เวียนหัว บ้านหมุน สัญญาณเตือนความผิดปกติเรื่องการทรงตัว
การทรงตัวของมนุษย์เกิดจากการทำงานประสานกันของอวัยวะ 3 ส่วน ที่มีความสำคัญมาก คือ สายตา ระบบประสาทรับความรู้สึก และประสาทหูชั้นใน โดยมีสมองเป็นศูนย์กลางการสั่งการและคอยควบคุมการทำงานต่างๆ ให้เกิดความสมดุล โดยทั้งหมดจะทำงานอย่างสัมพันธ์กัน แต่หากความสมดุลที่รักษาไว้ไม่คงที่อีกต่อไป..ก็จะทำให้เกิด "อาการเวียนศีรษะ" ขึ้น ซึ่งนอกจากจะทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงแล้ว ยังเพิ่มโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุกับผู้ป่วยได้
"เวียนศีรษะ" แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ตามลักษณะของอาการ
1.กลุ่มที่มีอาการมึนหัว คือ "รู้สึกเวียนหัวเพียงอย่างเดียว" ไม่มีอาการบ้านหมุน แต่จะรู้สึกมึนงง เบาๆ ลอยๆ และมีอาการหน้ามืดหรือวูบได้ง่าย สาเหตุจากแรงดันเลือดและปริมาณเลือดที่ส่งไปหล่อเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ พบในผู้สูงอายุหรือมีภาวะโรคประจำตัวที่มีผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต หรือโรคเบาหวาน ซึ่งอาการเหล่านี้จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หากไม่ได้รับการรักษา
2.กลุ่มที่มีอาการหลอนของการเคลื่อนไหว คือ "รู้สึกว่าทุกสิ่งรอบๆ ตัวหมุนโดยที่ตัวเราอยู่นิ่ง" ลักษณะคล้ายกับการเมาเหล้า ทำให้เสียการทรงตัว เดินไม่สะดวก และมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย สาเหตุมาจากความผิดปกติของหูชั้นในที่มีหน้าที่ควบคุมการทรงตัวและสมดุลต่างๆ ในร่างกาย เช่น โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด โรคแรงดันน้ำในหูชั้นในไม่เท่ากัน หรือมีการติดเชื้อลึกเข้าไปหูชั้นใน เป็นต้น โดยแพทย์จะเรียกอาการในกลุ่มนี้ว่า "อาการบ้านหมุน" (Vertigo)
บ้านหมุน....การเสียการทรงตัว มักเกิดจากสาเหตุเหล่านี้*การเสียการทรงตัวที่ระบบทรงตัวส่วนปลายในหูชั้นใน เช่น หูชั้นกลางอักเสบ หูน้ำหนวก การกระทบกระเทือนของอวัยวะทรงตัวในหูชั้นใน หรือการได้รับสารพิษหรือยาที่เป็นอันตราย
*การเสียการทรงตัวที่ระบบประสาทส่วนกลางและสมอง เช่น เนื้องอกประสาททรงตัวที่ลุกลามไปยังสมอง ศูนย์ทรงตัวในก้านสมองขาดเลือดไปเลี้ยง หรือการบาดเจ็บของก้านสมองที่เกิดจากการกระทบกระเทือนที่ศีรษะ
เช็คความสมดุลร่างกายให้รู้ชัด ด้วย "เครื่องวัดการทรงตัว CDP"CDP หรือ Computerized Dynamic Posturography คือเครื่องวัดการทรงตัวที่ทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ โดยการตรวจวัดระดับความสมดุลของการทรงตัวและการเคลื่อนไหว จะประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนหลักๆ ดังนี้
*การตรวจเพื่อดูการตอบสนองของระบบประสาทสัมผัสที่ควบคุมการทรงตัวในสถานการณ์ต่างๆ เช่น ทดสอบการทรงตัวขณะหลับตา ลืมตา หรือมีการขยับของพื้นผิวสัมผัสหรือสิ่งแวดล้อมภายนอก
*การตรวจประเมินความสามารถการตอบสนองการทรงตัวแบบอัตโนมัติเมื่อมีสิ่งรบกวนจากภายนอกมากระตุ้น
*การตรวจประเมินความสามารถการตอบสนองการทรงตัวแบบอัตโนมัติเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงพื้นผิวลาดเอียงโดยไม่คาดคิด
CDP เครื่องวัดการทรงตัวนี้...ดียังไง?*ช่วยในการประเมินระบบการทรงตัวของผู้ป่วยที่อาจมีปัญหาเรื่องระบบการทรงตัวอันเนื่องมาจากอาการเวียนศีรษะเป็นประจำ มีอาการบ้านหมุน หรือเดินเซ เป็นระยะเวลานาน
*ช่วยในการวิเคราะห์และค้นหาความเสี่ยงต่อการหกล้มในบุคคลกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการหกล้มได้
*ช่วยในการออกแบบวิธีฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีปัญหาการทรงตัวภายหลังจากเกิดอุบัติเหตุ ในผู้ป่วยที่มีเนื้องอก ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือด หรือในผู้ป่วยพาร์กินสัน เป็นต้น
เพราะอาการเวียนศีรษะ...เป็นอาการที่พบเห็นได้บ่อยโดยมีปัจจัยจากหลายๆ สาเหตุ พญ.ดลจิตต์ ทวีโชติภัทร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสต ศอ นาสิกวิทยา โรงพยาบาลพญาไท 2 จึงได้ให้คำแนะนำว่า...ทางที่ดี ควรมาพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ตรงจุดมากที่สุดเครดิตแหล่งข้อมูล : phyathai