กรมสุขภาพจิตเตือน “ผู้ชื่นชอบถ่ายเซลฟี่ถี่” เสี่ยงซึมเศร้า!


กรมสุขภาพจิตเตือน “ผู้ชื่นชอบถ่ายเซลฟี่ถี่” เสี่ยงซึมเศร้า!

กรมสุขภาพจิตเตือนผู้ชื่นชอบถ่ายเซลฟี่ถี่และชอบโพสต์ภาพเซลฟี่ที่ใช้แอปพลิเคชันเติมแต่งความสวย ก่อนโพสต์ หวังเรียกความเชื่อมั่นจากยอดไลก์เสี่ยงเป็นคนขาดความเชื่อมั่นในโลกแห่งความเป็นจริง และอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้


วันนี้ (16 ก.ย.2561) น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า พฤติกรรมการเซลฟี่ (selfie) ของประชาชนในสังคมออนไลน์ กำลังกลายเป็นพฤติกรรมเคยชิน ซึ่งเป็นการสื่อสารที่แสดงออกถึงตัวตนโดยถ่ายรูปตนเองในอิริยาบทต่างๆ แล้วแชร์ภาพ เผยแพร่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งการเซลฟี่นั้นมีความสำคัญกับความคิดในเรื่องของตัวตนอย่างมาก มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง 



กรมสุขภาพจิตเตือน “ผู้ชื่นชอบถ่ายเซลฟี่ถี่” เสี่ยงซึมเศร้า!

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า หากเซลฟี่ในลักษณะเหมาะสมคือไม่ได้หวังผลอะไร เก็บไว้เป็นความประทับใจได้ จะไม่มีผลเสีย แต่หากเซลฟี่ที่มีความถี่มาก เพื่อให้เพื่อนๆ มากดไลก์หรือเขียนข้อความแสดงความเห็นต่างๆ จนเกิดการหมกมุ่น อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นหรือความมั่นใจในตัวเอง หากโพสต์รูปตัวเองไปแล้วและได้รับการตอบรับน้อย คนกดไลก์น้อย ไม่เป็นไปตามคาดหวังและโพสต์ใหม่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับ จะส่งผลให้บุคคลนั้นขาดความมั่นใจ และอาจไม่ชอบ ไม่พอใจรูปลักษณ์ตัวเอง เกิดความกังวล ชีวิตไม่มีความสุข


เมื่อสะสมไปเรื่อยๆ อาจทำให้เกิดความผิดปกติทางจิตใจและอารมณ์ได้ง่าย เช่น หวาดระแวง เครียด ซึมเศร้า เป็นภัยเงียบที่น่าเป็นห่วง โดยหากเป็นเยาวชน วัยรุ่น จะมีผลกระทบต่ออนาคตได้ เด็กที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง จะมีผลให้พัฒนาตัวเองยาก ขาดภาวะการเป็นผู้นำ ซึ่งมีความสำคัญมากในการใช้ชีวิตทั้งการทำงาน ครอบครัว โอกาสที่จะคิดพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ อาจเป็นไปได้ยากขึ้น มีผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตอย่างคาดไม่ถึง



กรมสุขภาพจิตเตือน “ผู้ชื่นชอบถ่ายเซลฟี่ถี่” เสี่ยงซึมเศร้า!

ด้าน พญ.กุสุมาวดี คำเกลี้ยง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า โดยทั่วไปตัวตนของคนเรา มี 4 ประเภท คือ 
1.ตัวตนจริงๆ เช่น รูปร่าง หน้าตา สวย หล่อ มีทักษะความสามารถ 
2. ตัวตนที่เรารับรู้ตัวเอง ซึ่งอาจตรงหรือไม่ตรงกับตัวตนที่แท้จริงก็ได้ เช่น คนที่เห็นแก่ตัวอาจไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นคนเห็นแก่ตัวก็ได้ 
3.ตัวตนในอุดมคติ เป็นตัวตนในความฝันที่อยากจะเป็นหรือมีบุคคลต้นแบบที่อยากจะใช้ชีวิตตาม 
4. ตัวตนที่เรารับรู้จากการมองของคนรอบข้าง โดยคนส่วนใหญ่มักจะปฏิบัติตนให้สอดคล้องและมีการปรุงแต่งไปตามค่านิยมหรือความต้องการสังคม ตัวตนประเภทนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อพฤติกรรมทั้งในโลกความจริงและในโลกสังคมออนไลน์


ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบุว่า การถ่ายภาพเซลฟี่ เปรียบเหมือนการส่องกระจก พฤติกรรมถ่ายเซลฟี่ที่น่าเป็นห่วงมี 2 ประการ 

ประการแรก คือ ถ่ายเซลฟี่ร่วมกับการใช้แอปพลิเคชันแต่งเติมหน้าตัวเองให้ดูดี มีสีสันสดใสขึ้นตามความต้องการ เช่น ตาดำโต หน้าเรียว แก้มชมพู ปากแดง ซึ่งขณะนี้กำลังได้รับความนิยมมากทั้งในไทยและต่างประเทศ จัดว่าเป็นภาพตัวตนในอุดมคติ ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง จะเป็นการหลอกทั้งตัวเองและหลอกคนอื่น หากใช้บ่อยจะมีผลทำให้ขาดความมั่นใจในการเผชิญหน้าจริงกับผู้คนที่เป็นเพื่อนในโลกโซเชียล หรือเผชิญโลกแห่งความเป็นจริง อาจจะเกิดการยอมรับความจริงไม่ได้

ประการที่ 2 คือ การใช้แอปถ่ายเซลฟี่บ่อยถี่จนเกินไป อาจเป็นสัญญานของผู้ที่หมกมุ่นไม่พึงพอใจรูปร่างหน้าตาของตนเองมากผิดปกติ เรียกว่ากลุ่มอาการบีดีดี (Body Dysmorphic Disorder :BDD) คนกลุ่มนี้จะนิยมการใช้แอปถ่ายภาพเซลฟี่เพราะภาพสามารถตอบโจทย์ ใช้ตรวจสอบรูปร่างหน้าตาของตัวเองได้บ่อยตามต้องการ อาจมีพฤติกรรมหมกมุ่น ไม่พอใจในรูปร่างหน้าตาตัวเองและใช้แอปเซลฟี่ตลอดเวลา จนอาจเสียการเสียงาน บางกรณีถึงขั้นหลุดจากโลกความเป็นจริงถึงขั้นไม่สามารถใช้ชีวิตแบบคนปกติได้


“สังคมออนไลน์มีส่วนให้คนได้เห็นหน้าตัวเองบ่อยขึ้น ทำให้เกิดความระแวงในหน้าตาของตัวเอง ซึ่งการเซลฟี่ที่ถี่เกินไป อาจสะท้อนถึงความกังวลและความไม่มั่นใจ และอาจเป็นกระตุ้นให้รู้สึกว่าต้องสวย-หล่อ เพื่อสร้างความมั่นใจตัวเอง หลายคนอาจตัดสินใจทำศัลยกรรมหรือทำให้สวยเหมือนในภาพเซลฟี่ที่ใช้โปรแกรมตกแต่งเพื่อให้คนอื่นยอมรับ”



กรมสุขภาพจิตเตือน “ผู้ชื่นชอบถ่ายเซลฟี่ถี่” เสี่ยงซึมเศร้า!

5 เทคนิค ป้องกันติดเซลฟี่

พญ.กุสุมาวดี กล่าวต่อว่า วิธีการป้องกันลูกหลานเสพติดเซลฟี่ และการสร้างความมั่นใจในตัวเองบนโลกแห่งความเป็นจริง มีคำแนะนำผู้ปกครอง 5 ประการดังนี้

1.สอนเด็กให้มองและยอมรับในความแตกต่างของคนที่ไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน ข้อนี้สำคัญมาก เพื่อเด็กจะได้เข้าใจ ไม่นำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น
2.ควรเลี้ยงดูบุตรหลาน โดยให้ความรัก ความอบอุ่น เด็กจะให้ความสำคัญกับคนรอบข้างที่เป็นสิ่งแวดล้อมจริงในชีวิตประจำวัน รวมถึงให้คำแนะนำการใช้โลกออนไลน์และเซลฟี่ให้เหมาะสม ถูกเวลา
3.ฝึกเด็กให้รู้จักระเบียบวินัย รู้จักควบคุมตัวเองในการใช้เวลาในโลกออนไลน์ ประการสำคัญผู้ปกครองต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการควบคุมพฤติกรรมการถ่ายเซลฟี่ของตนเอง
4.สอนให้เด็กรู้จักคบเพื่อนในโลกแห่งความเป็นจริง ฝึกทักษะทางสังคมเช่นการยิ้ม การชื่นชมคนอื่น สอนการแบ่งปัน
5.ฝึกให้เด็กมีเอกลักษณ์เป็นของตนเองในโลกแห่งความเป็นจริง โดยชวนทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว เช่น ออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง ทำงานศิลปะ ทำอาหาร ทำงานบ้าน หรือจิตอาสาอื่นๆ เพื่อให้เด็กมองเห็นคุณค่าและเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์