ตาโปน ตาแดง ปวดตา อาการทางตาจากโรคไทรอยด์


ตาโปน ตาแดง ปวดตา อาการทางตาจากโรคไทรอยด์

ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อขนาดเล็กที่อยู่บริเวณด้านหน้าของลำคอ มีหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ซึ่งช่วยในการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย Graves' Disease หรือ ภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับระบบภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนออกมาผิดปกติ ฮอร์โมนไทรอยด์ที่เพิ่มมากขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะทุกระบบในร่างกาย ซึ่งอาการทางตาจากโรคไทรอยด์ คือความผิดปกตินอกต่อมไทรอยด์ที่พบบ่อย

อาการทางตา...จากโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ

โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เป็นโรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติ มีการกระตุ้นต่อมไทรอยด์มากผิดปกติ และส่วนหนึ่งยังกระตุ้นกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อไขมันที่ตา ทำให้มีการอักเสบของกล้ามเนื้อตาที่ใช้ในการกลอกตา การอักเสบของไขมันที่เบ้าตา เกิดอาการตาโปนออกมาจากเบ้าตา เปลือกตาแดง ตาแดง รู้สึกเหมือนมีทรายอยู่ในตา เปลือกตาบวม มีแรงดันในตา มีการอักเสบของหัวตา เยื่อตาบวม ปวดตา ตามัว มองเห็นภาพซ้อน ตาแพ้แสง ตาอักเสบบวมแดง หากอาการรุนแรงมาก อาจทำให้มองเห็นภาพซ้อน ตามัวลง อาการทางตาเหล่านี้มักพบร่วมกับภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (Graves' disease) แต่อาจพบร่วมกับภาวะระดับไทรอยด์ทำงานน้อยหรือไทรอยด์ปกติได้เช่นกัน ซึ่งความรุนแรงของอาการทางตาเองจะไม่สัมพันธ์โดยตรงกับระดับไทรอยด์เป็นพิษ การให้การรักษาภาวะไทรอยด์ขึ้นตาจะเป็นแนวทางที่แยกไป แตกต่างจากภาวะการรักษาต่อมไทรอยด์เป็นพิษอย่างสิ้นเชิง

อาการร่วมอื่นๆ ของโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ

-ต่อมไทรอยด์โต
-หัวใจเต้นเร็วและแรงกว่าปกติหรือเต้นผิดปกติ
-มือสั่น
-ผิวหนังชื้นเนื่องจากการเผาผลาญที่มากขึ้น เหงื่อออกง่าย ผิวจะร้อนและอุ่นเหมือนเป็นไข้
-ผมบาง ร่วงง่าย
-น้ำหนักลด อ่อนเพลีย แขนขาไม่มีแรง
-หงุดหงิดง่าย การนอนไม่หลับ
-ขับถ่ายบ่อยผิดปกติ
-ผิวบริเวณหน้าแข้งหรือหลังเท้าหนา บวมและแดง
-ประจำเดือนผิดปกติ อาจประจำเดือนมาน้อย หรือมาไม่สม่ำเสมอ

โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง
แม้ว่าโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่ามีปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นทำให้เกิดโรคนี้มากว่าปกติ

-อายุและเพศ โรคนี้มักเกิดกับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี และผู้หญิงอาจมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชายถึง 7-8 เท่า
-พันธุกรรม หากมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ บุคคลอื่นในครอบครัวก็มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าปกติ
-การสูบบุหรี่ อาจทำให้กระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน และอาจเสี่ยงโรคไทรอยด์ขึ้นตาได้อีกด้วย
-ความเครียด เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรมอยู่แล้ว
-การเจ็บป่วย การเป็นโรคที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างโรคเบาหวานชนิดที่ 1 โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ก็จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นต่อมไทรอยด์เป็นพิษมากยิ่งขึ้น

การรักษาโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
การรักษาโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ จะเน้นการยับยั้งการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ การรักษามีหลายวิธี อาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านต่างๆ ของผู้ป่วยด้วย เช่น อายุ, การตั้งครรภ์, ภาวะสุขภาพ เป็นต้น การรักษาภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษมีได้ดังนี้

1.การใช้ยาต้านการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์

ทำให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนออกมา โดยการเลือกใช้ยาและระยะเวลาในการรักษาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และการตอบสนองต่อการรักษา

2.การรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีน

การรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีน คือ การให้ผู้ป่วยรับประทานสารกัมมันตรังสีไอโอดีน 131 ในรูปแบบแคปซูลหรือของเหลว ซึ่งสารนี้จะค่อยๆ เข้าไปทำลายเซลล์ของต่อมไทรอยด์ ทำให้การสร้างฮอร์โมนลดลง ต่อมไทรอยด์มีขนาดเล็กลง และอาการของโรคค่อย ๆ ดีขึ้น ซึ่งอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนในการรักษา ข้อเสียของการรักษาวิธีนี้คือ ผู้ป่วยส่วนมากจะเกิดภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ดังนั้น ผู้ป่วยอาจต้องรับประทานฮอร์โมนทดแทนตลอดไป นอกจากนี้การรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีน จะมีความเสี่ยงในผู้ป่วยที่มีอาการทางตาจากโรคไทรอยด์ ทำให้ผู้ป่วยโรคมีอาการแย่ลง แต่มักมีอาการไม่รุนแรงและเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว

3.การผ่าตัด
ในกรณีที่การรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษรุนแรง มีก้อนเนื้องอกที่ต่อมไทรอยด์ร่วมด้วย สงสัยมะเร็งต่อมไทรอยด์ หรือมีอาการกดเบียดจากขนาดของก้อนที่ใหญ่มาก แพทย์จะผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ออกไป แต่หลังจากผ่าตัด ผู้ป่วยจะเกิดภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ ดังนั้น ผู้ป่วยอาจต้องรับประทานฮอร์โมนทดแทนตลอดไป

การรักษาอาการทางตาจากโรคไทรอยด์

มีวิธีการรักษาดังต่อไปนี้

1.หากอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยอาจใช้น้ำตาเทียม เพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองตาในระหว่างวันและใช้เจลหล่อลื่นตาในตอนกลางคืน

2.การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ หากมีอาการรุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ ซึ่งจะช่วยลดอาการบวมของลูกตา แต่ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์จะมีผลข้างเคียง เช่น มีภาวะคั่งน้ำและเกลือ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ความดันเลือดสูง น้ำหนักขึ้น หน้าบวม ท้องบวม จากการสะสมของไขมันผิดที่

3.การรักษาด้วยรังสี เป็นการใช้รังสีเอ็กซเรย์เพื่อทำลายเนื้อเยื่อหลังตาบางส่วน ซึ่งแพทย์อาจแนะนำวิธีนี้หากอาการที่ตาของผู้ป่วยแย่ลง หรือหากการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เพียงอย่างเดียวไม่ได้ผล แต่การรักษาวิธีนี้อาจกระทบต่อ ส่วนอื่นของตา

4.การผ่าตัดขยายเบ้าตา แพทย์จะผ่าตัดนำกระดูกระหว่างเบ้าตาออก รวมถึงโพรงอากาศที่เป็นช่องว่างที่อยู่ถัดจากเบ้าออกไปด้วย ซึ่งจะทำให้ตามีพื้นที่มากขึ้นและลูกตากลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิม โดยวิธีนี้ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีแรงดันในเส้นประสาทตาสูงจนทำให้เสี่ยงสูญเสียการมองเห็น

5.มีการศึกษาพบว่าการรักษาด้วยการเสริมซีลีเนียม อาจช่วยได้ในกรณที่ผู้ป่วยมีอาการทางตาไม่มาก

6.งดสูบบุหรี่ เนื่องจากพบว่า การสูบบุหรี่จะมีผลกระทบต่ออาการทางตาจากโรคไทรอยด์อย่างมาก

เครดิตแหล่งข้อมูล : phyathai.com


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์