“ไอเรื้อรัง” ไม่ใช่แค่น่ารำคาญ หากปล่อยไว้อาจอันตรายกว่าที่คิด


“ไอเรื้อรัง” ไม่ใช่แค่น่ารำคาญ หากปล่อยไว้อาจอันตรายกว่าที่คิด

เคยเป็นไหม? ไอบ่อยๆ จนน่ารำคาญ กินยาแล้วก็ยังไม่หาย บางครั้งไอนานหลายสัปดาห์ หลายคนมีอาการแบบนี้ก็คิดว่าแค่เป็นการไอปกติทั่วไป แต่จริงๆ แล้ว อาการไอที่เป็นอยู่นานๆ อาจเป็นอาการของการ "ไอเรื้อรัง" ซึ่งเป็นสัญญาณของการเกิดโรคมากมาย ซึ่ง นพ.วินัย โบเวจา อายุรแพทย์ คลินิกอายุรกรรมโรคปอด โรงพยาบาลพญาไท 3 จะมาพูดถึงเรื่องนี้ให้ทราบกัน

อาการไอ เป็นการตอบสนองของร่างกาย เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมที่ทำให้เกิดการระคายเคืองในทางเดินหายใจ เช่น เชื้อโรค เสมหะ หรือฝุ่นควัน ร่างกายก็จะพยายามกำจัดทิ้งด้วยการไอออกมา ซึ่งส่วนมากการไอต่อเนื่องมักไม่เกิน 3-4 สัปดาห์ก็จะหาย หากบางกรณีที่ไม่ใช่เกิดจากสิ่งแปลกปลอมที่กำจัดได้ด้วยการไอ เช่น อาจมีบางอยากไปกดทับที่บริเวณของเนื้อปอดหรือหลอดลมทำให้เกิดอาการไอ เช่น ก้อนเนื้อหรือมะเร็งปอด ทำให้ร่างกายนั้นพยายามจะขับออกมา แต่ไม่สามารถขับได้ จึงเป็นสาเหตุของอาการไอเรื้อรังที่ไม่หายไป

ภาวะ "ไอเรื้อรัง" คืออะไร?

ไอเรื้อรัง คือ การไอที่มีระยะเวลาติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 8 สัปดาห์ ภาวะไอเรื้อรังมีสาเหตุหลากหลาย อาจเกิดจากภาวะติดเชื้อ หรือภาวะที่ไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อ เช่น ภูมิแพ้ หลอดลมอักเสบ หอบหืด บางกรณีภาวะไอเรื้อรังอาจเกิดจากโรคอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ เช่น กรดไหลย้อน ภาวะหัวใจวาย ดังนั้นการหาสาเหตุของไอเรื้อรังอาจไม่ได้คำตอบในการพบแพทย์ครั้งแรก การวางแผนการวินิจฉัยและติดตามการรักษาจึงต้องอาศัยความเข้าใจและความร่วมมือจากผู้ป่วยเป็นอย่างมาก

ไอแบบไหนควรพบแพทย์

1.ไอติดต่อกันมากกว่า 8 สัปดาห์
2.อาการไอรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
3.อาการไอที่มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีเลือดปน น้ำหนักลด เบื่ออาหาร
 หอบเหนื่อย อ่อนเพลีย เจ็บหน้าอก
4.ไอมีเลือดปนเสมหะ5.ไอแบบที่เคยสัมผัสกับผู้ป่วยวัณโรคหรืออยู่ใกล้ชิด
5.มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไต หัวใจ เมื่อมีอาการไอควรรีบมาพบแพทย์

ไอเรื้อรังอย่าปล่อยไว้!! เพราะอาจเป็นหนึ่งในอาการของโรคเหล่านี้

วัณโรคปอด แม้ในระยะแรกจะไม่มีอาการ แต่เมื่อโรคลุกลามมากขึ้นจะมีอาการไอเรื้อรัง มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด บางรายอาจไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย

มะเร็งปอด
เมื่อโรคเป็นมากขึ้น มีอาการไอเรื้อรัง บางรายอาจไอออกเป็นเลือดสด บางรายอาจมีอาการเจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือมีไข้ร่วมด้วย

ถุงลมโป่งพอง
มักพบในคนที่มีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน ผู้ป่วยมักมีอาการไอแบบมีเสมหะเรื้อรัง และหอบเหนื่อยง่าย มีหายใจเสียงดัง

โรคหืด มักมีอาการไอ
โดยเฉพาะเวลากลางคืน อากาศเย็น ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับขนาดหลอดลมฝอยว่าตีบมากหรือน้อย อาการมีได้ตั้งแต่หายใจไม่สะดวก ไอมาก หายใจดัง หอบเหนื่อย อาการมักจะกำเริบเมื่อติดเชื้อทางเดินหายใจร่วมด้วย

โรคภูมิแพ้อากาศ
มักมีอาการคันจมูก คันคอ ไอ จาม บางรายมีน้ำมูกใสๆ ร่วมด้วย มักมีอาการเมื่อสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสร ขนสัตว์ อากาศเย็น เป็นต้น

กรดไหลย้อน
มีอาการไอแห้งๆ โดยเฉพาะหลังอาหาร หรือเวลาล้มตัวลงนอน อาจจะมีอาการแสบร้อนในอกหรือเรอเปรี้ยวร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้

ไซนัสอักเสบ มั
กจะมีอาการเป็นหวัดหรือโรคภูมิแพ้อากาศนำมาก่อน บางรายอาการหวัดอาจดีขึ้นในช่วงแรก แล้วแย่ลงภายหลัง มักไอเวลากลางคืนเพราะน้ำมูกไหลลงคอ

ภาวะทางเดินหายใจไวต่อสิ่งกระตุ้น พบตามหลังโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ คือเมื่ออาการหวัดหายแล้ว แต่ยังมีอาการไออยู่ โดยไอมากกลางคืนหรือเวลาอากาศเย็นๆ ถูกลม เป็นต้น

"ไอเรื้อรัง" รักษาได้...
การรักษาไอเรื้อรังนอกจากจะรักษาตามสาเหตุของโรคแล้ว ยังต้องรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นควบคู่กัน ซึ่งนอกจากการซักประวัติ ตรวจร่างกายเบื้องต้นเพื่อวินิจฉัยโรคแล้ว บางรายอาจต้องส่งตรวจยืนยันตามความเหมาะสม อาทิ ตรวจดูโพรงจมูก ลำคอ เอกซเรย์โพรงไซนัส เพื่อดูกลุ่มอาการไซนัส ส่งตรวจเอกซเรย์ปอด เพื่อดูความผิดปกติของปอด ตรวจเสมหะ ตรวจสมรรถภาพปอด เพื่อดูโอกาสของหอบหืด เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอก กรณีที่ตรวจพบความผิดปรกติจาก X-ray ปอด อาจต้องทำการส่องกล้องทางเดินหายใจ (Fiber Oph bronchoscopy) เพื่อยืนยันการวินิจฉัย

ส่องกล้องหลอดลมตรวจหาความผิดปกติอย่างแม่นยำ

ปัจจุบันการส่องกล้องตรวจหลอดลมได้มีการพัฒนาทั้งวิธีการและเครื่องมือ เพื่อช่วยให้แพทย์ได้ข้อวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำและปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยมากขึ้น การส่องกล้องตรวจหลอดลมนั้นเป็นการตรวจที่มีความปลอดภัย พบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้น้อย

ข้อบ่งชี้ของการส่องกล้องหลอดลม

หมอขอแบ่งคนไข้เป็นสองกลุ่ม ในชีวิตจริงเพื่อให้เข้าใจง่าย

กลุ่มแรกคือกลุ่มที่ไม่มีอาการ แต่เอกซเรย์ปอดพบความผิดปรกติ เช่น เอกซเรย์ปอดพบ ความผิดปกติในรูปแบบ

จุด (nodule)

ก้อน (mass) ตอนเดียวหรือหลายก้อน

ฝ้า (ground grass opacity )

ปื้น ( consolidation)

ซึ่งต้องขอย้ำว่ากรณีที่ไม่มีอาการ แพทย์จะต้องอาศัยการซักประวัติ ประเมินความเสี่ยง ประวัติสูบบุหรี่ ประวัติครอบครัว ประวัติอาชีพ ประวัติการสัมผัสผู้ป่วยโรคปอด และตรวจร่างกาย เพื่อคาดคะเนความน่าจะเป็นของโรค และวางแผนการวินิจฉัย และติดตาม ผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องรับการส่องกล้องทุกราย แต่จะประเมินเป็นรายๆ ตามความเหมาะสมและข้อบ่งชี้

กลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่มีอาการหรือมีประวัติของโรคปอดและทางเดินหายใจอยู่เดิม แต่ไม่สามารถวินิจฉัยจากการตรวจเบื้องต้นได้ หรือรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น เช่น กลุ่มอาการดังต่อไปนี้
ไอเรื้อรัง เอกซเรย์ปอดพบภาวะหลอดลมตีบแคบ

ไอเรื้อรัง

ไอเป็นเลือด

ไอมีเสียงดัง( stridor or wheeze)

ปอดอักเสบ ปอดติดเชื้อ เป็นซ้ำๆ

ปอดติดเชื้อ เป็นมากขึ้นแบบที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อ

ปอดอักเสบในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือทานยากดภูมิเป็นประจำ

ประเมินระยะของโรคมะเร็งปอด

ประเมินการแพร่กระจายของมะเร็งมาที่ปอด

มีก้อนที่ปอดที่สงสัย มะเร็งปอด วัณโรคปอด หรือการอักเสบของปอด เป็นต้น

สงสัยภาวะก้อนในหลอดลม ภาวะหลอดลมตีบแคบ หรือภาวะกระดูกอ่อนหลอดลมบกพร่อง
ขั้นตอนการส่องกล้องและดูแลผู้ป่วยขณะส่องกล้อง

ขณะทำการส่องกล้องตรวจหลอดลม ผู้ป่วยจะได้รับการพ่นยาชาบริเวณจมูกและลำคอซึ่งจะทำให้รู้สึกชาและกลืนลำบาก และระหว่างการส่องกล้องผู้ป่วยจะได้รับการวัดความดันโลหิต ชีพจรและระดับออกซิเจนในเลือดตลอดเวลาเพื่อความปลอดภัย การส่องกล้องนั้นส่วนใหญ่จะทำในท่านอนราบ ใส่สายให้ออกซิเจนทางจมูก มีผ้าคลุมตัวและปิดตาเพื่อป้องกันการเปื้อน ในบางกรณีอาจจะมีการให้ยานอนหลับทางเส้นเลือดดำก่อนการส่องกล้อง

แพทย์จะใส่กล้องสำหรับการตรวจเข้าทางจมูกข้างหนึ่งหรือทางปาก ผ่านลำคอและกล่องเสียงเข้าไปยังหลอดลม ซึ่งในขณะส่องกล้องผู้ป่วยอาจรู้สึกอึดอัดบ้าง และจะมีการพ่นยาชาผ่านทางกล้องเข้าไปในหลอดลมเป็นระยะ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการไอหรือสำลักได้เล็กน้อย โดยผู้ป่วยสามารถหายใจได้ตามปกติ จากนั้นจะได้รับยานอนหลับทางหลอดเลือดดำเพื่อช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ระหว่างตรวจผู้ป่วยจะได้รับการให้ออกซิเจนตลอดเวลาเพื่อให้ร่างกายได้รับปริมาณออกซิเจนที่เพียงพอ

ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
คนไข้บางรายอาจมีเลือดออกหลังทำการตัดชิ้นเนื้อ ภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอด ภาวะออกซิเจนในเลือดตํ่า ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น ซึ่งภาวะแทรกซ้อนของการส่องกล้องหลอดลมมักไม่รุนแรงและหายไปได้เอง เช่น เจ็บคอ ไอปนเลือด ภายหลังการส่องกล้องผู้ป่วยจะได้รับการตรวจสังเกตอาการหากไม่มีความผิดปกติผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ โดยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล และจะนัดมาฟังผลการตรวจตามขั้นตอนต่อไป

เตรียมตัวอย่างไร? ก่อนเข้ารับ "การส่องกล้อง"
งดน้ำและอาหารทุกชนิดหลังเที่ยงคืนก่อนวันส่องกล้อง หรืออย่างน้อย 6 ชั่วโมง

ทําความสะอาดปากและฟันให้เรียบร้อย

แจ้งประวัติการทานยากับแพทย์ เนื่องจากยาบางตัวต้องหยุดทานก่อนเข้ารับการส่องกล้องวันส่องกล้องต้องพาญาติมาด้วย 1 ท่าน

ในอดีตการพิสูจน์สาเหตุของก้อนในปอด บ่อยครั้งจะต้องอาศัยการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนเนี้อออกมา ซี่งจะสามารถให้การวินิจฉัยและรักษาได้ในการผ่าตัดคร้ังเดียว อย่างไรก็ตามการผ่าตัดเป็นหัตถการใหญ่ที่ต้องดมยาสลบ ผู้ป่วยต้องพักฟื้นนาน ซึ่งเป็นการเสียเนื้อปอดที่อาจหายได้ไปโดยเปล่าประโยชน์ ดังนั้นการทราบถึงสาเหตุของก้อนในปอดได้โดยใช้การส่องกล้องตรวจทางเดินหายใจด้วยกล้อง ทําให้ผู้ป่วยมีการเจ็บปวดหรือลําบากน้อยที่สุด และฟื้นตัวเร็วที่สุด จึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ปัจจุบันการส่องกล้องตรวจหลอดลมชนิดนี้ได้มีการพัฒนาทั้งวิธีการและเครื่องมือ เพื่อช่วยให้หัตถการได้ข้อวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำ และปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยมากขึ้น

เครดิตแหล่งข้อมูล :phyathai.com


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์