เคยสงสัยกันไหมว่าเจ้าก้อนแข็งๆคล้ายหินที่เรารู้จักกันว่า “นิ่ว” นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร?


เคยสงสัยกันไหมว่าเจ้าก้อนแข็งๆคล้ายหินที่เรารู้จักกันว่า “นิ่ว” นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร?

หากอธิบายง่ายๆนิ่วก็เกิดจากการคั่งค้างของของเสียในร่างกายของเรานั่นเอง อย่างในระบบปัสสาวะ เมื่อเราขับถ่ายปัสสาวะออกไม่หมด ก็จะมีน้ำปัสสาวะค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ จนเกิดการตกตะกอนแล้วค่อยๆ โตขึ้นเป็นก้อนนิ่ว ตามอวัยวะต่างๆ เช่น นิ่วในไต นิ่วในท่อไต นิ่วในท่อปัสสาวะ และนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ โดยผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากระบบทางเดินปัสสาวะของผู้ชายมีขนาดยาวและคดเคี้ยวกว่า ตะกอนนิ่วจึงมีโอกาสตกค้างได้มากกว่า

ทางเลือกการรักษานิ่ว ฉบับคนไม่อยากผ่าตัด

แน่นอนว่าเมื่อเกิดก้อนนิ่วในร่างกาย การรักษาอย่างตรงจุดที่นิยมใช้กันมาอย่างต่อเนื่อง ก็คือการผ่าตัดเอาก้อนนิ่วออก แต่ทุกการผ่าตัดย่อมมีความเสี่ยง และคนไข้หลายคนก็ขวัญผวาเมื่อรู้ว่าต้องผ่าตัด จึงนำไปสู่การคิดค้นเทคโนโลยีที่เป็นทางเลือกในการรักษานิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะแบบต้องผ่าตัด

การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy หรือ ESWL) เป็นการใช้คลื่นเสียงส่งผ่านผิวหนัง ให้ตรงไปยังก้อนนิ่ว ส่งผลให้เกิดแรงกระแทกที่ก้อนนิ่ว จนนิ่วเกิดรอยร้าว และแตกสลายเป็นชิ้นเล็กๆหรือกลายเป็นผง เพื่อให้เศษนิ่วสามารถหลุดไหลออกมากับปัสสาวะได้โดยไม่ต้องผ่าตัด ไม่มีบาดแผล ไม่ทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อ และมีความปลอดภัยสูง

นิ่วแบบไหนที่เหมาะกับการรักษาแบบ ESWL

1.นิ่วในไตที่มีขนาดไม่เกิน 2-2.5 ซม. (ยกเว้นตำแหน่ง ขั้วล่างของไต ขนาดไม่ควรเกิน 1.5 ซม)

2.นิ่วในท่อไตทุกตำแหน่งที่มีขนาดไม่เกิน 1 ซม.

ในนิ่วบางประเภทที่แตกยากเช่น cystine stone หรือ calcium oxalate monohydrate stone ที่แม้มีขนาดเล็กก็อาจจำเป็นต้องสลายซ้ำหรือมีโอกาสที่จะสลายไม่สำเร็จ ต้องใช้การรักษาวิธีอื่นร่วมด้วย

ขั้นตอนการสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก
1.ผู้ป่วยจะได้รับการเอ็กซเรย์ด้วยเครื่องเอ็กซเรย์แบบ Real-time พร้อมจอแสดงภาพเพื่อระบุตำแหน่งของนิ่วที่ชัดเจน

2.แพทย์จะทำการสลายนิ่วโดยเครื่อง Lithotripter หรือเครื่องสร้างและส่งคลื่นพลังงานเข้าไปบริเวณผิวหนังที่ตรงกับตำแหน่งของนิ่ว

3.การรักษาด้วยวิธีนี้จะต้องใช้เตียงผู้ป่วยที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ มีพื้นที่เว้าบริเวณช่วงเอวสำหรับให้เครื่อง Lithotripter ส่งคลื่นขึ้นมาจากทางด้านล่างของเตียง

4.ใช้เวลาในการสลายนิ่วไม่นาน (ประมาณ 1-1.5 ชั่วโมง)

ข้อจำกัดของการสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก
1.นิ่วมีขนาดใหญ่เกินไป

2.ผู้ป่วยมีภาวะอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ

3.ผู้ป่วยที่มีความดันเลือดที่ไม่คงที่หรือควบคุมไม่ได้

4.ผู้ป่วยมีภาวะเลือดออกผิดปกติ มีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด หรือได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด

5.ผู้ป่วยมีปัญหาการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ ในตำแหน่งที่ต่ำกว่านิ่ว

6.ผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำหนักเกิน

7.ผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์

8.ผู้ป่วยมีเส้นเลือดโป่งพองในช่องท้อง

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
1.ปัสสาวะเป็นสีแดง มีเลือดปน พบได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังการสลายนิ่ว แต่จะค่อยๆ จางหายไปได้เองหลังการปัสสาวะ 2-3 ครั้ง

2.มีไข้ หรือ มีการอักเสบติดเชื้อเพิ่มขึ้น เพราะแบคทีเรียที่ฝังตัวอยู่ที่ก้อนนิ่ว มีการกระจายตัวออก มักพบในรายที่มีการติดเชื้ออยู่ก่อนแล้ว ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ

3.มีอาการปวดท้องหรือปวดหลังมาก เนื่องจากมีเศษนิ่วตกมาอุดตันในท่อไต แต่โดยทั่วไปเศษนิ่วเหล่านี้จะหลุดมาได้เอง

4.อวัยวะข้างเคียง เช่น ผิวหนังที่สัมผัสกับเครื่องสลายนิ่ว ลำไส้ หลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำ อาจบอบช้ำเล็กน้อย

เนื่องจากการสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทกไม่ได้แก้ไขที่ต้นเหตุของการเกิดโรค จึงอาจทำให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นนิ่วซ้ำได้อีก การรักษาที่สาเหตุจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ผู้ป่วยจึงควรเข้ามาพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจและวินิจฉัยโรค และควรรับการตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี

 โดยเฉพาะบริเวณระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง ร่วมกับการตรวจปัสสาวะ การเอ็กซเรย์ภาพช่องท้องในส่วนของไตและกระเพาะปัสสาวะ เพื่อให้รู้ทันโรค และสามารถรักษาได้ทันท่วงที

เครดิตแหล่งข้อมูล : phyathai.com


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์