ความเครียดวัยเด็กทำให้สมองเปลี่ยนแปลง

ความเครียดเรื้อรังในเด็ก ไม่ว่าจะมาจากความยากจน การไม่ได้รับการเอาใจใส่ และการถูกทำร้ายนั้นอาจส่งผลกระทบในแง่ลบในระยะยาวได้เช่นกัน

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน เผยว่า  ความเครียดประเภทเหล่านี้ในช่วงอายุน้อย ๆ มักจะทำให้พัฒนาการของสมองเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ การจำ การจัดการความเครียดและอารมณ์ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีผลด้านลบต่อพฤติกรรม สุขภาพ การทำงาน หรือแม้แต่ชีวิตคู่

งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการ Biological Psychiatry แล้ว โดยมีความสำคัญกับผู้วางแผนนโยบายสาธารณะ นักเศรษฐศาสตร์ นักจิตวิทยาควบคุมโรค และอื่น ๆ

"เรายังไม่ได้เข้าใจกันจริงว่า ทำไมเมื่อความเครียดเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงอายุ 2-4 ขวบ แล้วมันถึงได้มีผลกระทบอยู่ยาวนาน" ศาสตราจารย์ เซธ พอลลัค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอารมณ์ในวัยเด็ก มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสันเผย

"ก่อนหน้านี้ เคยมีการค้นพบว่า ความเครียดในวัยเด็กส่งผลต่ออาการซึมเศร้า ความกระวนกระวายใจ โรคหัวใจ มะเร็ง และไม่สามารถศึกษาหรือทำงานได้อย่างประสบความสำเร็จ"

"เมื่อเรารู้แล้วว่า ความเครียดมีผลกระทบต่อสังคมมากขนาดนี้ ถ้าเราไม่เข้าใจว่า สมองส่วนไหนที่เกิดผลกระทบจริง ๆ แล้ว เราก็ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่ดี"

ในการศึกษาครั้งนี้ ทีมวิจัยรับสมัครเด็ก 128 คน อายุประาณ 12 ปีที่เคยมีประวัติถูกทำร้ายร่างกาย ไม่ได้รับความเอาใจ หรือมาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน อย่างใดอย่างหนึ่ง

ทีมวิจัยได้สัมภาษณ์เด็กทุกคนและผู้ปกครองด้วย เพื่อบันทึกปัญหาทางพฤติกรรมและความเครียดสะสมในชีวิต หลังจากนั้นได้มีการศึกษาที่ภาพสมองของเด็ก เน้นที่สมองส่วนฮิปโปแคมปัสและอะมิกดาลา ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับอารมณ์และความเครียด นอกจากนี้ยังมีการถ่ายภาพสมองของเด็กที่มาจากครอบครัวชนชั้นกลางและไม่มีประวัติความเครียด เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบด้วย 

ดร.เจมี แฮนสัน และทีมวิจัยได้ดูสมองส่วนฮิปโปแคมปัสและอะมิกดาลาของเด็กแต่ละคนและคำนวณดูปริมาตร สมองทั้งสองนี้มีขนาดเล็กมากอยู่แล้วโดยเฉพาะในเด็ก (อะมิกดาลา เป็นภาษากรีก มีความหมายว่า ถั่วอัลมอนด์) และ ดร.แฮนสันเชื่อว่า การวัดขนาดของสมองส่วนนี้โดยซอฟต์แวร์สำเร็จรูปในการศึกษาที่ผ่านๆมานั้นอาจจะมีค่าความคาดเคลื่อนอยู่เยอะ ครั้งนี้จึงได้ทำการวัดด้วยมือ 

ผลจากการวัดด้วยมือพบว่า เด็กที่มีประสบการณ์ความเครียดหนึ่งในสามประเภทนี้จะมีอะมิกดาลาที่เล็กกว่าเด็กที่ไม่เคยเจอกับความเครียด นอกจากนี้ เด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจนและเด็กที่ถูกทำร้ายร่างกายจะมีสมองส่วนฮิปโปแคมปัสที่เล็กกว่าปกติ ขณะที่เมื่อทำการวัดด้วยซอฟต์แวร์สำเร็จรูปนั้นไม่สามารถเห็นความแตกต่างนี้ได้ 

ปัญหาเชิงพฤติกรรมและความเครียดที่สะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆนั้นมีความสัมพันธ์กับปริมาตรของฮิปโปแคมปัสและอะมิกดาลาที่เล็กลง 

แม้นักวิจัยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเหตุใดความเครียดจึงทำได้ปริมาตรดังกล่าวในสมองลดลง แต่ฮิปโปแคมปัสที่เล็กลงนี้หมายถึงผลในด้านลบแน่นอน ส่วนอะมิกดาลาที่เล็กลงนั้นยังต้องมีการศึกษากันเพิ่มเติมต่อไปถึงผลกระทบที่ตามมา 

"สำหรับผม งานวิจัยนี้เป็นเครื่องเตือนในสังคมว่า เราจำเป็นจะต้องให้ความสนใจกับประสบการณ์ที่เด็ก ๆ ได้รับ" ดร.พอลลัคเน้นย้ำ



ที่มา : vcharkarn.com

ความเครียดวัยเด็กทำให้สมองเปลี่ยนแปลง

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์