อย่าหลงเชื่อ โฆษณาอุปกรณ์ ลดกรนขนาดจิ๋ว


อย่าหลงเชื่อ โฆษณาอุปกรณ์ ลดกรนขนาดจิ๋ว

อย.เตือนอย่าหลงเชื่อ เครื่องช่วยหายใจลดอาการกรนขนาดจิ๋ว อ้างแค่เสียบจมูกก็เลิกกรน มีคุณสมบัติคล้ายเครื่อง CPAP ขนาดใหญ่ สามารถขยายทางเดินหายใจได้ เผยโฆษณาขายเกลื่อนว่อนเน็ต ชี้ไม่สามารถแก้อาการนอนกรนได้ อย.ไม่เคยอนุญาตให้มีการผลิต นำเข้า หรือโฆษณา

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า กรณีมีเรื่องราวของกลุ่มมิจฉาชีพหลอกขายอุปกรณ์แก้อาการกรนขนาดจิ๋ว ซึ่งมีลักษณะเป็นจุกเล็กๆ 2 ข้างใส่เข้าไปในรูจมูก โดยอวดอ้างคุณสมบัติของเครื่องว่าจะทำการเป่าลมเพื่อเข้าไปขยายทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เหมือนกับเครื่อง CPAP นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาขอชี้แจงว่า อาการนอนกรนนั้นเกิดจากเพดานอ่อน ลิ้นไก่ยาว และโคนลิ้นที่โตจะตกลงมาบังหรือปิดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนตีบ ทางเลือกหนึ่งซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญใช้ในการรักษาคือ การใช้เครื่องเป่าลมหายใจส่วนบน (CPAP) ซึ่งลมที่เป่าเข้าไปจะไปถ่างทางเดินหายใจให้กว้างออก ทำให้ไม่เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหานอนกรนแบบธรรมดาจนถึงผู้ที่มีปัญหานอนกรนแบบอันตราย (ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ)

สำหรับอุปกรณ์นอนกรนขนาดจิ๋วที่มีขายเกลื่อนว่อนอินเทอร์เน็ต อย.ขอเตือนผู้บริโภคอย่าซื้อมาใช้ ซึ่ง อย.ไม่เคยอนุญาตให้มีการผลิต นำเข้า และโฆษณาขายสินค้าดังกล่าว เนื่องจากอุปกรณ์ดังกล่าวไม่สามารถแก้อาการนอนกรนได้ อีกทั้งเป็นการโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้บริโภคหลงผิด เสี่ยงอันตรายได้ของที่ไม่มีคุณภาพ การแก้ปัญหานอนกรนในเบื้องต้น ผู้บริโภคควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคโดยการหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมน้ำหนัก หากมีภาวะน้ำหนักเกินควรเปลี่ยนท่าทางในการนอนเป็นท่านอนตะแคง หลีกเลี่ยงท่านอนหงาย เนื่องจากอาจทำให้เกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจได้ง่ายกว่าท่านอนตะแคง ห้ามใช้ยาที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาทบางชนิด และควรเลิกการสูบบุหรี่ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การใช้อุปกรณ์ช่วยลดการนอนกรนต่างๆ ควรได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้วเท่านั้น

รองเลขาธิการ อย.กล่าวในตอนท้ายว่า อย.ยังคงตรวจสอบและเฝ้าระวังอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่ผิดกฎหมายมาโดยตลอด ซึ่งหากพบผู้ประกอบการ ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายรายใด โฆษณาเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากโฆษณาอันเป็นเท็จหรือเกินความจริง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับทั้งนี้ ขอให้ผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีการโฆษณาในลักษณะดังกล่าว เพราะนอกจากจะมีราคาแพงแล้ว ยังไม่สามารถรักษาอาการนอนกรนได้ หากจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์

 ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะผ่านเว็บไซต์และ Social Media ขอให้แจ้งมาได้ที่ อย.โดยตรงทางสายด่วน อย. 1556 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ หรือสายด่วน บก.ปคบ. 1135 เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด.

Cr::: สสส.


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์