อาการเสียง “วิ้ง วิ้ง” ดังขึ้นในหู มันคืออะไรกันแน่!?

เสียงดังในหู เป็นความผิดปกติทางหูที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ เพราะกลัวว่าจะเป็นอันตรายกับผู้ป่วยหรือไม่ หรือเพราะรำคาญทำให้นอนหลับยาก

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้ยินเสียงดังนี้ เฉพาะตัวผู้ป่วยเอง ผู้อื่นไม่ได้ยินเสียงนี้ด้วย ผู้ป่วยมักบอกว่าเสียงดังในหูนั้นคล้ายเสียงจักจั่น หรือจิ้งหรีดร้องอยู่ภายใน อาจเป็นเสียงหึ่งๆ วิ้งๆ ซ่าๆ ไม่เฉพาะข้างใดข้างหนึ่งแต่เกิดทั้ง 2 ข้างได้ มักได้ยินชัดขึ้นในเวลากลางคืน ในที่เงียบๆ ผู้ป่วยอาจมีเสียงดังในหูอย่างเดียวหรือมีอาการอื่นร่วมด้วยๆ เช่น หูอื้อ ปวดหู เวียนศีรษะ บ้านหมุน

เสียงดังในหู แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1. เสียงดังในหูชนิดที่ได้ยินเฉพาะตัวผู้ป่วย หรือเสียงที่มีการรับรู้ผิดปกติ โดยที่ไม่มีเสียงเกิดขึ้นจริง (subjective tinnitus) เป็นเสียงดังในหูประเภทที่พบบ่อยที่สุด สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของ

- หูชั้นนอก เช่น ขี้หูอุดตัน, เยื่อแก้วหูทะลุ, หูชั้นนอกอักเสบ, เนื้องอกของหูชั้นนอก
- หูชั้นกลาง เช่น หูชั้นกลางอักเสบ,น้ำขังอยู่ในหูชั้นกลาง เนื่องจากท่อยูสเตเชี่ยน (ท่อที่เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลางและโพรงหลังจมูก)ทำงานผิดปกติ,โรคหินปูนในหูชั้นกลาง
- หูชั้นใน สาเหตุที่พบได้บ่อยสุด คือประสาทหูเสื่อมจากอายุ นอกจากนั้นการเสื่อมของเส้นประสาทหู อาจเกิดจาก การได้รับเสียงที่ดังมากในระยะเวลาสั้น ๆ ทำให้เส้นประสาทหูเสื่อมเฉียบพลัน (acoustic trauma)เช่น ได้ยินเสียงปืน เสียงระเบิด เสียงประทัด, การได้รับเสียงที่ดังปานกลางในระยะเวลานาน ๆ ทำให้ประสาทหูเสื่อมแบบค่อยเป็นค่อยไป (noise-induced hearing loss)เช่น อยู่ในโรงงาน หรือยู่ในคอนเสิร์ตที่มีเสียงดังมาก ๆ,การใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู (ototoxic drug)เป็นระยะเวลานาน เช่น salicylate, aminoglycoside, quinine, aspirin, การบาดเจ็บของกะโหลกศีรษะแล้วมีผลกระทบกระเทือนต่อหูชั้นใน (labyrinthine concussion), การติดเชื้อของหูชั้นใน (labyrinthitis) เช่น ซิฟิลิส ไวรัสเอดส์, การผ่าตัดหูแล้วมีการกระทบกระเทือนต่อหูชั้นใน, มีรูรั่วติดต่อระหว่างหูชั้นกลางและหูชั้นใน, โรคมีเนียหรือน้ำในหูไม่เท่ากัน
- สมอง โรคของเส้นเลือด เช่น เส้นเลือดในสมองตีบ,เลือดออกในสมอง,ไขมันในเลือดสูง, ความดันโลหิตสูง,เนื้องอกในสมอง เช่น เนื้องอกของเส้นประสาทหู และ/หรือประสาทการทรงตัว(acoustic neuroma)
- สาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคโลหิตจาง,โรคแพ้ภูมิตัวเอง,โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว,โรคเกล็ดเลือดสูงผิดปกติ,โรคที่มีระดับยูริกในเลือดสูง, โรคไต, โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตต่ำ,โรคไขมันในเลือดสูง, โรคความดันโลหิตสูง โรคต่าง ๆ เหล่านี้สามารถทำให้เกิดเสียงดังในหูได้

2. เสียงดังในหูชนิดที่บุคคลภายนอกสามารถได้ยิน หรือเสียงที่มีแหล่งกำเนิดเสียงจริงอยู่ภายในร่างกายของผู้ที่ได้ยิน (objective tinnitus) เสียงดังในหูชนิดนี้ ได้แก่

- ความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดแดงมีการเชื่อมต่อที่ผิดปกติกับหลอดเลือดดำ (arteriovenous malformation)
- เส้นเลือดวางอยู่ในตำแหน่งผิดปกติ เส้นเลือดแดงโป่งพอง (aneurysm)
- บริเวณศีรษะและคอที่อยู่ใกล้ชิดกับหูชั้นนอก หูชั้นกลาง หูชั้นใน แม้แต่ในสมองเอง
- เสียงที่เกิดขึ้นอาจเกิดพร้อมจังหวะการเต้นของหัวใจ หรือดังขึ้นตอนออกกำลังกาย อาจได้ยินเมื่ออยู่ใกล้ผู้ป่วย หรือใช้เครื่องมือช่วยฟัง
- เสียงดังในหูที่เกิดจากการหายใจเข้าหรือออก อาจเกิดจากความผิดปกติของท่อยูสเตเชี่ยน ซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมระหว่างหูชั้นกลาง และโพรงหลังจมูก

การวินิจฉัย
อาศัยการซักประวัติ สาเหตุต่าง ๆ ที่เป็นไปได้ที่ทำให้เกิดเสียงดังในหู, การตรวจหูบริเวณรอบหู, การวัดความดัน ท่านอน ท่านั่ง และท่ายืน, การตรวจเลือด เพื่อหาความผิดปกติของเคมีในเลือด, การตรวจปัสสาวะ, การตรวจการได้ยิน, การตรวจคลื่นสมองระดับก้านสมอง และการถ่ายภาพรังสี เช่น เอ็กซเรย์ คอมพิวเตอร์สมองหรือกระดูกหลังหู ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ฉีดสารรังสีเข้าหลอดเลือด

การรักษา

การรักษาเสียงดังในหูนั้น รักษาตามสาเหตุ ซึ่งแบ่งเป็นการรักษาด้วยยาและการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม เสียงดังในหูที่เกิดจากพยาธิสภาพของหูชั้นใน,เส้นประสาทหู,และระบบประสาทส่วนกลาง โดยเฉพาะประสาทหูเสื่อม มักจะรักษาไม่หายขาด ยกเว้นสาเหตุดังกล่าวเป็นสาเหตุที่รักษาได้ นอกจากนั้นถ้าเกิดจากประสาทหูเสื่อม ควรหาสาเหตุ หรือปัจจัยที่จะทำให้หูเสื่อมเร็วกว่าผิดปกติ เพื่อหาทางชะลอความเสื่อมนั้นด้วย ส่วนเสียงดังในหูบางรายไม่ทราบสาเหตุ หรือทราบสาเหตุ แต่เป็นสาเหตุที่รักษาไม่ได้ อาจหายเองก็ได้ หรือจะมีอยู่ตลอดชีวิตก็ได้

1. ควรอธิบายให้ผู้ป่วยยอมรับและเข้าใจว่าสาเหตุของเสียงดังในหูเกิดจากอะไร เป็นอันตรายหรือไม่ และจะหายหรือไม่
2. ถ้าเสียงดังในหู ไม่รำคาญมากต่อชีวิตประจำวัน และไม่รบกวนการนอนหลับ ไม่จำเป็นต้องรักษา เพียงแต่ทำใจยอมรับ
3. ถ้าเสียงดังในหูรบกวนชีวิตประจำวันและรบกวนการนอนหลับ อาจใช้เสียงอื่นกลบเสียงดังในหู เช่น เปิดเพลงเบา ๆ ก่อนนอน จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นบ้าง และอาจให้ยาเพื่อช่วยลดความรำคาญ เช่น ยาขยายหลอดเลือด เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงหูชั้นในมากขึ้น, ยาคลายกังวลหรือยานอนหลับ และยาบำรุงประสาทหู, ยาลดความไวของประสาทหู ทำให้เสียงดังในหูลดน้อยลง
4. ถ้าเสียงดังในหูเกิดจากประสาทหูเสื่อม ควรป้องกันไม่ให้ประสาทหูเสื่อมมากขึ้น โดย
- หลีกเลี่ยงเสียงดัง
- ถ้าเป็นโรคเบาหวาน,ความดันโลหิตสูง,ไขมันในเลือดสูง,โรคไต,โรคกรดยูริกในเลือดสูง,โรคซีด,โรคเลือด ต้องควบคุมโรคให้ดี
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู เช่น aspirin, amino glycoside, quinine
- หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ หรือการกระทบกระเทือนบริเวณหู
- หลีกเลี่ยงการติดเชื้อของหู หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน
- ลดอาหารเค็ม หรือเครื่องดื่มบางประเภทที่มีสารกระตุ้นประสาท เช่น กาแฟ, ชา, น้ำอัดลม, บุหรี่
- พยายามออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดความเครียด วิตกกังวล เพราะยิ่งกังวลกับเสียงดังในหูมาก เสียงจะยิ่งดังมาก
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
ดังนั้น เสียงดังในหูอาจมีสาเหตุจากประสาทหูเสื่อม ซึ่งไม่มีอันตรายร้ายแรงใดๆ หายได้เองหรืออยู่กับผู้ป่วยตลอดชีวิตก็ได้ และอาจมีสาเหตุโรคที่อันตราย เช่น เนื้องอกของสมอง เส้นประสาท เส้นเลือดแดงโป่งพองก็ได้ ดังนั้นอย่านิ่งนอนใจดีกว่าครับ เมื่อพบเสียงดังในหู ควรปรึกษาแพทย์ หู คอ จมูกเพื่อหาสาเหตุแต่เนิ่น ๆ

ที่มา : รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

อาการเสียง “วิ้ง วิ้ง” ดังขึ้นในหู มันคืออะไรกันแน่!?

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์