ใครบ้างที่ควรทำการตรวจหาโรคเบาหวาน?สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ได้แนะนำให้มีการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานในกลุ่มเสี่ยงดังนี้
1.ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป
2.ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปีแต่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ได้แก่
+ผู้ที่อ้วน (มีดัชนีมวลกาย ≥ 25 กิโลกรัม/เมตร2 และ/หรือ มีรอบเอว > 32 นิ้วในผู้หญิง หรือ >36 นิ้วในผู้ชาย)
+มีพ่อ แม่ พี่ หรือ น้อง เป็นโรคเบาหวาน
+ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง
+ผู้ที่มีไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง> 250 มก./ดล. และ/หรือ HDL คอเลสเตอรอลในเลือดตํ่ากว่า 35 มก./ดล.
+ผู้ที่มีประวัติเคยเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือคลอดลูกที่มีนํ้าหนักตัวแรกคลอดมากกว่า 4 กิโลกรัม
+ผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
+ผู้ที่มีโรคถุงนํ้าในรังไข่
นอกจากนี้ผู้ที่มีอาการสงสัยโรคเบาหวาน ได้แก่ อาการหิวน้ำบ่อย ปากคอแห้ง ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลด ก็ควรได้รับการตรวจด้วย
รักษาอย่างไร? เมื่อเป็นเบาหวานชนิดที่ 2การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และควบคุมน้ำหนักตัวยังเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดในการรักษาโรคเบาหวาน
สำหรับยาที่ใช้ในการรักษาเบาหวาน ในปัจจุบันมีการพัฒนายาใหม่ๆ หลายชนิด ซี่งสามารถลดความเสี่ยงต่อการทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และยาบางชนิดสามารถลดน้ำหนักตัวของผู้ป่วยลงได้ ยาที่ใช้ในการรักษาเบาหวาน แบ่งเป็นกลุ่ม ยากิน ยาฉีดอินซูลิน และยาฉีดที่ไม่ใช่อินซูลิน ได้แก่ GLP1 agonist โดยแพทย์จะพิจารณาเลือกใช้ตามความเหมาะสม และข้อบ่งชี้ของผู้ป่วยนั้นๆ ทั้งนี้ การรับประทานยา หรือฉีดยาอย่างสม่ำเสมอตามคำสั่งแพทย์ จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุด และได้ผลการรักษาเป็นไปตามเป้าหมาย
นวัตกรรม และเทคโนโลยี ในการดูแลรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2ในปัจจุบันนอกจากจะมีการพัฒนายากลุ่มใหม่ๆ เพื่อช่วยให้การรักษาโรคเบาหวานทำได้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ยังมีการพัฒนาวิธีในการช่วยให้ผู้ป่วยบริหารยาได้ง่ายขึ้น เช่น การใช้ยารวมเม็ดเพื่อลดจำนวนเม็ดยาที่ต้องรับประทาน การใช้ยาฉีดสองชนิดรวมกันในเข็มเดียวเพื่อลดจำนวนครั้งในการฉีดยา การพัฒนาเข็มและอุปกรณ์การฉีดยาให้เล็กลงเพื่อให้ผู้ป่วยเจ็บน้อยลง และบริหารยาได้สะดวกขึ้น เป็นต้น
รวมทั้งปัจจุบันยังมีเทคโนโลยีในการติดตามระดับน้ำตาลผู้ป่วยแบบ Real time ซึ่งเมื่อทำการติดเครื่องมือขนาดเล็กๆ กับตัวที่บริเวณท้อง หรือต้นแขนแล้ว เครื่องจะทำการตรวจวัดระดับน้ำตาลทุก 5 นาที และแสดงผลให้ผู้ป่วยทราบทางหน้าจอ ทำให้ช่วยในการปรับยาได้สะดวกและง่ายขึ้นมาก และยังมี Apps หรือเครื่องมือช่วยคำนวณคาร์โบไฮเดรตในอาหาร หรือ Track การออกกำลังกาย ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การรับประทาน และการออกกำลังกายได้
เครดิตแหล่งข้อมูล : phyathai