ไขข้อข้องใจโรคไทรอยด์ทำให้อ้วนจริงหรือ?


ไขข้อข้องใจโรคไทรอยด์ทำให้อ้วนจริงหรือ?

หลายคนที่ป่วยเป็นโรคไทรอยด์มักเจอกับปัญหาน้ำหนักขึ้น อ้วน หรือตัวบวม บ่อยครั้งที่เราก็ไม่แน่ใจว่าปัญหาที่เราเจอนั้น ใช่ผลกระทบจากอาการของโรคหรือไม่? วันนี้เรามีคำตอบให้หายสงสัยว่า... 

เมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติจะเกิดอะไรขึ้น?
เมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ จะส่งผลให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติไปด้วย ซึ่งโรคของต่อมไทรอยด์ สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มโรคด้วยกัน คือ กลุ่มอาการไทรอยด์ที่เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน ซึ่งแบ่งได้เป็น ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนมากเกินไป ทำให้เกิดโรคไทรอยด์เป็นพิษ และต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนน้อยเกินไปทำให้เกิดโรคไทรอยด์ต่ำ ส่วนอีกกลุ่มโรคคือ กลุ่มที่เกิดก้อนขึ้นในคอ มีอาการคอโต คอพอก หรือมีก้อนตรงบริเวณต่อมไทรอยด์นั่นเอง

ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ส่งผลต่อความอ้วนจริงหรือ?

คำถามนี้ก็ต้องตอบว่า มีทั้งจริงและไม่จริง กล่าวคือ...

-ถ้าเป็นโรคไทรอยด์ในประเภทที่เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนจะมีผลต่อความอ้วน

-หากต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย กลุ่มนี้บางทีก็จะเรียกว่าเป็นโรคไทรอยด์ชนิดอ้วน ซึ่งจะมีอาการบวม น้ำหนักเพิ่มขึ้นง่าย เรียกได้ว่าอ้วนขึ้นง่ายอย่างไม่ทราบสาเหตุ

-หากเป็นโรคไทรอยด์ชนิดเป็นพิษ คือกลุ่มที่ฮอร์โมนทำงานมากเกินไป กลุ่มนี้จะไม่อ้วนแต่กลับจะผอมลง โรคกลุ่มนี้จะทำให้หิวบ่อย แต่กินมากเท่าไหร่น้ำหนักก็มักจะไม่ขึ้น

ไทรอยด์ชนิดอ้วนและผอมมีอาการต่างกันอย่างไร?
ไทรอยด์ชนิดอ้วน เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ ทำให้มีการเผาผลาญพลังงานน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้มีอาการเหล่านี้

-รู้สึกเฉื่อยชา เบื่อ ขี้เกียจ ไม่อยากทำอะไร

-อ่อนเพลีย ง่วงนอนบ่อย ขี้หนาว

-เหนื่อยง่าย ทำอะไรไม่ค่อยไหว

-น้ำหนักขึ้น อ้วนแบบบวมฉุ

-ท้องผูก

-ผู้หญิงบางคนอาจมีประจำเดือนผิดปกติร่วมด้วย

ส่วนไทรอยด์ชนิดผอม เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์สูง จึงทำให้มีการเผาผลาญพลังงานมากกว่าปกติ และมักมีอาการเหล่านี้

-ใจสั่น มือสั่น ตื่นเต้นตกใจง่าย

-เหนื่อยง่าย

-ขี้โมโห หงุดหงิดง่าย เครียดง่าย

-ขี้ร้อน เหงื่อออกมากกว่าปกติ

-รู้สึกหิวบ่อย กินเก่ง แต่น้ำหนักไม่ขึ้น หรือน้ำหนักอาจลดลง

-บางคนอาจมีประจำเดือนน้อยลง

เราสามารถสังเกตความผิดปกติของร่างกายเบื้องต้น หากพบว่ามีอาการดังที่กล่าวมา ควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย ซักประวัติ และตรวจดูการทำงานของต่อมไทรอยด์โดยตรง จะได้รักษาให้ถูกโรคต่อไป

เครดิตแหล่งข้อมูล : phyathai


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์