เช็คด่วน! ลิ้นอ้วนหนาอิ่มไขมัน เป็นสาเหตุหลักของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ


เช็คด่วน! ลิ้นอ้วนหนาอิ่มไขมัน เป็นสาเหตุหลักของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

คนที่นอนกรนเสียงดังและมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (sleep apnea) ซึ่งทำให้ตื่นมารู้สึกอ่อนเพลียสมองไม่แจ่มใสนั้น มักจะมีปัญหาน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานหรือเป็นโรคอ้วนกันส่วนใหญ่ก็จริง แต่นักวิทยาศาสตร์อเมริกันเพิ่งค้นพบว่า ความอ้วนของกล้ามเนื้อหรืออวัยวะใด ๆ ก็ไม่สำคัญต่อปัญหาสุขภาพเรื่องนี้ เท่ากับขนาดของลิ้นและสัดส่วนของไขมันในลิ้น

ทีมวิจัยจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์เพเรลแมน แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียของสหรัฐฯ ตีพิมพ์ผลการศึกษาล่าสุดลงในวารสาร American Journal of Respiratory and Critical Care Medicine โดยระบุถึงหลักฐานที่พิสูจน์ว่า ลิ้นอ้วนหนาที่อุดมไปด้วยเนื้อเยื่อไขมัน เป็นสาเหตุหลักที่ทำเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ




เช็คด่วน! ลิ้นอ้วนหนาอิ่มไขมัน เป็นสาเหตุหลักของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ดร. ริชาร์ด ชวับ ผู้นำทีมวิจัยอธิบายว่า "เราพูด กิน และหายใจโดยใช้ลิ้น ยิ่งมีไขมันไปสะสมพอกพูนที่ลิ้นมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสที่ลิ้นจะตกไปอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับมากขึ้นเท่านั้น"

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับทำให้กรนเสียงดังและหายใจแรงในเวลากลางคืน
มีการทดลองโดยให้กลุ่มตัวอย่าง 76 คน ซึ่งล้วนมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานและมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เข้ารับการสแกน MRI ก่อนที่จะให้ทุกคนลดน้ำหนักลงราว 10% ของระดับเดิม และเข้ารับการสแกนอีกครั้ง

ผลปรากฏว่าขนาดของลิ้นและสัดส่วนของไขมันในลิ้นที่ลดลง มีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับอาการหยุดหายใจขณะหลับที่ดีขึ้นหลังการลดน้ำหนักถึง 30% โดยขนาดที่ลดลงของเนื้อเยื่ออ่อนอื่น ๆ ในลำคอหรือขากรรไกร ไม่มีนัยสำคัญที่ชัดเจนต่อการรักษาโรคนี้มากเท่ากับลิ้น

"ไขมันซึ่งสะสมตัวที่ส่วนหลังของลิ้น จะดึงให้ลิ้นค่อย ๆ เคลื่อนถอยหลังขณะหลับ และยุบตัวลงไปอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนทั้งหมดหรือบางส่วน" ดร. ชวับกล่าว

ทีมผู้วิจัยยังไม่ทราบแน่ชัดว่า นอกจากโรคอ้วนแล้ว เหตุใดจึงเกิดการสะสมตัวของไขมันที่ลิ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของผู้ที่มีน้ำหนักตามเกณฑ์ปกติ ซึ่ง ดร. ชวับสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากพันธุกรรมหรือปัจจัยแวดล้อมบางอย่าง

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับนั้นพบได้บ่อย โดยจะทำให้กรนเสียงดัง นอนหายใจแรงในเวลากลางคืน เกิดการสะดุ้งตื่นกลางคัน หรือแขนขาลำตัวกระตุกเวลานอนได้ อาการเหล่านี้ส่งผลให้นอนไม่เต็มอิ่ม ง่วงเหงาหาวนอนในเวลากลางวัน และส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตโดยรวม

ทีมผู้วิจัยแนะนำให้ผู้มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ พยายามลดน้ำหนักลงให้ได้เพื่อเป็นการรักษาในขั้นแรก โดยควรจะเน้นลดขนาดของลิ้นที่อ้วนหนาอิ่มไขมันลงให้ได้เป็นสำคัญ ซึ่งอาจจะใช้วิธีการออกกำลังลิ้นเข้าช่วย เช่นยกลิ้นแตะเพดานปากซ้ำกันหลาย ๆ ครั้ง หรือเล่นเครื่องดนตรีจำพวกเครื่องเป่าอย่างดิดเจอริดู (didgeridoo)




เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์