แยกให้ออก! ขับถ่ายแบบไหนเรียก “ท้องเสีย” ก่อนนำไปสู่ภาวะช็อค


แยกให้ออก! ขับถ่ายแบบไหนเรียก “ท้องเสีย” ก่อนนำไปสู่ภาวะช็อค

อาการท้องเสีย...นับว่าเป็นหนึ่งในภาวะที่หลายๆ คนเคยพบเจอกันอยู่บ้าง อาการท้องเสียของบางคนก็ค่อยๆ ดีขึ้นและหายไปเอง แต่ในบางคนกลับเรื้อรังติดต่อกันหลายวัน ซึ่งความน่ากังวลสำหรับอาการท้องเสียก็คือ การปล่อยให้มีอาการท้องเสียเรื้อรังนานเกินไปจนร่างกายขาดน้ำ มีไข้สูง และเกิดภาวะช็อคจากการขาดน้ำและเกลือแร่มากเกินไป เพราะฉะนั้น เราควรเข้าใจถึงความผิดปกติของอาการ...ว่าแบบไหนแค่ถ่ายท้องปกติ แบบไหนที่เข้าข่ายท้องเสีย เพื่อนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้อง

ลักษณะการขับถ่ายแบบนี้...คือ "ท้องเสียผิดปกติ"

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะแยกอาการท้องเสีย กับอาการถ่ายท้องปกติได้ไม่ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามอาการท้องเสียนั้นมีจุดสังเกตหลายอย่างที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้

1.อุจจาระมีลักษณะเหลว หรือถ่ายออกเป็นน้ำ
2.ถ่ายท้องต่อเนื่อง มากกว่า 3 ครั้งต่อวัน
3.มีอาการปวดท้องเกร็งที่รุนแรงกว่าปรกติ
4.ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลีย และเหมือนมีไข้อ่อน ๆ

หากผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าคุณกำลังเผชิญกับอาการท้องเสียชนิดเฉียบพลัน ซึ่งโดยปกติแล้วจะสามารถหายได้เองภายใน 1 - 2 วัน แต่หากมีอาการท้องเสียต่อเนื่องนานเกินกว่า 3 - 14 วัน ควรพบแพทย์เพราะอาจมีสาเหตุของโรคอื่นที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียเรื้อรังเพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

อาการท้องเสีย เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง?
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย มักเกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ปรสิต หรือเชื้อไวรัส ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ซึ่งเชื้อเหล่านี้มักปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่ม หรือแม้กระทั่งมือของเราเองที่ผ่านการหยิบจับสิ่งของสกปรกมาก่อน

นอกจากนี้ อาการท้องเสียอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น เช่น ความเครียดวิตกกังวล การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์มากเกินไป การแพ้อาหารบางชนิดก็สามารถทำให้เกิดอาการท้องเสียได้เช่นกัน และในบางรายอาจมีอาการท้องเสียหลังการรักษา เช่น ได้รับยาปฏิชีวนะบางชนิดที่มีผลต่อระบบลำไส้ หรือได้รับการฉายรังสีที่ทำให้เยื่อบุลำไส้เสียหาย ทำให้ลำไส้ไม่สามารถดูดซึมน้ำและสารอาหารได้ตามปกติ

การป้องกันและแนวทางรักษาอาการท้องเสีย

อาการท้องเสียไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวเราสามารถป้องกันและดูแลตัวเองได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

1.รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ทุกครั้ง

2.ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร หรือหลังทำกิจกรรมต่าง ๆ ทุกครั้ง

3.เลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทหมัก ดอง ที่ไม่มั่นใจเรื่องคุณภาพและความสะอาด เพราะอาจมีเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดอาการท้องเสียได้

4.เมื่อเกิดอาการท้องเสียควรดื่มน้ำ หรือดื่มน้ำผสมผงน้ำตาลเกลือแร่ (ORS) เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย

5.รับประทานยาบรรเทาอาการท้องเสีย (Diosmectitie) ซึ่งช่วยยับยั้งเชื้อ แบคทีเรีย และบรรเทาอาการท้องเสียได้

6.รับประทานอาหารย่อยง่าย เช่น โจ๊ก น้ำซุป เลี่ยงอาหารที่มีรสจัด ของหมัก ดอง และอาหารที่มีไขมันสูง

       อย่างไรก็ตามหากเวลาผ่านไป 3 วันแล้วอาการท้องเสียไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลีย ริมฝีปากแห้ง เวียนศีรษะ มีเลือดปนในอุจจาระ หรือ มีเลือดปนในอาเจียน ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอให้อาการท้องเสียนั้นหายไปเอง เพราะอาจมีแนวโน้มของโรคแทรกซ้อนอื่นเช่น โรคสำไส้อักเสบ มีอาการตอบสนองต่อยาบางประเภทที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย หรือติดเชื้อไวรัสโรต้า เป็นต้น

เครดิตแหล่งข้อมูล : ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ
โรงพยาบาลพญาไท 2 ชั้น 4 อาคารA
โทร 02-617-2444 ต่อ 7401, 7406


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์