ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป มาทำความเข้าใจ “โรคซึมเศร้า” ให้ถูกต้องกันเถอะ

ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยศาสตราจารย์นายแพทย์มาโนช หล่อตระกูล หัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ ระบุไว้ชัดเจนว่า การเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่ป่วยเป็นคนอ่อนแอ คิดมาก หรือเป็นคนไม่สู้ปัญหา เอาแต่ท้อแท้ แต่เป็นเพราะ “ตัวโรค” และเมื่อมีความกดดันภายนอกรุมเร้าร่วมกับปัจจัยเสี่ยงหลายๆ อย่างในตัวเอง ทั้งทางร่างกายและจิตใจ  ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีและระบบฮอร์โมนต่างๆ ในสมอง จึงเกิดอาการต่างๆ ตามมาทั้งทางกายและใจนอกเหนือไปจากความเศร้าโศก แต่หากถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม โรคก็จะทุเลาลง  สามารถกลับมามีจิตใจแจ่มใส พร้อมจะทำกิจวัตรต่างๆ ได้ดังเดิม

ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป มาทำความเข้าใจ “โรคซึมเศร้า” ให้ถูกต้องกันเถอะ

สาเหตุของโรคซึมเศร้า - ปัจจัยสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคซึมเศร้า ได้แก่

1.กรรมพันธุ์ พบว่ากรรมพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้องสูงในโรคซึมเศร้าโดยเฉพาะในกรณีของผู้ที่มีอาการเป็นซ้ำหลายๆ ครั้ง

2.สารเคมีในสมอง พบว่าระบบสารเคมีในสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติอย่างชัดเจน โดยมีสารที่สำคัญได้แก่  ซีโรโทนิน (serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) ลดต่ำลง รวมทั้งอาจมีความผิดปกติของเซลล์รับสื่อเคมีเหล่านี้ ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นความบกพร่องในการควบคุมประสานงานร่วมกัน มากกว่าเป็นความผิดปกติที่ระบบใดระบบหนึ่ง

3.ลักษณะนิสัย บางคนมีแนวคิดที่ทำให้ตนเองซึมเศร้า เช่น มองตนเองในแง่ลบ มองอดีตเห็นแต่ความบกพร่องของตนเอง หรือ มองโลกในแง่ร้าย  เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดัน เช่น ตกงาน หย่าร้าง ถูกทอดทิ้ง ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการซึมเศร้าได้ง่าย ซึ่งหากไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมอาการอาจมากจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้


ลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

1.อารมณ์เปลี่ยนแปลงไป – กลายเป็นคนเศร้าสร้อย หดหู่ สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อย เรื่องเล็กๆน้อยๆ ก็ดูเหมือนจะอ่อนไหวไปหมด จิตใจหม่นหมอง ไม่แจ่มใส มีความรู้สึกเบื่อหน่ายไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง

2.ความคิดเปลี่ยนไป – มองอะไรก็รู้สึกว่าแย่ไปหมด เห็นแต่ความผิดพลาดความล้มเหลวของตนเอง  ไม่มีใครช่วยอะไรได้ ไม่เห็นทางออก มองอนาคตไม่เห็น รู้สึกท้อแท้หมดหวัง

3.สมาธิความจำแย่ลง – หลงลืมง่าย โดยเฉพาะกับเรื่องใหม่ๆ จิตใจเหม่อลอยบ่อย ทำอะไรไม่ได้นาน เนื่องจากสมาธิไม่มี  ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทำงานผิดๆ ถูกๆ

4.มีอาการทางร่างกายต่างๆ ร่วมด้วย – รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง เมื่อมีอาการร่วมกับอารมณ์รู้สึกเบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไร  ทำให้คนอื่นดูว่าเป็นคนขี้เกียจ และมีปัญหาด้านการนอน หลับยาก นอนไม่เต็มอิ่ม  รู้สึกเบื่ออาหาร ไม่เจริญอาหารเหมือนเดิม

5.ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเปลี่ยนไป – ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะดูซึมลง ไม่ร่าเริง แจ่มใส เหมือนก่อน  เก็บตัวมากขึ้น ไม่ค่อยพูดจากับใคร บางคนอาจกลายเป็นคนใจน้อย อ่อนไหวง่าย

6.การงานแย่ลง – ความรับผิดชอบต่อการงานลดลง ทำลวกๆ เพียงให้ผ่านๆ ไป สมาธิไม่มี และเมื่อเป็นมากขึ้นจะหมดพลังที่จะต่อสู้ เริ่มลางาน ขาดงานบ่อยๆ

7.อาการโรคจิต – จะพบในรายที่เป็นรุนแรง โดยอาจมีอาการหลงผิดหรือประสาทหลอนร่วมด้วย ที่พบบ่อยคือ เชื่อว่ามีคนคอยกลั่นแกล้ง หรือประสงค์ร้ายต่อตนเอง แต่อาการเหล่านี้มักจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อได้รับการรักษา อารมณ์เศร้าดีขึ้น อาการโรคจิตก็มักทุเลาตาม


ทำไมต้องพบแพทย์

ศาสตราจารย์นายแพทย์มาโนช ระบุว่า เหตุที่จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ เป็นเพราะมีโรคทางจิตเวชอีกหลายโรคที่มีอาการคล้ายคลึงกับโรคซึมเศร้า และมีโรคทางร่างกายหลายโรค รวมถึงยาบางตัวที่สามารถก่อให้เกิดอาการซึมเศร้าได้ จึงควรได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์อย่างละเอียด

โดยโรคที่อาจทำให้เกิดอาการคล้ายคลึงกับโรคซึมเศร้า ได้แก่ โรคสมองอักเสบ โรคตับอักเสบ  โรคระบบประสาท เนื้องอกในสมอง โรคเอสแอลอี วัณโรค โรคเอดส์ โรคไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ โรคคุชชิ่ง โรคขาดไวตามิน (เช่น เพเลกรา เบอริเบอรี่)

ขณะที่ยาที่ส่งผลให้เกิดอาการซึมเศร้า ได้แก่  ยาลดความดันเลือด (เช่น alphamethyldopa, clonidine, propanolol) ยารักษาโรคพาร์กินสัน (เช่น levodopa, amantadine) ยากลุ่มสเตียรอยด์และฮอร์โมน (เช่น ยาคุม, เพรดนิโซโลน) ยารักษามะเร็ง (vincristine, vinblastine) และยาอื่นๆ (เช่น ไซเมทิดีน, cyproheptadine)



การรักษา

หลังจากแพทย์ประเมินอาการจนค่อนข้างแน่ใจแล้วว่าผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าโดยไม่มีสาเหตุมาจากโรคทางร่างกายอื่นๆ  แพทย์จะเริ่มให้การรักษาโดยให้ยาขนาดต่ำก่อน จากนั้นจะนัดติดตามการรักษาอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์ต่อมา  หากผู้ป่วยไม่มีอาการข้างเคียงใดๆ จะค่อยๆ ปรับยาขึ้นไปทุกๆ 1-2 สัปดาห์จนได้ขนาดในการรักษา

หากรักษาจนผู้ป่วยอาการดีขึ้นแล้ว แพทย์จะให้ยาในขนาดใกล้เคียงกับขนาดเดิมต่อไปอีกนาน 4-6 เดือน เนื่องจากพบว่าในช่วงนี้ผู้ป่วยที่หยุดยาไปจะเกิดอาการกำเริบขึ้นสูงได้อีก  แต่หลังจากให้ยาจนครบ 6 เดือนโดยที่ผู้ป่วยไม่มีอาการเลยในระหว่างนี้ แพทย์จะค่อยๆ ลดยาลงโดยใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือนจนหยุดยาในที่สุด


คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย

1.ออกกำลังกาย  เช่น วิ่ง เดิน ว่ายน้ำ ซึ่งจะช่วยให้หลับได้ดีขึ้น กินอาหารดีขึ้น การขับถ่ายดีขึ้น ถ้าได้ออกกำลังกายร่วมกับผู้อื่นด้วย จะยิ่งช่วยเพิ่มการเข้าสังคม ไม่รู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยว

2.อย่าตั้งเป้าหมายในการทำงานและการปฏิบัติตัวที่ยากเกินไป เพราะการกระตุ้นตนเองมากไปจะยิ่งทำให้ตัวเองรู้สึกแย่หากทำไม่ได้อย่างที่หวัง

3.เลือกกิจกรรมที่ทำให้เกิดความรู้สึกดีๆ เช่น ไปเที่ยว ทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น  กิจกรรมที่สร้างสรรค์ เพื่อให้มีความรู้สึกที่ดีขึ้น

4.อย่าตัดสินใจเรื่องที่สำคัญต่อชีวิต  เช่น การหย่า การลาออกจากงาน ในขณะที่กำลังอยู่ในภาวะซึมเศร้านี้ เพราะการมองสิ่งต่างๆ ในแง่ลบอาจทำให้การตัดสินใจผิดพลาดไปได้

5.การมองปัญหาโดยไม่แยกแยะจะทำให้เกิดความรู้สึกท้อแท้   จึงควรแยกแยะปัญหาให้เป็นส่วนย่อยๆ จัดเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลัง วิธีนี้จะช่วยให้รู้สึกว่าตนเองยังทำอะไรได้อยู่


คำแนะนำสำหรับญาติ

หากญาติมีความเข้าใจผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า มองว่าเขากำลังไม่สบาย ความคาดหวังในตัวเขาก็จะลดลง ความหงุดหงิด คับข้องใจก็ลดลง เพราะเราทราบดีว่าเขาไม่ได้แกล้งทำ ไม่มีใครอยากป่วย เขาห้ามตัวเองไม่ให้เศร้าไม่ได้

หากสังเกตว่าช่วงไหนเขาพอมีอารมณ์แจ่มใสขึ้นมาบ้างก็ควรชวนพูดคุยถึงเรื่องที่เขาเคยชอบ เคยสนใจ อาจเริ่มด้วยการคุยเล็กๆ น้อยๆ ไม่สนทนานานๆ เพราะเขายังไม่มีสมาธิพอที่จะติดตามเรื่องยาวๆ ได้นาน และยังเบื่อง่ายอยู่

การที่ญาติมีท่าทีสบายๆ ใจเย็น พร้อมที่จะช่วยเหลือ  ขณะเดียวกันก็ไม่ได้กระตุ้นหรือคะยั้นคะยอเกินไปเมื่อสังเกตว่าเขายังไม่พร้อม จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายลง ไม่เครียดไปตามญาติ หรือรู้สึกว่าตนเองแย่ที่ไม่สามารถทำตามที่ญาติคาดหวังได้


ขอบคุณข้อมูลจาก : ศาสตราจารย์นายแพทย์มาโนช หล่อตระกูล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์