รู้จักภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด โรคยอดฮิตที่คร่าชีวิตนาธาน
โดยในเรื่องนี้ พญ.สุพิชชา องกิตติกุล อายุรศาสตร์, อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ แพทย์คลินิกอายุรกรรม โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลพญาไท 3 ได้ให้ความรู้ถึงเรื่องภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ไว้ว่าช่วงหนึ่ง ผู้คนในสังคมพูดถึงโรคนี้ในวงกว้าง จนกลายมาเป็นคำแซวที่หมายถึงการเสียชีวิตกะทันหัน... แต่แท้จริงแล้วโรคนี้คืออะไร มาฟังคำตอบจาก พญ.สุพิชชา องกิตติกุล แพทย์คลินิกอายุรกรรม โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลพญาไท 3 กันดีกว่า
ติดเชื้อในกระแสเลือด คืออะไร
คุณหมอสุพิชชา อธิบายว่าการติดเชื้อในกระแสเลือด หมายถึง การที่ร่างกายเกิดการติดเชื้อขึ้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น ปอด ในช่องท้อง ผิวหนัง และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องหรือภูมิคุ้มกันไม่ดี เชื้อก็จะลุกลามเข้าสู่เส้นเลือด ไหลเวียนอยู่ในเลือดของเรา พบว่า 80% เป็นเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนั้นเป็นเชื้อไวรัสและเชื้อรา
โรคนี้น่ากลัว เพราะอันตรายถึงชีวิตเนื่องจากเลือดของเราไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะทั่วร่างกาย ทำให้เชื้อสามารถเกิดการอักเสบติดเชื้อที่อวัยวะส่วนต่างๆ ได้ หากไม่ได้รับการรักษาและมีความรุนแรงมาก คุณหมอสุพิชชา บอกว่า อาจส่งผลให้ช็อคและการทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
อาการแบบนี้ รีบพบแพทย์เมื่อร่างกายติดเชื้อและเชื้อลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด จะมีอาการดังนี้
- มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส หรืออุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 36 องศาเซลเซียส
- ชีพจรเต้นเร็ว หายใจเร็ว
- ถ้าเข้ารับการเจาะเลือด ค่าเม็ดเลือดขาวจะสูงกว่า 12,000 ตัวต่อมิลลิลิตร หรือน้อยกว่า 4,000 ตัวต่อมิลลิลิตร
ใครบ้าง เสี่ยง ติดเชื้อในกระแสเลือด
คุณหมอสุพิชชา บอกว่า คนที่เสี่ยงคือคนที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ดังนี้- ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
- ผู้ที่ได้รับเคมีบำบัด
- ผู้ติดเชื้อเอชไอวี
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ที่ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี เป็นโรคตับแข็ง
- เด็กเล็กมากๆ และผู้สูงวัย
ดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด เพราะโอกาสเสียชีวิตสูง
ในการวินิจฉัย แพทย์จะพิจารณาจากอาการ การซักประวัติ การเจาะเลือดตรวจอวัยวะที่คาดว่ามีการติดเชื้อ โดยการเพาะเชื้อ ส่วนการรักษานั้นแบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้
- กำจัดแหล่งติดเชื้อ เช่น หากมีฝี ต้องกำจัดฝีออก หรือมีน้ำในปอดต้องทำการรักษาระบายน้ำออกจากปอด
- การให้ยาฆ่าเชื้อ แพทย์จะเลือกยาที่มีความครอบคลุมเชื้อ
- รักษาแบบประคับประคอง ตรวจเลือดเพื่อดูว่ามีอวัยวะส่วนใดล้มเหลวหรือไม่
สำหรับใครที่สงสัยว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดมีความเสี่ยง รวมทั้งมีอาการอย่างที่อธิบายมา ควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลและอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะโรคนี้มีอัตราการเสียชีวิตได้