วางจอ...วางสายตา เยียวยาเทคโนโลยีซินโดรม


วางจอ...วางสายตา เยียวยาเทคโนโลยีซินโดรม

ทุกวันนี้ "คุณ" อยู่กับจอกี่จอ? จอคอมพิวเตอร์ทำงานส่งเจ้านาย จอแท็บเล็ตไว้คุยกับลูกค้า จอมือถือตามข่าวการเมืองแบบนาทีต่อนาที ยุคนี้เป็นยุคที่คุณอาจจะต้องเจอกับแสง Blue Light จากจอแสดงผลต่างๆ เท่าๆ กับการเจอกับ UV จากแสงแดดธรรมชาติ การใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดโรคทางพฤติกรรม หรือที่เรียกว่า "เทคโนโลยีซินโดรม" ซึ่งการแก้ไขที่ง่ายที่สุด คือ ปรับพฤติกรรม แบ่งเวลาการใช้งานอย่างพอเหมาะ...ก่อนเทคโนโลยีซินโดรมจะทำร้ายสุขภาพไปมากกว่านี้

เทคโนโลยีซินโดรม...ทำร้ายดวงตาอย่างไรบ้าง?

การต้องอยู่กับหน้าจอแสดงผลนานๆ ไม่ว่าจะเพื่อการทำงาน การใช้โซเชียลมีเดียในชีวิตประจำวันอย่าง Facebook Line Twitter Instagram หรือการใช้เพื่อความบันเทิงผ่านการรับชม YouTube การดูทีวีออนไลน์ หรือดูย้อนหลัง เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมการใช้จอแบบไหนที่ส่งผลทำร้ายดวงตาบ้าง เรามาดูกัน...

จ้องหน้าจอนาน...จนเผลอลืมกระพริบตา
เวลาที่ "ชาวหน้าจอ" เผลอจ้องจออย่างตั้งใจเป็นเวลานาน จะกระพริบตาน้อยลงโดยไม่รู้ตัว โดยปกติคนเราจะกระพริบตาด้วยความถี่ที่สม่ำเสมอและเพียงพอ ซึ่งจะทำให้ Tear film (แผ่นน้ำตา) ทำงานอย่างเต็มที่ คือทำให้สบายตา มองเห็นได้อย่างชัดเจน ดังนั้น หากเรากระพริบตาน้อยลงก็จะทำให้ดวงตาแห้ง ไม่ชุ่มชื่น และอยู่ในสภาวะที่ไม่เหมาะสม

คนไข้มักมาด้วยอาการ: ตาแห้ง แสบตา ไม่สบายตา น้ำตาไหล รู้สึกว่าตาพร่า มองไม่ชัด ทั้งๆ ที่สายตาเท่าเดิมไม่ได้มีอะไรเปลี่ยน

ใช้งานหนักเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อในลูกตาเกร็งและล้า

การจ้องจอนานจนกล้ามเนื้อในลูกตามีอาการล้า เกร็ง และทำงานผิดเพี้ยนไป จะก่อให้เกิดอาการสายตาสั้นชั่วคราว คือรู้สึกว่าอยู่ดีๆ ก็มองเห็นไม่ชัด รวมทั้งการใช้หน้าจอต่างๆ ในปริมาณแสงไม่เหมาะสม มืดไปหรือสว่างไป ก็จะทำให้ตาทำงานหนักขึ้นได้เหมือนกัน

คนไข้มักมาหาด้วยอาการ: ตาล้า สายตาสั้นชั่วคราว ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีอาการสายตาสั้นก่อนหน้า หรือรู้สึกว่าสายตาสั้นมากขึ้นทั้งๆ ที่ยังมีค่าสายตาสั้นเท่าเดิม

เจอกับ Blue Light บ่อยๆ มีผลกระทบต่อเซลล์ในตาจริงหรือ?
แสงสีฟ้าจากหน้าจอต่างๆ หรือ Blue light เป็นคลื่นแสงที่ 400 - 500 นาโนเมตรขึ้นไป ใกล้เคียงกับแสงแดดหรือแสง UV ที่เราสัมผัสอยู่ตลอด และมีการศึกษาว่าหากได้รับแสง UV มากๆ เมื่ออายุมากขึ้น อาจทำให้เกิดต้อกระจกและจุดรับภาพเสื่อมเร็วขึ้น สำหรับการรับแสงสีฟ้า หรือ Blue Light เป็นระยะเวลานาน จะมีผลกระทบต่อเซลล์ในตา แม้จะยังไม่มีกรณีศึกษาในคน มีพียงแค่การทดลองที่เกิดขึ้นในสัตว์เท่านั้น แต่แน่นอนว่าการใช้หน้าจอนานๆ ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพตาในระยะยาวอย่างแน่นอน อีกทั้งการใช้หน้าจอก่อนนอน จะเป็นการไปยับยั้งการสร้างเมลาโทนิน ทำให้เราหลับไม่สนิท และพักผ่อนไม่เพียงพออีกด้วย

เทคโนโลยีซินโดรม...ยังส่งผลกระทบต่อท่านั่งและจิตใจ
นั่งใช้งานท่าไหน ก็ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณนั้น

การนั่งจ้องจอนานๆ ไม่ว่าจะทำงานหน้าคอมหรือเล่นโทรศัพท์ มักทำให้เราเผลอลืมเปลี่ยนท่านั่ง จึงส่งผลให้มีอาการปวดเมื่อยบ่า ไหล่ คอ หลัง แขน ข้อมื้อ นิ้วมือ คล้ายกับกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมนั่งเอง

เสพติดการใช้โซเชียล กระวนกระวายใจ หมกมุ่น

อาการนี้จะเห็นได้ชัดมากจากสถิติการใช้โซเชียลมีเดียของคนไทยที่สูงติดอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งการใช้งานที่มากเกินไปเหล่านี้จะทำให้เกิดความต้องการที่มากขึ้นเรื่อยๆ ในผู้ใช้บางคนเหนี่ยวนำไปในทางจิตใจ ขาดไม่ได้ เกิดการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น และเกิดอาการซึมเศร้าในที่สุด

ปรับพฤติกรรม...ลดปัญหาเทคโนโลยีซินโดรม
วิธีการรักษาโรคเทคโนโลยีซินโดรมนั้น แพทย์จะรักษาไปตามอาการที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะกับดวงตา กล้ามเนื้อ หรือจิตใจ เช่นหยอดตา ทานยาคลายกล้ามเนื้อหรือยาคลายกังวลในผู้ป่วยซึมเศร้า แต่การรักษาเหล่านั้นล้วนเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ แท้จริงแล้ว การจัดสรรเวลา และการใช้งานหน้าจอให้เหมาะสม ให้ความสำคัญกับการนอนพักผ่อน นี่คือวิธีการป้องกันและรักษาโรคที่ดีที่สุด

ดูแลดวงตา กล้ามเนื้อ จิตใจ...ให้ห่างไกลเทคโนโลยีซินโดรม
จัดสรรเวลาการใช้หน้าจอให้ดี พักการใช้งานทุก 25 - 30 นาที เพื่อพักสายตา ทิ้งสายตา มองต้นไม้หรือสีเขียว เปลี่ยนระยะสายตาหรือระยะโฟกัส หรือหยอดน้ำตาเทียมให้ชุ่มชื้น

ปรับแสงหน้าจอกับแสงแวดล้อมให้ใกล้เคียงกันที่สุด ไม่ควรสว่างหรือมืดเกินไป

เลือกอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น ใช้โทรศัพท์มือถือ ในการส่งข้อความ อีเมล์ รูปภาพ ที่ใช้เวลาสั้นๆ ใช้จอคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ในการดูสื่อที่ต้องใช้เวลานาน เพื่อถนอมสายตา ไม่ต้องเพ่งกับหน้าจอที่เล็กเกินไป

จัดวางหน้าจอให้พอดีระดับสายตา ระดับเก้าอี้ที่เหมาะสม เพื่อลดความเมื่อยล้าและอาการเกร็งจากการใช้งาน

ทำกิจกรรมอื่นๆ แทนการอยู่หน้าจอ เช่น ออกกำลังกาย ทำอาหาร ทำงานบ้าน ออกไปเที่ยว เดินเล่น สังสรรค์กับเพื่อนๆ เป็นต้น

พูดคุย ปฏิสัมพันธ์ ใส่ใจกับคนรอบข้าง มากกว่าการสนใจหน้าจอ

นอนหลับอย่างน้อย 7 ชั่วโมง/วัน เพื่อลดเวลาในการใช้หน้าจอและให้สายตาได้พักผ่อนไปพร้อมๆ กับส่วนอื่นๆ ของร่างกาย

เทคโนโลยีซินโดรมส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกาย และจิตใจ โดยเฉพาะดวงตา ซึ่งเป็นอวัยวะที่ละเอียดอ่อน และควรได้รับการดูแลอย่างดีไม่แพ้กับส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เพียงแค่...วางมือถือ วางสายตา ก็สามารถยืดระยะเวลาการใช้งานดวงตาของคุณให้นานขึ้น และยังช่วยเยียวยาเทคโนโลยีซินโดรมได้ดีที่สุดอีกด้วย


เครดิตแหล่งข้อมูล :phyathai.com


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์