อาการก่อนมีประจำเดือน รู้ไว้ก่อนเพื่อป้องกัน
อาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Syndrome) หรือที่เรียกว่า พีเอ็มเอส (PMS) คืออาการทางอารมณ์ ร่างกายและพฤติกรรม เช่น หงุดหงิด เครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ หรือเจ็บเต้านม พบว่าอาการต่าง ๆ ของอาการก่อนมีประจำเดือนนั้นเกิดกับสตรีวัยเจริญพันธ์ได้ถึง 85 เปอร์เซ็นต์ โดยระดับความรุนแรงของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ จะมีตั้งแต่ที่สามารถสังเกตได้เล็กน้อยไปจนถึงอาการที่รุนแรงมาก อาการต่าง ๆ มักจะเกิดขึ้นในช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือนและมักจะหายไปเมื่อประจำเดือนมา
อาการก่อนมีประจำเดือนเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
ส่วนใหญ่ผู้ที่มีอาการก่อนมีประจำเดือนจะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีปัจจัยสำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิง คือ ฮอร์โมนโปรเจสเตโรน (Progesterone) และเอสโตรเจน (Estrogen) ในช่วงก่อนมีประจำเดือน รวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง โดยมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงของเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่มีผลต่ออารมณ์และเป็นส่วนที่กระตุ้นอาการก่อนมีประจำเดือนได้ การขาดเซโรโทนิน อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในช่วงก่อนมีประจำเดือน ทำให้เกิดความอ่อนล้า มีความอยากอาหารมากขึ้นและทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับได้
นอกจากนั้น อาการก่อนมีประจำเดือนสามารถมีความรุนแรงขึ้นได้หากเกิดภาวะซึมเศร้า อย่างไรก็ตาม ภาวะซึมเศร้าไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดอาการนี้
อาการก่อนมีประจำเดือนเป็นอย่างไร ?
มักจะเกิดขึ้น 1-2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน โดยอาการและความรุนแรงของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป และอาจเกิดขึ้นไม่ซ้ำกันในแต่ละเดือน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดเพียงไม่กี่อาการดังต่อไปนี้
อาการทางด้านอารมณ์และพฤติกรรม ได้แก่
มีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดหรือโกรธง่าย
มีความตึงเครียด วิตกกังวล และไม่มีสมาธิ
มีอารมณ์เศร้า ร้องไห้บ่อย
มีความต้องการหรืออยากอาหารมากกว่าปกติ
มีพฤติกรรมแยกตัวออกจากสังคม (Social Withdrawal)
มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ (Insomnia)
อาการทางด้านร่างกาย ได้แก่
เจ็บเต้านม
ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ
ปวดศีรษะ
ปวดท้อง ท้องอืด
ท้องผูกหรือท้องเสีย
น้ำหนักตัวเพิ่ม
เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
มีสิวขึ้น
อาการเจ็บปวดทางร่างกายหรือความเครียดที่เกิดขึ้นกับบางราย อาจมีความรุนแรงจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่โดยปกติอาการต่าง ๆ จะหายไปภายใน 4 วัน ตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือน
เมื่อใดที่ควรพบแพทย์ ?
หากอาการก่อนมีประจำเดือนเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่สามารถควบคุมอาการได้และยังคงอยู่หรือพัฒนาไปจนเกิดกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Dysphoric Disorder: PMDD) ซึ่งมีความรุนแรงทางด้านอารมณ์มากกว่าอาการก่อนมีประจำเดือน โดยมีอาการผิดปกติทางกายและใจอย่างรุนแรง เช่น ซึมเศร้าอย่างมาก อารมณ์แปรปรวนง่าย โกรธง่าย ไม่มีสมาธิ อ่อนเพลีย วิตกกังวลและเครียด ซึ่งควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
สามารถวินิจฉัยอาการก่อนมีประจำเดือนได้อย่างไร ?
อาการก่อนมีประจำเดือนจะเกิดขึ้น 2 สัปดาห์ก่อนการมีประจำเดือนและส่งผลทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง ซึ่งแพทย์จะมีวิธีวินิจฉัยด้วยการแยกโรคหรือภาวะที่ทำให้เกิดอาการคล้ายกันกับอาการก่อนมีประจำเดือน เช่น โรคไทรอยด์ ภาวะซึมเศร้า ไมเกรน ลำไส้แปรปรวน หรือกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง โดยอาจวินิจฉัยด้วยวิธีต่อไปนี้
การตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ เพราะโรคต่อมไทรอยด์มักเกิดขึ้นบ่อยกับผู้หญิงวัยเจริญพันธ์ุ และบางอาการของฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำยังมีความคล้ายกันกับอาการของอาการก่อนมีประจำเดือน เช่น น้ำหนักตัวเพิ่ม เป็นต้น
การจดบันทึกอาการของอาการก่อนมีประจำเดือน แพทย์อาจให้ผู้ป่วยเขียนบันทึกอาการในช่วง 2-3 เดือนของรอบประจำเดือน เพื่อดูว่าอาการได้เกิดขึ้นเวลาใดและเกิดขึ้นนานเท่าไหร่ หรืออาการในแต่ละเดือนเกิดขึ้นแตกต่างกันอย่างไร
รักษาและบรรเทาอาการได้อย่างไร ?
วิธีบรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือนมีมากมาย แต่บางวิธีอาจจะไม่ได้ผลสำหรับบางคน ผู้ป่วยจึงต้องพยายามลองปฏิบัติให้หลากหลาย เพื่อให้ได้วิธีที่ได้ผลกับตนเองที่สุด
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ โดยแต่ละสัปดาห์ควรปฏิบัติให้ได้ดังนี้
ออกกำลังกายที่ใช้กำลังระดับปานกลางเป็นเวลา 2 ชั่วโมง 30 นาที
ออกกำลังกายแบบแอโรบิคที่ใช้กำลังมาก เป็นเวลา 1 ชั่วโมง 15 นาที
ออกกำลังกายผสมผสานกันระหว่างการออกกำลังกายที่ใช้กำลังระดับปานกลางและแบบแอโรบิคที่ใช้กำลังมาก
ออกกำลังกายที่ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ 2 วันต่อสัปดาห์ขึ้นไป
ฝึกบริหารร่างกายหรือออกกำลังกายแบบผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หรือออกกำลังกายที่ช่วยฝึกการหายใจอย่างถูกต้อง เช่น โยคะ จะช่วยลดอาการปวดศีรษะ ความวิตกกังวล หรือนอนไม่หลับได้เป็นอย่างดี
นอนหลับให้ได้ 8 ชั่วโมงต่อวัน
ทำกิจวัตรประจำวันให้เป็นเวลา เช่น รับประทานอาหาร ออกกำลังกาย และเข้านอน ให้ตรงเวลาเสมอ
พยายามรับมือกับความเครียดด้วยวิธีที่ดีต่อสุขภาพ เช่น พูดคุยกับเพื่อน เล่นโยคะ นวดผ่อนคลายหรือการบำบัดต่าง ๆ
หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะช่วงก่อนมีประจำเดือน เพราะอาจมีผลทำให้รู้สึกเศร้าหรือหดหู่มากยิ่งขึ้น
เลิกสูบบุหรี่
ดูแลโภชนาการหรือบริโภคอาหารเสริม
รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพเพื่อรักษาสมดุลของร่างกายและจิตใจให้ดีอยู่เสมอ
ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (Complex Carbohydrate) อยู่สูง เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืชต่าง ๆ
ลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เกลือ (โซเดียม) และน้ำตาล มากจนเกินไป
บริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิด ที่อาจช่วยลดอาการก่อนมีประจำเดือนบางอาการ เช่น วิตามินบี 6 วิตามินอี กรดโฟลิก แคลเซียม แมกนีเซียม แบล็คโคโฮส (Black Cohosh) หรือน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส (Evening Primrose Oil) อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทุกชนิด เนื่องจากบางชนิดอาจมีปฏิกิริยาต่อยาที่กำลังใช้รักษาโรคอยู่หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดไม่ได้รับการรับรองว่าช่วยรักษาได้จริง
การรักษาด้วยยา
ยาบรรเทาอาการปวด เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยาคีโตโปรเฟน (Ketoprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen) ยาแอสไพริน (Aspirin) หรืออาจใช้ยาที่ยับยั้งการตกไข่อย่างยาคุมกำเนิด เพื่อช่วยบรรเทาอาการทางร่างกายที่เกิดจากอาการก่อนมีประจำเดือนได้ เช่น ตะคริว ปวดหลัง และอาการเจ็บเต้านม อย่างไรก็ตาม ก่อนใช้ยาเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรเพื่อการใช้ยาอย่างปลอดภัย
ขอบคุณที่มา pobpad
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!