รุนแรงกว่าที่คิด ความเหงา ทำให้ป่วยได้

นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า ความเหงาเป็นมากกว่าความรู้สึก โดยค้นพบว่า ความโดดเดียวจากสังคมนั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสุขภาพไม่ดี จนทำให้โอกาสที่จะเสียชีวิตมีมากขึ้นถึง 14 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

นักวิจัยทราบกันมานานแล้วว่าความเหงาเป็นสิ่งที่อันตราย แต่ยังไม่มีใครทราบกลไกที่เกิดขึ้นบนเซลล์แน่ชัดเท่าไหร่ว่าความเหงานั้นทำให้เกิดผลไม่ดีต่อสุขภาพได้อย่างไร จนล่าสุด ทีมนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านความเหงา นำโดย ดร.จอห์น คาซิปโป แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ได้ศึกษาว่า ความเหงานั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาจนนำไปสู่การเจ็บป่วยได้อย่างไร จนงานวิจัยได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการ Proceedings of the National Academy of Sciences แล้ว

ดร.คาซิปโป ร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส และศูนย์ศึกษาไพรเมทแห่งชาติ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส ได้ทำการศึกษาจนพบว่า ความเหงานั้นจะไปทำให้เกิดสัญญาณความเครียด ซึ่งสุดท้ายจะมีผลกระทบต่อการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวนั่นเอง โดยครั้งนี้ได้มีการศึกษาทั้งกับคนและลิง

งานวิจัยก่อนหน้านี้ทำให้ทราบว่า ความเหงาทำให้เกิดการตอบสนองที่เรียกว่า "conserved transcriptional response to adversity" หรือ CTRA โดยการตอบสนองดังกล่าวจะเกิดขึ้นจากการที่การแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อมีมากขึ้น และการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการการรับมือแอนตีไวรัสจะมีน้อยลง ซึ่งหมายความว่า คนที่เหงานั้น ระบบภูมิคุ้มกันจะทำให้ได้มีประสิทธิภาพน้อยลง และมีการติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนที่ไม่เหงา

ในการศึกษาปัจจุบัน ทีมวิจัยได้ศึกษาการแสดงออกของยีนในเซลล์เม็ดเลือดขาว ลิวโคไซต์ อันเป็นเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันร่างกายไม่ได้ได้รับอันตรายจากแบคทีเรียและไวรัส

ผลที่ออกมาก็เป็นดั่งที่คาดคือ เซลล์ลิวโคไซต์จากคนและลิงที่เหงานั้นจะมีระบบ CTRA ที่มีประสิทธิภาพ นั่นคือ การแสดงออกยีนที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อมีมากขึ้นและการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการต้านเชื้อมีน้อยลง

นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้ค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเหงาในระดับเซลล์ จนกระทั่งได้พบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเกี่ยวข้องกับความเหงา ไม่ได้มาจากการซึมเศร้า ความเครียด หรือการได้รับการสนับสนุนจากสังคมแต่อย่างใด จากนั้นจึงได้ศึกษาต่อถึงกระบวนการในเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ทางสังคม จนกระทั่งได้พบว่า สารสื่อประสาทที่ชื่อ norepinephrine ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ "สู้หรือหนี" นั้นมีมากขึ้น ซึ่งงานวิจัยก่อนหน้านี้เคยชี้ว่า norepinephrine ที่เพิ่มขึ้นนี้จะไปกระตุ้นให้ไขสันหลังสร้างเซลล์ภูมิคุ้มกันแบบหนึ่งมากขึ้น ซึ่งเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ไม่สมบูรณ์ มีการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อที่สูง และผลที่ออกมาคือ ทั้งคนและลิงที่เหงานั้นต่างก็มีเซลล์ชนิดนี้อยู่มากในเลือด

นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองให้ลิงไปอยู่ในสถานการณ์ทางสังคมที่เครียด เช่น ให้ลิงอยู่ในกรงเดียวกับลิงแปลกหน้าที่ไม่คุ้นหน้าตากัน ผลคือ เซลล์ภูมิคุ้มกันที่บกพร่องนี้ก็เพิ่มมากขึ้น และท้ายที่สุด นักวิทยาศาสตร์ได้ก็ข้อสรุปว่า การที่ระบบ CTRA เปลี่ยนไปเนื่องจากความเครียดนี้มีผลต่อสุขภาพ โดยลิงเหงาจะมีอาการติดเชื้อไวรัสได้ง่ายขึ้น และเชื้อก็จะเติบโตในเลือดและสมองได้เร็วขึ้น

โดยสรุปแล้ว การค้นพบนี้ชี้ว่า ความเหงานั้นทำให้เกิดสัญญาณว่าจะ"สู้หรือหนี" ทำให้เกิดเซลล์ภูมิคุ้มกันที่บกพร่องมากขึ้น และท้ายที่สุดก็จะไปทำให้ยีนที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อและการตอบสนองต่อแอนตีไวรัสนั้นเปลี่ยนไป สัญญาณอันตรายที่เกิดจากความเหงานี้จะทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดนี้มีมากขึ้น ผลก็คือมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคทางสุขภาพมากขึ้นนั่นเอง และนักวิจัยก็พยายามหาคำตอบต่อไปว่าจะป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร




ที่มา : vcharkarn.com

รุนแรงกว่าที่คิด ความเหงา ทำให้ป่วยได้

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์