ล่าสุดมีข้อมูลออกมาแล้วว่า การตรวจพบระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงนั้น #เป็นผลมาจากอาหารการกินเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ข้อมูลจากหลายแหล่งบอกไว้ชัดเจนว่า คอเลสเตอรอลส่วนใหญ่กว่า 75 % #สร้างมาจากภายในร่างกายของเราเอง โดยเฉพาะบริเวณตับ ซึ่งเป็นอวัยวะที่สร้างคอเลสเตอรอลมากที่สุด นอกจากนี้แล้วอวัยวะหรือเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย ก็สามารถสร้างคอเลสเตอรอลได้เช่นกัน
Approximately 25% of cholesterol in our bodies on a given day comes from what we eat (300-500 mg) and 75% is produced by our bodies (800-1200 mg). Because cholesterol is vitally important for our survival, every cell in our body can make cholesterol. Out of the cholesterol that our bodies make, 20% is made exclusively by our liver and the remaining 80% of cholesterol is made by the other cells throughout our body.
ข้อมูลจากรายงานของหน่วยด้านโภชนาการของอเมริกา (DGAC) ปี 2015 พบว่า ประมาณ 20 - 25 % ของคอเลสเตอรอลเท่านั้น ที่มาจากอาหารที่เรากินเข้าไป (Dietary cholesterol) ซึ่งได้แก่ อาหารประเภทเนื้อสัตว์ (เนื้อหมู ไก่ เนื้อวัว เป็นต้น) นม และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากนม เช่น เนย โยเกิร์ต เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพวก #ไขมันอิ่มตัว (Saturated fats) นอกจากนี้แล้วแหล่งสำคัญอีกอย่างก็คือ #ไขมันทรานส์ (Trans fats) ที่มาจากการใช้น้ำมันพืชที่เป็นไขมันทรานส์ (Hydrogenated Oil หรือ Partially Hydrogenated Oil) ในอาหารประเภทของทอด ขนมอบกรอบ อาหารฟาสต์ฟู้ดต่าง ๆ เป็นต้น
อะไรเป็นสาเหตุให้ร่างกายเราสร้างคอเลสเตอรอลออกมามากกว่าปกติ ? เป็นคำถามที่ตอบยากครับ เพราะตอนนี้ มีหลายสาเหตุ และหลากหลายทฤษฎีที่พูดถึงเรื่องนี้กันมากมาย แต่หลัก ๆ จะพูดถึงเรื่องของพันธุกรรมของแต่ละคน เช่น กลุ่มที่เป็น Familial hypercholesterolemia โดยเฉพาะไขมันชนิด Lipoprotein(a) หรือ เรียกสั้น ๆ ว่า Lp (a) ที่เป็นไขมันเลวชนิดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ล้วน ๆ และหากมีมากจะส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเส้นเลือดอุดตันได้
นอกจากนี้แล้วยังมีเรื่องของการดูดซึม (Absorption) ของคอเลสเตอรอลกลับเข้าสู่กระแสเลือดที่บริเวณลำไส้เล็ก (Proximal jejunum) ที่แตกต่างกันอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันนี้เรามีข้อมูลว่า คอเลสเตอรอลทั้งที่มาจากตับในรูปของน้ำดี (ประมาณ 70 %) และมาจากอาหารที่เรากิน (ประมาณ 30 %) เมื่อเคลื่อนที่มาถึงบริเวณลำไส้เล็กส่วนนี้ ต่างก็ถูกดูดกลับเข้าสู่กระแสเลือดผ่านตัวรับ ที่ชื่อว่า #NPC1L1 (Niemann - Pick C1 - Like 1) Receptor ซึ่งเป็นสายของกรดอะมิโนสั้น ๆ ที่อยู่บนผิวของผนังลำไส้เล็กทำหน้าที่คอยเก็บคอเลสเตอรอลคืนเข้าสู่กระเเสเลือด
โดยทั่วไปแล้วประมาณ 50 % ของคอเลสเตอรอลเท่านั้นที่จะถูกดูดกลับ แต่ #การดูดกลับที่มากหรือน้อยนี้จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน เพราะมีเรื่องของกรรมพันธุ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องมาจาก #ความแปรผันของยีนส์ (ภาษาทางการแพทย์เรียกไว้หรู ๆ ว่า SNPs polymorphrisms) ที่ผลิต NPC1L1 Receptor นั่นเอง ดังนั้น การที่เรามีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดที่สูงโดยที่ปกติก็ไม่ได้กินอาหารที่มีไขมันสูงมากมายนั้น อาจจะมาจากสาเหตุนี้ได้ครับ
นอกจากนี้แล้วเรายังพบว่า มีภาวะอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายของเรา ได้แก่
(1) การอักเสบเรื้อรัง (Chronic inflammation)
- ซึ่งโดยทั่วไปแล้วต้องอาศัยคอเลสเตอรอลเป็นตัวช่วยการอักเสบที่เกิดขึ้นโดยผ่านหลากหลายกลไกที่ซับซ้อน ทั้งนี้เนื่องจากคอเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์ หากบริเวณใดเกิดการบาดเจ็บ หรือ มีการอักเสบ ร่างกายก็จะอาศัยคอเลสเตอรอลในการเข้าไปช่วยลดภาวะดังกล่าวมากขึ้น การอักเสบเรื้อรังมีสาเหตุมาจากหลาย ๆ ปัจจัย เหมือนที่เล่ามาแล้วในตอนก่อนหน้านี้ครับ ดังนั้น ระดับคอเลสเตอรอลที่สูง ๆ อาจกำลังบอกว่า คน ๆ นั้น กำลังเผชิญหน้าอยู่กับ Chronic inflammation ก็เป็นได้ครับ คำตอบจึงไม่ใช่เพียงแค่ การกินยาลดคอเลสเตอรอล อย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นการมองหาสาเหตุที่แท้จริง และรักษาที่ต้นเหตุนั้น ๆ อย่างไรก็ตามควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์นะครับ
(2) ภาวะพร่องหรือขาดฮอร์โมนที่ต้องใช้คอเลสเตอรอลเป็นวัตถุดิบในการสร้าง
- เช่น ฮอร์โมนเพศ (เทสโทสเทอโรน เอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน เป็นต้น) ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต (Adrenal gland เช่น Cortisol, DHEA เป็นต้น) การพร่องหรือขาดฮอร์โมน มีสาเหตุมากมาย ทั้งจากโรคภัยไข้เจ็บ (Illness) Lifestyle ที่ไม่ดี ไม่เหมาะสม อายุที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงวัยทองทั้งในผู้หญิง ผู้ชาย นั่นเอง
สรุปว่า คอเลสเตอรอลในเลือดที่สูงนั้น ส่วนใหญ่แล้วมาจาก #กระบวนการสร้างขึ้นร่างกายเราเอง (Endogenous cholesterol synthesis) แต่ถ้าประวัติการกินอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงมากชัดเจน เช่น ชอบกินของมัน ของหวาน ชอบปิ้ง ย่าง สเต็ก ไก่ทอด เฟรนซ์ฟรายส์ อาหารทะเลบ่อย ๆ ก็คงต้องให้ความใส่ใจในการปรับเรื่องอาหารการกินก่อนนะครับ และถ้าคิดว่าอาหารเราก็คุมดีแล้ว ออกกำลังกายก็สม่ำเสมอแล้ว แต่คอเลสเตอรอลยังสูง ก็คงต้องมองหาสาเหตุอื่น ๆ เพิ่มเติมกันต่อไปครับ และที่สำคัญมากที่สุด หากมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง โดยเฉพาะเจ้า LDL cholesterol (> 190 mg/dL) ในคนที่สุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีโรคภัยต่าง ๆ อันนี้แนะนำพบคุณหมอนะครับ