ทฤษฏีของความชรา

ทฤษฎีของความชรา (Aging Theory)

ความแก่ชรา หรือ Aging process เป็นสัจธรรมของชีวิตมนุษย์เราทุกคน ไม่มีใครที่จะหนีพ้นความแก่ชราไปได้ อย่างไรก็ตาม มนุษย์เราก็ยังคงเฝ้าค้นหาคำตอบของธรรมชาติข้อนี้มานานหลายศตวรรษแล้ว จึงได้มีความพยายามในการตั้งสมมติฐานของความแก่ชรา หรือ Aging Theories ขึ้นมา แต่ทฤษฎีที่ได้รับความนิยม มีความน่าเชื่อถือ และพูดถึงกันมากในปัจจุบัน มีอยู่ 5 แนวคิดทฤษฎีหลัก ๆ ดังนี้ครับ

(1) Wear and Tear theory คือ ทฤษฎีที่บอกว่า ร่างกายเมื่อใช้มาก ก็เสื่อมมาก และทำให้แก่ลงเป็นธรรมดา ข้อนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้เราเข้าใจและเห็นภาพที่ชัดเจนว่า หากคนที่ใช้ร่างกายอย่างหนัก ไม่รักษาทะนุถนอมร่างกายให้ดี จะทำให้แก่เร็วกว่าคนที่ดูแลรักษาร่างกายเป็นอย่างดี ข้อนี้เราคงเห็นได้ชัดเจนกันทุกคนนะครับ

(2) Neuroendocrine theory คือ ทฤษฎีที่พูดถึงเรื่องของฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งฮอร์โมนนั้น เป็นสารชีวเคมีที่มหัศจรรย์ในร่างกายมนุษย์ เค้าบอกว่า เมื่อเราแก่ลง ฮอร์โมนต่าง ๆ จะตกลง มีระดับต่ำลง และทำงานได้น้อยลง นั่นทำให้การซ่อมแซม หรือ สร้างเสริมร่างกายลดน้อยลงไปนั่นเอง ฮอร์โมนที่พูดถึงกันมากในปัจจุบัน ได้แก่ โกรทฮอร์โมน ฮอร์โมนเมลาโทนิน ฮอร์โมน DHEA จากต่อมหมวกไต ฮอร์โมนเพศ เช่น เทสโทสเทอโรน เอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน เป็นต้น

(3) Genetic control theory เป็นทฤษฎีที่มาในแนวที่บอกว่า ความแก่ หรือ อายุขัยของคนเรานั้น ถูกกำหนดไว้แล้วในระดับพันธุกรรม หรือ DNA นั่นทำให้แต่ละคนมีอายุขัยที่ไม่เท่ากัน มีโรคภัยที่ไม่เหมือนกัน เป็นต้น เช่น ชาวเกาะโอกินาว่า เกาะทางตอนใต้ของญี่ปุ่น เป็นกลุ่มคนที่มีอายุยืนเกิน 100 ปี จำนวนมาก เพราะมีพันธุกรรมดี ไม่ค่อยเป็นโรคเกี่ยวกับความเสื่อม โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง และโรคมะเร็ง ทำให้มีอายุขัยที่ยาวนาน และมีสุขภาพที่ดี นั่นเอง

(4) Free radical theory เป็นทฤษฎีที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง เพราะถูกพูดถึงกันมากในยุคนี้ เหมือนที่หมอหล่อพูดมาตลอด อนุมูลอิสระ หรือ Free radicals คือ ระเบิดลูกเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกายเราตลอดเวลา หากร่างกายเรามีทีมเก็บกู้ระเบิดน้อย (สารต้านอนุมูลอิสระ หรือ Antioxidants) ก็เป็นต้นเหตุให้เรามีโรคภัยต่าง ๆ และทำให้เซลล์เสื่อมและแก่ได้นั่นเอง ในปัจจุบันยังพบว่าทฤษฎีนี้ มีความเชื่อมโยงกับเรื่อง Mitochondrial dysfunction ด้วยนะครับ (ไมโตรคอนเดรีย คือ โครงสร้างเล็ก ๆ ในเซลล์ของเรา ทำหน้าที่สร้างพลังงาน ที่เราเรียกกันว่า ATP ในการสร้างพลังงานแต่ละครั้ง จะเกิดอนุมูลอิสระออกมาตลอด หากไมโตรคอนเดรียดี ก็กำจัดได้ แต่หากเสื่อมก็ทำให้เกิดอนุมูลอิสระออกมามากมาย)

(5) ปิดท้ายด้วยทฤษฎี Telomerase theory (Shorten telomere) เป็นทฤษฎีที่มาแรง และถูกค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ 3 ท่าน คือ Elizabeth Blackburn, Carol Greider และ Jack Szostak #จนได้รับรางวัลโนเบล สาขา Physiology or Medicine ในปี 2009 การค้นพบครั้งนี้ ได้บอกกับเราว่า โครโมโซมซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของ DNA มีกลไกในการปกป้องการเสื่อมของตัวเองในบริเวณส่วนปลายของโครโมโซมที่เราเรียกว่า #Telomere โดยการสร้างเอนไซม์ที่เรียกว่า #Telomerase มาเป็นตัวช่วย แต่เมื่อไรก็ตามที่เอนไซม์ตัวนี้ทำงานได้น้อย โครโมโซมก็จะสั้นลงเรื่อย ๆ เซลล์ก็จะเสื่อมและตายไปในที่สุด ในทางตรงกันข้าม หากเอนไซม์ Telomerase ทำงานมากจนเกินไปเซลล์ก็จะไม่ตาย จนเป็นสาเหตุที่เราพบกันบ่อย ๆ ในปัจจุบัน นั่นก็คือ โรคมะเร็งนั่นเอง ปัจจุบันนี้ มีหลายปัจจัยที่เร่งให้ Telomere สั้นลงเร็ว และ หลายปัจจัยที่ชะลอการสั้นลงของ Telomere รายละเอียดดังที่หมอหล่อได้เล่าให้ฟังไปแล้วในตอนก่อนหน้านี้นะครับ ลองย้อนกลับไปอ่านกันได้ในเพจครับ ^_^

ทั้ง 5 ทฤษฎีนี้ บอกอะไรกับเรา ?
คำตอบที่เราได้ ก็คือ ทำให้เรารู้ว่าร่างกายหากเราใช้มาก ไม่ถนอมให้ดี ไม่ดูแลรักษา ไม่เอาใจใส่ให้ดีและสม่ำเสมอ ก็จะเสื่อมเร็ว แก่เร็ว จนเป็นสาเหตุ ให้เจ็บง่าย เป็นโรคง่าย และตายได้ท้ายที่สุด #การใช้ชีวิตอย่างมีสติและมีสตางค์อย่างพอเพียง จะเป็นหัวใจสำคัญให้เราใช้เวลาอยู่บนโลกใบนี้ได้อย่าง Healthy and Happy มากที่สุดครับ







#AgingTheories
#หมอหล่อคอเล่า

ทฤษฏีของความชรา

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์