ใช้มือทำงานมากไป ระวังภัย…โพรงข้อมือกดรัดเส้นประสาท


ใช้มือทำงานมากไป ระวังภัย…โพรงข้อมือกดรัดเส้นประสาท

หากจะเอ่ยถึงปัญหาความเจ็บป่วย หรืออาการผิดปกติที่เกี่ยวกับมือนั้น หลายๆ คนมักจะคิดกันถึงแต่ นิ้วล็อค หรือ Trigger Finger ซึ่งเกิดจากการใช้มือมากเกินไป ทำให้เส้นเอ็นถูกล็อค จนงอ เหยียด ขยับนิ้วไม่ได้ แต่คุณรู้ไหมว่าในกลุ่มอาการผิดปกติเกี่ยวกับมือ ยังมีอีกหนึ่งโรคที่น่ากลัวไม่แพ้กันเลย นั่นก็คือ โพรงข้อมือกดรัดเส้นประสาท ซึ่งหากเป็นขึ้นมา จะไม่ได้ส่งผลกับเพียงแค่นิ้ว แต่จะทำให้มือของเราเจ็บปวด จนใช้งานไม่ถนัด และอาจถึงขั้นชา อ่อนแรงลง จนใช้การไม่ได้ในที่สุด ดังนั้นเพื่อให้เราทุกคนที่ใช้มือทำงานกันอยู่เป็นประจำ ปลอดภัยจากโรคนี้ได้มากขึ้น การทำความรู้จักกับ โรคโพรงข้อมือกดรัดเส้นประสาทจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

อะไรคือโพรงข้อมือกดรัดเส้นประสาท

โพรงข้อมือกดรัดเส้นประสาท หรือ Carpal Tunnel Syndrome หรือบางทีอาจเรียกว่า พังผืดข้อมือกดรัดเส้นประสาทก็ได้ เป็นโรคที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ "ใช้มือในการทำงานมากๆ" อาทิ พนักงานออฟฟิศที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์ ต้องพิมพ์งานตลอดเวลา พนักงานโรงงานที่ต้องมีการใช้มือบรรจุ บิด ประกอบ เป็นท่วงท่าซ้ำๆ นานๆ ต่อเนื่อง ตลอดจนอาชีพแม่บ้านที่ต้องทำงานบ้านด้วยมือหนักๆ เป็นประจำ เป็นต้น ซึ่งเมื่อใช้มือทำงานหนักก็จะทำให้เกิดภาวะโพรงที่ข้อมือหนาตัว เส้นเอ็นข้อมืออักเสบบวม จนไปทับโดนเส้นประสาทที่ผ่านอยู่ด้านในโพรงข้อมือ จนก่อให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาทขึ้น และตามมาด้วยอาการเจ็บปวดในที่สุด

อาการแบบไหน บอกว่าเสี่ยงภัยโพรงข้อมือกดรัดเส้นประสาท

อาการสังเกตของโรคโพรงข้อมือกดรัดเส้นประสาทนั้น จะเริ่มจากอาการปวดที่มือ จากนั้นมักพบว่าจะมีอาการชาบริเวณนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และครึ่งหนึ่งของนิ้วนาง โดยหากปล่อยทิ้งเอาไว้ ไม่พักใช้งานมือหรือไปไม่รักษา อาการก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น เส้นประสาทจะค่อยๆ ถูกรัดไปเรื่อยๆ จนเลือดไปเลี้ยงส่วนปลายไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถส่งแรงไปเลี้ยงกล้ามมือได้ มือจึงจะค่อยๆ อ่อนแรงลงทั้งบริเวณนิ้วและฝ่ามือ การหยิบจับ การกำมือ จะค่อยๆ ทำได้ลำบากขึ้น จนร้ายแรงที่สุดอาจถึงขั้นทำให้มือแบน ไม่มีเนินกล้ามเนื้อ เพราะกล้ามเนื้อที่มือฝ่อไป ไม่สามารถใช้มือทำงานหรือทำกิจกรรมได้ตามปกติ

โดยอาการของโรคโพรงข้อมือกดรัดเส้นประสาทอาจเป็นๆ หายๆ ได้ ซึ่งสาเหตุเกิดจากเมื่อเรารู้สึกปวดชาที่มือ ก็จะหยุดพักการใช้งาน จึงทำให้อาการหายไป แต่เมื่อกลับมาใช้งานมือหนักๆ ใหม่ ก็จะกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ดังนั้นหากพบว่ามีอาการปวดมือ ชา อ่อนแรง ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้อง

มีปัจจัยเสี่ยงอื่นหรือไม่ ที่ทำให้โพรงข้อมือกดรัดเส้นประสาท
โอกาสในการเกิดโรคนี้ นอกจากจะขึ้นอยู่กับการใช้งานมืออย่างหนักและต่อเนื่องแล้ว ยังเกี่ยวพันกับลักษณะมือของแต่ละบุคคลด้วย เพราะคนเราเกิดมามีการเจริญเติบโตของกระดูก กล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นเอ็น และพังผืดที่ต่างกัน ตำแหน่งทางกายวิภาคของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน โดยโพรงข้อมือนั้นมีลักษณะคล้ายกับหลังคาของถ้ำที่มีเส้นประสาทลอดผ่านอยู่ข้างใต้ ดังนั้นลักษณะมือที่กว้าง-แคบต่างกัน ก็มีโอกาสที่ทำให้เป็นโรคโพรงข้อมือพังกดรัดเส้นประสาทได้ยากง่ายต่างกันด้วย แม้แต่ละคนจะทำงานโดยใช้มือหนักเท่ากันก็ตาม นอกจากนั้นแล้วโรคนี้ยังมักจะพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบได้มากในกลุ่มอาชีพแม่บ้านอีกด้วย

รักษาอย่างไร เมื่อโพรงข้อมือกดรัดเส้นประสาท
แนวทางในการรักษาโรคโพรงข้อมือกดรัดเส้นประสาท จะพิจารณาตามอาการความรุนแรงของโรคเป็นหลัก โดยมีแนวทางปฏิบัติ 3 ระดับ ดังต่อไปนี้

1.หยุดพักการใช้งานมือ โดยไม่ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ใดอยู่ เมื่อพบว่ามีอาการปวด และวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโพรงข้อมือกดรัดเส้นประสาท ก็จะต้องหยุดพักกิจกรรมที่ใช้มือทุกอย่าง และทานยาแก้อักเสบ โดยแพทย์อาจพิจารณาให้ใส่เฝือกอ่อนเพื่อพักข้อมือร่วมด้วย ซึ่งหากยังไม่ได้เป็นมากก็จะหายได้ แต่เมื่อหายแล้วก็ต้องปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต คือต้องไม่กลับไปใช้มือหนักแบบเดิม เพราะไม่เช่นนั้นก็จะกลับมาเป็นซ้ำได้อีก

2.ใช้สเตียรอยด์ในการรักษา เพราะการฉีดสเตียรอยด์จะช่วยลดอาการอักเสบของเส้นเอ็นกล้ามเนื้อได้ทันที ทำให้เกิดการยุบบวม ซึ่งเมื่อบวมน้อยลง ก็จะไม่เกิดการบีบรัดเส้นประสาท อาการปวด ชา อ่อนแรงก็จะหายไป การรักษาด้วยวิธีนี้เห็นผลเร็ว แต่หากไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้มือ เห็นว่าหายแล้ว จึงไม่ได้ดูแลตัวเองอีก ก็จะกลับเป็นซ้ำ ที่ต้องตระหนักไว้ก็คือการฉีดสเตียรอยด์บ่อยครั้งจะทำให้มีผลข้างเคียงคืออาจทำให้เส้นเอ็นรอบข้างเปื่อยยุ่ย ขาดได้ และการฉีดเองก็มีความเสี่ยงที่จะก่ออันตรายกับเส้นประสาทได้โดยตรงจากปลายเข็มที่แทงเข้าไป นอกจากนี้ การฉีดสเตียรอยด์อาจทำให้การผ่าตัดในอนาคตมีความยากขึ้นในทางเทคนิคอีกด้วย

3.การผ่าตัดรักษา ซึ่งแพทย์จะพิจารณาทำได้เมื่อทานยาแล้วไม่ดีขึ้น พักการใช้งานมือแล้วยังไม่หายปวด ก็ต้องทำการผ่าตัดรักษา

 โดยการผ่าตัดจะทำได้ 2 วิธี คือ

วิธีที่ 1
การผ่าตัดแบบเปิดแผล จะมีแผลเปิดยาวที่บริเวณฝามือ ขนาด 3-5 เซนติเมตร

วิธีที่ 2 การผ่าตัดแบบส่องกล้อง การผ่าตัดคลายพังผืดข้อมือที่กดรัดเส้นประสาทโดยการผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็ก Endoscopic Carpal Tunnel Release (ECTR) เป็นการใช้เทคโนโลยีและเทคนิคการผ่าตัดแบบใหม่ ผ่าตัดโดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญในการผ่าตัด โดยจะมีแผลเล็กๆ ขนาด 1 เซนติเมตร แค่ตรงบริเวณรอยพับตรงข้อมือเท่านั้น การผ่าตัดแบบส่องกล้อง มีข้อดี คือ แผลเล็ก, บาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อน้อย, ความเจ็บปวดจากแผลผ่าตัดน้อยกว่า, ฟื้นตัวเร็วกว่า, ไม่มีรอยแผลเป็นที่สังเกตเห็นได้ง่าย และไม่ก่อให้เกิด Painful Scar ที่มักสร้างปัญหาในการใช้งานมือของคนไข้เสมอหลังผ่าตัด นอกจากนี้การผ่าตัดคลายพังผืดข้อมือที่กดรัดเส้นประสาทโดยการผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็กนั้น จะใช้เวลาในการผ่าตัดน้อยกว่า ใช้เพียงแค่การฉีดยาชาเฉพาะที่ ผ่าตัดเสร็จแล้วสามารถกลับบ้านได้เลย โดยหลังผ่าตัดจะมีการพันแผลปิดไว้และใส่เฝือกเพื่อช่วยลดปวด แต่ก็ถอดออกเพื่ออาบน้ำได้ ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จึงถอดเฝือกออกถาวร และใช้มือได้ แต่ยังไม่อนุญาตให้ใช้งานหนักๆ ต้องรอพักฟื้นก่อนประมาณ 1 เดือน

อย่างไรก็ตามแม้การผ่าตัดจะเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่สุด แต่ผู้ป่วยทุกคนก็ยังมีโอกาสกลับมาเป็นโรคโพรงข้อมือกดรัดเส้นประสาทได้อีก หากยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้มือใหม่ ยังคงทำงานหนักๆ อยู่เหมือนเดิม นอกจากนั้นแล้ว การผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็ก ก็ไม่ได้ทำได้กับทุกคน โดยในคนไข้บางกลุ่ม อาจทำไม่ได้และต้องใช้การผ่าตัดแบบเปิดเท่านั้น อาทิ คนไข้ที่เคยผ่าตัดแผลเล็กมาแล้วแต่กลับมาเป็นซ้ำ ต้องผ่าตัดอีกครั้ง และคนไข้ในกลุ่มโรคไตที่ต้องมีการล้างไตอยู่สม่ำเสมอ คนไข้กลุ่มนี้ไม่ได้เป็นโรคโพรงข้อมือกดรัดเส้นประสาทจากการใช้งานมือหนัก แต่เกิดจากภาวะโรคไตทำให้เป็น ดังนั้น จึงต้องทำการผ่าตัดรักษาแบบเปิด เพราะมีรายละเอียดของการรักษาที่มากกว่าปกติ เป็นต้น

    โรคโพรงข้อมือกดรัดเส้นประสาท ถือว่าเป็นอีกหนึ่งโรคใกล้ตัว ที่คนทำงานทุกคนมีโอกาสเป็นได้ เพราะเราต่างก็ใช้มือทำงาน ทำกิจกรรมตลอดเวลาทุกวัน ดังนั้น การหมั่นสังเกตอาการ ความผิดปกติ ของตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ ถ้ามีอาการปวด ชา อ่อนแรง กำ จับอะไรลำบาก ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน เพื่อเข้ารับคำแนะนำในการรักษาให้กลับมาหายดีเป็นปกติ และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้มือ ให้ถูกต้องเหมาะสม ให้ไม่หนักเกินไป เพราะเป็นทางเดียวที่จะทำให้เราไม่กลับมาเป็นโรคนี้ซ้ำอีก อย่างไรก็ตาม สำหรับบางอาชีพที่ต้องใช้งานมือซ้ำๆ หนักๆ อยู่เป็นประจำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การพิจารณาเปลี่ยนงานอาจเป็นทางออกหนึ่งที่จะช่วยทำให้เราไม่ต้องเสี่ยงกับการเจ็บปวดซ้ำๆ ไปตลอดชีวิต

เครดิตแหล่งข้อมูล : โรงพยาบาล พญาไท


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์