ใช่เลย! ท้องผูก อย่าคิดว่าไม่สำคัญ ต้องอ่าน

คนเราเนี่ยปกติจะถ่ายอุจจาระ 3 ครั้งต่อวัน (สำหรับยอดนักถ่าย) ถึง 3 ครั้งต่อสัปดาห์

ผู้ ที่ถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ประกอบกับถ่ายลำบาก ต้องใช้เวลาเบ่งนานกว่าปกติ อุจจาระแข็ง หรือมีอาการเจ็บทวารหนักเวลาถ่าย ถือว่ามีอาการท้องผูก หากท้องผูกนานติดต่อกันเกิน 3 เดือน จัดว่า ท้องผูกเรื้อรัง

คนเราถ้าไม่ถ่ายอุจจาระเป็นระยะเวลาหลายๆ วัน มันจะมีผลทำให้การถ่ายอุจจาระแต่ละครั้งยากลำบาก เนื่องจากอุจจาระจะจับตัวแน่นและแข็งคั่งค้างอยู่ภายในลำไส้ บูดเน่าหนักขึ้นกว่าเก่า และเคลื่อนผ่านรูทวารหนักด้วยความยากลำบาก ทำให้เกิดความเจ็บปวด

อุจจาระที่แข็งมากๆ นั้น เกิดจากในขณะที่กากอาหารมาถึงลำไส้ใหญ่แล้วตกค้างอยู่นาน ลำไส้ดูดซึมน้ำกลับเข้าสู่ระบบของร่างกายอีกครั้ง เนื้ออุจจาระจึงแห้งและแข็ง

ท้องผูกทรมานมากนะคะ บางคนอาจมีอาการท้องผูกรุนแรงมาก จะถ่าย 1 ครั้งต่อสัปดาห์หรือนานกว่านั้น ถ่ายแต่ละทีก็มีแต่อุจจาระแข็งๆ กว่าจะเบ่งให้เคลื่อนผ่านทวารหนักออกมาได้ราวกับกำลังเบ่ง ลูกสาว ลูกชาย แฝดสามแฝดสี่ ออกมาในคราวเดียวกัน ยังไงยังงั้น

ใครที่จ้องคลอดอึอย่างนี้บ่อยๆ อาจเกิดริดสีดวงทวารตามมาอีก เป็นแพ็กเกจแถมที่ไม่ควรรับไว้เลยนะคะ

เหตุที่ทำให้ท้องผูกนั้นมีหลายปัจจัยค่ะ…


เริ่มต้นจากการรับประทานอาหารที่มีกากน้อย ซึ่งได้แก่อาหารจำพวกแป้งและเนื้อสัตว์ ส่วนอาหารที่มีกากอาหารมาก ได้แก่ ผัก ข้าวกล้อง และผลไม้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการขับถ่าย

การดื่มน้ำน้อยก็เป็นสาเหตุของท้องผูกได้ นิสัยการขับถ่ายก็มีส่วนทำให้เกิดท้องผูกได้ (เช่นกัน) บางคนมีนิสัยถ่ายอุจจาระไม่สม่ำเสมอ ไม่ฝึกกอุปนิสัยการขับถ่าย ก็อาจทำให้ท้องผูกได้ ยาบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการท้องผูก ซึ่งถ้าหยุดยาชนิดนั้นๆ แล้วจะทำให้อาการท้องผูกดีขึ้น

คนสูงอายุมักจะมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการท้องผูกได้มากกว่าวัยอื่น อาจเป็นเพราะมีกิจกรรมน้อยลง และรับประทานอาหารที่มีกากน้อย เนื่องจากฟันไม่ดี หรือเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสารบางชนิดในสมอง ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดอาการท้องผูก

และเนื่องจากคนแก่ลืมง่าย อิอิ ดิฉันหมายถึงตัวเองนะคะ หาใช่คุณผู้อ่านไม่
ขอสรุปสาเหตุของท้องผูกไว้เป็นข้อๆ ดังนี้

1. การอั้นอุจจาระเป็นประจำ จะทำให้นิสัยการถ่ายเสียไป เพราะตามปกติเมื่อมีอุจจาระไปรอที่บริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลายจะมีกระแส ประสาทกระตุ้นเตือนให้เกิดการถ่าย ถ้าอั้นไว้บ่อย ๆ ระบบนี้ก็จะเสียไปทำให้อุจจาระสะสมในลำไสใหญ่นานเกินไป น้ำในอุจจาระจะถูกดูดกลับมากเกินไป ทำให้อุจจาระแห้ง-แข็ง

2. รับประทานอาหารที่มีเส้นใยน้อยเกินไป

3. การใช้ชีวิตแบบเฉยๆ เฉื่อยๆ นั่งๆ นอนๆ ขาดการออกกำลังกาย หรือผู้ป่วยที่ต้องนอนพักบนเตียงติดต่อกันนานๆ

4. ดื่มน้ำน้อยเกินไปในแต่ละวัน

5. ความเครียด ข้อนี้ค่อนข้างแปลก เนื่องจากว่าในบางครั้งความเครียดก็ทำให้ท้องเสียได้เช่นกัน

6. การใช้ยาระบายประเภทที่กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่เป็นประจำ จนกระทั่งเกิดการติดยา ไม่สามารถหยุดยาได้ มีแต่จะต้องเพิ่มประมาณยามากขึ้นเรื่อยๆ

7. โรคต่อมไร้ท่อและความผิดปกติของเกลือแร่ในเลือด เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ เบาหวานที่มีความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ แคลเซียมในเลือดสูงกว่าปกติ

8. การมีสิ่งกีดขวางในทางเดินอาหาร เช่น เนื้องอกในลำไส้ และลำไส้ตีบตัน

9. ผู้ป่วยที่นอนอยู่บนเตียง ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว ผู้ป่วยโรคระบบประสาท

10. ยาบางชนิดทำให้ลำไส้ทำงานน้อยลง เช่น ยาบำรุงเลือดที่มีธาตุเหล็ก ยาแก้ปวดกลุ่มมอร์ฟีน ยารักษาอาการทางจิตบางอย่าง ยาลดกรดที่มีเกลืออะลูมิเนียม

ท้องผูกแล้วต้องทำยังไง ?

1. ก็พิจารณาจากสาเหตุข้างต้นและแก้ไขสิคะ โดยมีแนวทางดังนี้ รับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารมากๆ ได้แก่ ผัก ผลไม้ ซึ่งนอกจากจะแก้ปัญหาท้องผูกแล้ว ยังมีผลดีต่อการลดโอกาสการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และช่วยควบคุมโรคเบาหวาน ไขมันในเส้นเลือดสูงด้วย กรณีที่ไม่สามารถรับประทานได้ ก็ควรเสริมด้วยผลิตกัณฑ์อาหารเสริมประเภทเส้นใยอาหาร

2. ออกกำลังกายเป็นประจำ

3. ดื่มน้ำให้เพียงพอ

4. ฝึกการถ่ายให้เป็นนิสัย ไม่อั้น ถ้ามีสัญญาณถ่ายควรรีบถ่ายอุจจาระทันที เมื่อถึงเวลาถ่ายอุจจาระ ไม่ควรอ่านหนังสือหรือทำอะไรอย่างอื่น

5. จัดท่านั่งถ่ายให้ถูกต้อง คือกรณีที่เป็นส้วมชักโครก ควรโค้งตัวไปด้านหน้าเล็กน้อยเพื่อให้มีแรงเบ่งมากขึ้น เปลี่ยนทัศนคติเรื่อง ‘การถ่าย อุจจาระทุกวัน’ เพราะท้องผูกขึ้นกับสภาพอุจจาระ ไม่ใช่ความถี่

6. พิจารณาใช้ยาระบายที่เหมาะสม โดยถือเป็นทางเสือกสุดท้าย ถ้าจำเป็นต้องใช้ ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน

แต่คุณผู้อ่านทราบไหมคะว่า ผู้ที่มีอาการท้องผูกส่วนมาก มักตรวจไม่พบสาเหตุ

ในกลุ่มที่ตรวจไม่พบสาเหตุนี้ ประมาณครึ่งหนึ่งเกิดจากภาวะลำไส้แปรปรวน และประมาณ 1 ใน 3 เกิดจากการเบ่งอุจจาระไม่ถูกวิธี ที่เหลือเกิดจากลำไส้เคลื่อนไหวช้ากว่าปกติ

ภาวะลำไส้แปรปรวนเกิดจากลำไส้ทำงานไม่ปกติ บางครั้งเคลื่อนไหวมากไปก็ทำให้ท้องเสีย บางครั้งเคลื่อนไหวน้อยไปก็ทำให้ท้องผูก อาการมักเป็นๆ หายๆ

ผู้ป่วยอาจมีการท้องผูกเป็นอาการเด่น และอาจมีอาการปวดท้อง หรืออึดอัดท้องร่วมด้วย ซึ่งจะดีขึ้นเมื่อถ่ายอุจจาระ

การกินอาหารที่มีกากมากขึ้น กินยาที่กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่ในทางเดินอาหาร หรือกินยาระบายจะช่วยบรรเทาอาการได้

ส่วนท้องผูกจากการเบ่งอุจจาระไม่ถูกวิธี 1 ใน 3 ของผู้ป่วยท้องผูกเรื้อรัง ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่ายให้คลายตัวได้ขณะถ่ายอุจจาระ ทำให้เกิดอาการท้องผูก ผู้ป่วยมักต้องใช้เวลาเบ่งอุจจาระนาน บางครั้งนานกว่า 30 นาที ในรายที่เป็นมากจะไม่ตอบสนองต่อยาระบาย ต้องใช้วิธี “สวนทวาร” ช่วย

แล้วท้องผูกจากการที่ลำไส้เคลื่อนไหวช้ากว่าปกติ มักจะมีอาการท้องผูกเรื้อรัง และต้องใช้ยาระบายเป็นประจำ ในรายที่มีอาการท้องผูกมาก และใช้ยาระบายไม่ได้ผล อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเอาลำไส้ใหญ่ทิ้งไป

คุณผู้อ่านก็อย่าเพิ่งวิตกกังวลไป ค่อยๆ สังเกตว่าเมื่อไรเราถึงท้องผูก อาการท้องผูกของเราไปสัมพันธ์กับปัจจัยไหนมากที่สุด แล้วค่อยๆ แก้ไขไป



ที่มา : rak-sukapap.com

ใช่เลย! ท้องผูก อย่าคิดว่าไม่สำคัญ ต้องอ่าน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์