่เข้ามาทำให้เกิดความไม่สมดุลกันคือ ความเข้มข้นของน้ำและจำนวนปัสสาวะ ที่หากน้อยเกินไปก็จะทำให้ปัสสาวะข้นจนเกิดนิ่วได้ โดยเริ่มจับตัวกันเป็นก้อนเล็กๆ ก่อน ซึ่งหากตรวจไม่พบ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มีผลึกเกาะสะสมจนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ได้
พฤติกรรมแบบไหน เสี่ยงทำให้เกิดนิ่วในไต?มีการวิจัยศึกษาพิสูจน์แล้วว่า การดื่มน้ำน้อย เป็นพฤติกรรมหลักที่นำไปสู่สาเหตุของการเกิดนิ่วได้อย่างแน่นอนที่สุด นอกจากนั้นแล้ว การมีภาวะซิเตรทในร่างกายต่ำ ก็มีผลต่อโอกาสในการเกิดนิ่วได้สูงเช่นกัน เพราะซิเตรทคือตัวช่วยยับยั้งการเกิดนิ่ว ดังนั้น ในภาพรวมของการป้องกันตัวเองจากโรคนิ่วในไตนั้น การดูแลเรื่องอาหารการกิน จึงเป็นสิ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วได้ ทั้งนี้ผู้ที่มีค่า BMI สูง หรือมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานมากๆ มักพบว่ามีโอกาสเกิดนิ่วในไตได้มากกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวปกติ รวมถึงคนที่มีภาวะปัสสาวะเป็นกรด ที่เกิดจากโรคไต หรือการทานอาหารที่มียูริกสูง ก็เสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไตมากกว่าปกติเช่นกัน เพราะมีโอกาสเกิดการตกตะกอนได้ง่ายกว่า
อาการแบบไหน เป็นสัญญาณเตือนภัยเสี่ยงนิ่วในไตมาเยือน?
อาการของนิ่วในไต สามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1.เป็นอาการจากภาวะแทรกซ้อน ซึ่งได้แก่การติดเชื้อ เป็นกรวยไตอักเสบ ไตอักเสบ ไตเป็นหนอง ซึ่งจะทำให้มีไข้สูง ปวดบั้นเอวข้างใดข้างหนึ่งที่เป็นปัญหา เพราะไตจะอยู่บริเวณเอวข้างซ้ายและขวา
2.เป็นอาการที่เกิดจากนิ่วไปอุดตันทำให้ปัสสาวะไหลไม่ดี คนไข้จะมีอาการปวด มีปัสสาวะตกค้าง ปัสสาวะอุดตันออกไม่ได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ ไตทำงานผิดปกติ จนอาจถึงขั้นไตวายก็ได้
3.เป็นกลุ่มที่ไม่มีอาการแสดงใดๆ เลย แต่พบเจอได้จากการตรวจสุขภาพทั่วไป ซึ่งก็นับเป็นเรื่องดี เพราะยิ่งตรวจพบเจอเร็วก็ยิ่งรักษาได้ง่าย
จุดสังเกตสำหรับอาการปวดที่บ่งบอกว่าอาจเป็นโรคนิ่วในไต คือ จะปวดบริเวณเอว และหลัง จะไม่ใช่การปวดท้องด้านหน้า เพราะตำแหน่งของไตจะอยู่บริเวณเอวด้านหลังทั้ง 2 ข้าง แต่ทั้งนี้ ก็ต้องไม่ใช่การปวดกลางหลัง แต่เป็นการ "ปวดสีข้าง" ด้านใดด้านหนึ่ง เพราะหากเป็นการปวดกลางหลัง จะเป็นการปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลังจากการทำงานและการออกกำลังกายมากกว่านิ่วในไต มีวิธีการรักษาอย่างไรบ้าง?
แนวทางในการรักษาโรคนิ่วในไตนั้น ขึ้นอยู่กับขนาดและลักษณะของนิ่วเป็นสำคัญ เช่น เป็นนิ่วขนาดเล็กๆ เกิดจากกรดยูริก ก็จะสามารถรักษาได้ด้วย "การละลาย" โดยจะใช้ยาที่มีฤทธิ์ปรับความเป็นกรดด่าง นิ่วก็จะค่อยๆ ละลายกร่อนไปเอง หากตรวจแล้วพบว่านิ่วมีองค์ประกอบเกิดจากแคลเซียม ต้องใช้แนวทางในการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การเจาะรูเข้าไปกรอนิ่วแล้วดูดก้อนนิ่ว หรือ การใช้เครื่องสลายนิ่วซึ่งจะไม่มีแผล โดยใช้คลื่นกระแทกทำให้ก้อนนิ่วแตก จากก้อนใหญ่ให้เป็นทรายเล็กๆ และทำให้หลุดออกมาได้ง่าย
หากเป็นก้อนนิ่วที่ใหญ่มากๆ ก็จะต้องทำการผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะประเมินว่าวิธีการรักษาแบบไหนเหมาะสมที่สุด โดยต้องทำการเอกซเรย์ CT สแกนตรวจดู เพื่อวางแผนการรักษา ทั้งนี้ หลังทำการรักษาแล้ว อาจมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ประมาณ 15-30% โดยคำแนะนำหลังการรักษาที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในไตซ้ำได้ก็คือ การดื่มน้ำมากๆ และเฝ้าติดตามอาการ ตรวจซ้ำอย่างใกล้ชิดเพื่อหาว่ามีก้อนนิ่วเกิดขึ้นใหม่หรือไม่ ซึ่งหากมีก็จะทำการรักษาต่อไป
นิ่วในไตถือเป็นโรคที่อยู่ใกล้ตัวเรามากๆ เพราะอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่ดื่มน้ำน้อย และรับประทานอาหารไม่เหมาะสม ดังนั้น แนวทางในการป้องกันดูแลตัวเองที่ทำได้ง่ายที่สุดก็คือการดื่มน้ำมากๆ และเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม ทั้งนี้ แพทย์ไม่ได้ห้ามทานอาหารชนิดใดเป็นพิเศษ แต่ให้ทานในปริมาณที่ไม่มากไม่น้อยเกินไป และดื่มน้ำตามมากๆ นอกจากนั้นแล้ว ก็ควรหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพราะการตรวจปัสสาวะในโปรแกรมตรวจสุขภาพขั้นพื้นฐาน ก็เพียงพอที่จะบอกได้แล้วว่า มีความผิดปกติอะไรที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไตหรือไม่ ซึ่งก็จะทำให้เราสามารถตรวจพบเจอได้เร็ว และรักษาหายได้ง่ายขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด
เครดิตแหล่งข้อมูล : phyathai.com