เพราะการตรวจสุขภาพไม่ใช่เรื่องของคนสูงวัย !


เรามักจะได้ยินกันบ่อยว่า เมื่ออายุมากขึ้นโดยเฉพาะในวัยเลข 4 เลข 5 มาเยือน จำเป็นจะต้องไปตรวจสุขภาพประจำปี เพราะจะได้ตรวจหาความเสี่ยงของโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ทำให้รู้ก่อน จะได้รีบรักษาก่อนได้ทันท่วงที แต่บางครั้งการตรวจสุขภาพเมื่ออายุเราเลยวัย 40 - 50 ปีไปแล้วนั้นอาจจะเรียกว่าช้าเกินไปก็เป็นได้ เพราะบางคนกลับตรวจเจอว่าเป็นโรคต่าง ๆ แล้วมากมาย โดยเฉพาะโรคในกลุ่มโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคตับหรือแม้แต่โรคไต เป็นต้น จะดีกว่าไหมถ้าเรารีบตรวจสุขภาพกันก่อนในช่วงที่อายุยังไม่มากเพื่อที่จะป้องกัน รักษาโรคต่าง ๆ ได้ทันท่วงที

การตรวจสุขภาพในช่วงวัยผู้ใหญ่ วัยทำงาน หรือแม้แต่วัยเรียนไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไปแล้วนะครับ เพราะในปัจจุบันการตรวจสุขภาพมีความสำคัญในแง่ของ การตรวจเพื่อคัดกรองโรค ทำนายความเสี่ยงในการเกิดโรค และสำคัญที่สุดคือ การป้องกันโรคร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้

ดังนั้น คนในวัยเรียนหรือวัยทำงานจึงควรหาโอกาสมาตรวจสุขภาพสักครั้งเพื่อให้คุณหมอได้สอบถามประวัติสุขภาพทั่วไปของตัวเราเอง ตรวจร่างกาย และตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะควบคู่ไปด้วย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (Lab test) เบื้องต้นที่แนะนำให้ตรวจในช่วงวัยนี้ ได้แก่

[1] ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count: CBC)
เพื่อดูปริมาณเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกร็ดเลือด จะได้รู้ว่าเรามีปัญหาเลือดจางไหม (โรคโลหิตจาง) เม็ดเลือดขาว เกร็ดเลือด เราเป็นไงบ้าง บางครั้งการตรวจเม็ดเลือดก็สามารถบอกถึงพฤติกรรมทางสุขภาพของเราโดยตรง เช่น ภาวะเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก ขาดกรดโฟลิก หรือ ขาดวิตามินบี 12 เป็นต้น

[2] ระดับน้ำตาลในเลือด (Fasting blood glucose) และ น้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1C) ใช้คัดกรองโรคเบาหวานในปัจจุบัน รวมไปถึงกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานได้เช่นเดียวกัน ซึ่งหากเราทราบว่าเป็น #กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน (Impaired fasting glucose) จะได้รีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินการอยู่ให้ดีขึ้นนั่นเอง

[3] ระดับไขมันในเลือด (Lipid profile) คอเลสเตอรอล (Cholesterol) และ ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เป็นสิ่งที่เราควรให้ความสนใจและควรตรวจเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะเจ้าไขมันเลว หรือ LDL คอเลสเตอรอล ที่เป็นสาเหตุหลักของโรคหัวใจและหลอดเลือด การที่เราทราบระดับไขมันต่าง ๆ ในเลือดจะทำให้วางแผนการใช้ชีวิตเพื่อให้มีสุขภาพดีต่อไปได้ ทั้งด้านอาหารการกิน การออกกำลังกาย เป็นต้น

[4] ค่าการทำงานของไต (BUN และ Creatinine) และ ค่าการทำงานของตับ (Liver enzymes เช่น SGOT SGPT ALP GGT เป็นต้น)
การตรวจดูการทำงานของอวัยวะทั้ง 2 อย่างนี้ เป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ เพราะบางครั้งเราอาจมีค่าการทำงานที่ผิดปกติโดยที่ไม่มีอาการใด ๆ เลยก็เป็นได้ ดังนั้น หากได้มาตรวจก่อน ก็จะทราบก่อน ทำให้ป้องกันและรักษาได้อย่างรวดเร็วนั้นเอง

[5] ตรวจปัสสาวะ (Urinalysis หรือ UA)
เป็นการตรวจเพื่อดูประสิทธิภาพการทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะที่ดีและราคาถูกอีกอัน เพราะทำให้เรารู้ได้ว่าปัสสาวะที่ผ่านการกรองจากไตลงมาจนถูกขับออกมาทางท่อปัสสาวะนั้นเป็นอย่างไรบ้าง มีน้ำตาล โปรตีน เม็ดเลือด หรือแบคทีเรียปนเปื้อนออกมาด้วยหรือไม่ ? ซึ่งเราจะทราบได้หมดจากการตรวจปัสสาวะ

[6] การตรวจเอ็กซ์เรย์ทรวงอก (Chest x-rays) และ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เป็นการตรวจดูว่าเรามีปัญหาเกี่ยวกับปอดและการทำงานของหัวใจหรือไม่ ? ในแต่ละปีที่ผ่านไป เนื่องจากบางครังเราอาจจะไม่มีอาการผิดปกติอะไรแสดงออกมาให้เห็นได้ ดังนั้น การตรวจทั้ง 2 อย่างนี้จึงถือว่ามีประโยชน์มากครับ

[7] การตรวจอื่นๆ ได้แก่ อัลตร้าซาวด์ช่องท้อง มวลกระดูก ระดับวิตามินดีในเลือด ฮอร์โมนในร่างกาย เช่น ไทรอยด์ ฮอร์โมนเพศหญิง เพศชาย หรือแม้เเต่การตรวจด้วยเครื่องมือหรือเทคนิกพิเศษอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละคนตามอายุ เพศ และสุขภาพนะครับ

ดังนั้น "การตรวจสุขภาพ" จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราเลย เป็นสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญมาเป็นลำดับแรก เพื่อการมีสุขภาพที่ดีทั้งในปัจจุบันและอนาคต สุขภาพดีจึงเป็นสิ่งที่เราสร้างได้ เริ่มด้วยการที่เราหันกลับมาดูแลตัวเอง ใส่ใจสุขภาพของตัวเราเองให้มากขึ้น ด้วยการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีนะครับ



เพราะการตรวจสุขภาพไม่ใช่เรื่องของคนสูงวัย !

ขอบคุณที่มาจาก :@morlorkorlao


เครดิต :
แหล่งที่มา: ขอขอบคุณ RS

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์