รู้ยัง “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” เสี่ยงโรค


"พฤติกรรมเนือยนิ่ง" หรือ Sedentary Behavior โดยมีรากศัพท์มาจากคำภาษาละติน Sedere ซึ่งแปลว่า นั่ง "พฤติกรรมเนือยนิ่ง" จึงหมายถึง การนั่งหรือนอนในกิจกรรมต่างๆ โดยใช้พลังงาน 1.5 MET (หน่วยที่ใช้ในการประมาณค่าของจำนวนออกซิเจนที่ถูกร่างกายใช้) ไม่รวมการนอนหลับ ด้วยความก้าวล้ำของเทคโนโลยี วิถีชีวิตของคนในปัจจุบันจึงถูกปรับเปลี่ยนโดยไม่ต้องใช้พลังงานมากเหมือนสมัยก่อน

ความสมดุลของกิจกรรมที่ทำในแต่ละวันเป็นสิ่งที่สำคัญต่อภาวะสุขภาพ ตั้งแต่การนอนหลับไปจนถึงกิจกรรมที่ทำขณะตื่น มีผลการวิจัยระบุว่า "พฤติกรรมเนือยนิ่ง" เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ อาทิ ในผู้ที่อายุ 18 ขึ้นไป "พฤติกรรมเนือยนิ่ง" มีความสัมพันธ์กับอัตราการตายจาก โรคหัวใจหลอดเลือด โรคเบาหวาน และภาวะของเมตะบอลิคซินโดรม หรืออาจเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า "โรคอ้วนลงพุง" มีสาเหตุเริ่มต้นจากการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม กินอาหารมากเกินไป โดยเฉพาะอาหารที่มีน้ำตาล และไขมันสูง ส่วนเด็กที่อายุไม่เกิน 8 ปี ทำให้เสี่ยงต่อโรคอ้วน ปัญหาความดัน ระดับคอเลสตอรอล ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ พฤติกรรมการเข้าสังคม และผลการเรียน เป็นต้น
องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่า ถ้าต้องการมีสุขภาพที่ดี ป้องกันโรคไม่ติดต่อทั้งหลายได้ควรมี "กิจกรรมทางกาย" เป็นเวลาอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือการใช้กำลังกายอย่างหนักเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 75 นาทีต่อสัปดาห์ ซึ่งการใช้กำลังกายนี้สามารถนับรวมจากการทำงาน การเดินทาง และการใช้กำลังกายในเวลาพักผ่อนเข้าด้วยกัน
"เพิ่มกิจกรรมทางกายลดเนือยนิ่ง" เวลาน้อยไม่ใช่เป็นอุปสรรค
เมื่อพูดการมีกิจกรรมทางกาย หลายคนโดยเฉพาะวัยทำงานมักจะอ้างว่า "ไม่มีเวลา" แต่แท้จริงนั้น "กิจกรรมทางกาย" สามารถทำไปพร้อมกับการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือภายในสถานที่ทำงานได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอวันและเวลาว่าง
เราสามารถใช้กิจกรรมในชีวิตประจำวัน อย่างการถูพื้น ทำสวน ยกของ ย้ายของ หรือแม้กระทั่งเดินช้อปปิ้ง มาทำให้สุขภาพแข็งแรงขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนชุดกีฬา เพียงแค่เรามีการขยับให้บ่อย ให้หนัก และให้มากเพียงพอ แค่นี้เราก็สามารถป้องกันโรคร้ายทั้งหลายและมีสุขภาพดีได้ง่ายๆ

ทั้งนี้ พฤติกรรมเนือยนิ่ง และการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน แต่ยังส่งผลรวมไปถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ หลายประเทศจึงให้ความสำคัญกับการลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง ซึ่งในประเทศไทยก็มีการขับเคลื่อนเพื่อให้ประชาชนไทยได้มีระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอมากขึ้น ผ่านการสร้างการรับรู้ถึงภัยคุกคามต่อสุขภาพ โดยเฉพาะข้อมูลที่เป็นความรู้เชิงวิชาการที่ได้จากการศึกษาวิจัยเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สำคัญที่สังคมไทยควรรับรู้

ศูนย์วิจัยกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดให้มีการประชุมวิชาการกิจกรรมทางกายระดับประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก (1st National Conference on Physical Activity) เมื่อวันที่ 17-18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นเวทีนำเสนอผลงานวิจัยด้านกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพของชุมชนวิชาการในประเทศไทย พร้อมทั้งเปิดเวทีให้ภาคีเครือข่ายนักปฏิบัติการด้านกิจกรรมทางกายได้มีโอกาสนำเสนอแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานในด้านนี้ ปารากฏว่ามีผู้ร่วมประชุมครั้งนี้ถึง 500 คน
และในวันที่ 16-19 พฤศจิกายน พ.ศ.2559 ที่กำลังใกล้เข้ามาถึงนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 The 6th International Congress on Physical Activity and Health 2016 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การจัดการและแนวทางแก้ปัญหาด้านสุขภาพ เป็นการประชุมที่ใหญ่ และสำคัญในการสร้างโอกาสให้ประเทศไทยเข้าสู่เวทีระดับโลกด้านนโยบายและด้านวิชาการด้านกิจกรรมทางกาย

จะดีแค่ไหน...หากมีนโยบายของโลกเกี่ยวกับกิจกรรมทางกาย เพราะกิจกรรมทางกายไม่ได้ให้ประโยชน์เพียงแค่มิติทางสุขภาพ แต่ยังหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน


รู้ยัง “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” เสี่ยงโรค

cr.thaihealth


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์