“วัณโรค” ตัวร้าย แม้เป็นได้...ก็หายได้


“วัณโรค” ตัวร้าย แม้เป็นได้...ก็หายได้

เมื่อเอ่ยถึงวัณโรคแล้ว คนส่วนใหญ่มักมีความคิดไปในทางแง่ลบ โดยมองว่าโรคนี้เป็นโรคที่น่ารังเกียจ และเป็นโรคติดต่อสกปรกอันตราย ซึ่งในความเป็นจริงนั้นถูกเพียงแค่ครึ่งเดียว คือ วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่อันตรายจริง แต่ไม่ใช่โรคที่สกปรกน่ารังเกียจ เพราะเป็นโรคท้องถิ่นที่พบได้โดยทั่วไปในประเทศไทย เป็นโรคที่ทุกคนไม่ว่าใครก็สามารถเป็นได้เหมือนกัน แต่ก็สามารถรักษาให้หายได้เช่นกัน

เพื่อเป็นการยืนยันและให้ทุกคนเข้าใจว่าแท้จริงแล้ว วัณโรคนั้นสามารถรักษาให้หายได้จริงๆ วันนี้เราจึงจะพาไปคุยกับคุณหมอวินัย โบเวจา อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินหายใจ เกี่ยวกับการรักษาวัณโรคว่า...ที่บอกว่าหายได้นั้น มีกระบวนการและวิธีการอย่างไรบ้าง?

ก่อนจะทำการรักษา ก็ต้องวินิจฉัยฟันธงให้ชัดก่อนว่าเป็นวัณโรคจริงๆ

กระบวนการแรกของการรักษาวัณโรคนั้น จะเริ่มต้นที่การวินิจฉัยก่อน โดยเมื่อผู้ป่วยเข้ามาพบแพทย์ หมอก็จะเริ่มจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย แล้วจากนั้นสิ่งที่ทำต่อไปคือ "เอกซเรย์ปอด" ซึ่งสำหรับการเอกซเรย์ปอดนี้ จะทำให้พอทราบได้เลยว่า คนไข้เป็นวัณโรคมากน้อยแค่ไหน และหลังจากการเอกซเรย์แล้วหากพบว่ามีโอกาสเป็นวัณโรค ลำดับต่อไปคือ "การเก็บเสมหะ" เพื่อนำมาตรวจพิสูจน์ว่าเป็นวัณโรคชัวร์หรือไม่? แต่ทั้งนี้ก็มีบ่อยครั้งเช่นกันที่ อาการใช่ เอกซเรย์เหมือน แต่พอเก็บเสมหะแล้วตรวจกลับไม่พบตัวชี้วัดว่าเป็นวัณโรค ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ เพราะถึงแม้จะดูคล้ายว่าใช่อย่างไร

แต่ถ้าตรวจไม่เจอก็ไม่สามารถฟันธงได้ ดังนั้น ในปัจจุบัน ถ้าการตรวจเสมหะไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเป็น เราจะใช้เทคนิคใหม่ด้วยการนำเสมหะไปทำการตรวจแบบวิธี "อณูชีววิทยา" ซึ่งแม้จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า แต่ก็นับเป็นการวินิจฉัยที่แม่นยำและแน่นอนกว่า ทำให้นำไปสู่กระบวนการรักษาได้เร็วและทันท่วงทีมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าสุดท้ายแล้วการตรวจเสมหะไม่สามารถบอกได้จริงๆ การวินิจฉัยด้วยการส่องกล้องแล้วตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ คือเป็นด่านสุดท้ายที่สามารถทำได้ผลชี้วัดที่แน่นอนที่สุด แต่ก็มีค่ารักษาที่สูงที่สุดด้วย

แค่ทานยา ก็รักษาวัณโรคให้หายได้

ซึ่งแนวทางในการรักษาวัณโรคปัจจุบันคือ "การใช้ยาล้วนๆ" โดยเป็นยาเม็ด แบ่งการรักษาออกเป็น 2 ช่วง ทั้งนี้ ถ้าเป็นวัณโรคในปอด จะต้องทานยาประมาณ 6 เดือน ส่วนหากเป็นวัณโรคนอกปอด เช่นวัณโรคที่เยื่อหุ้มปอด วัณโรคกระดูก วัณโรคต่อมน้ำเหลือง ฯลฯ จะต้องทานยาประมาณ 9-12 เดือน หรือแล้วแต่การพิจารณาของแพทย์ ยิ่งถ้าเป็นวัณโรคที่สมองด้วยแล้ว อย่างน้อยก็ต้องประมาณ 12 เดือน แต่ก็สามารถรักษาหายได้

4+2 แล้วเตรียมฉลองได้ สูตรให้ยาที่ทำให้วัณโรคห่างหายภายในเวลา 6 เดือน

กว่าที่แพทย์จะเริ่มให้ยาได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาค่าตับ ค่าไต ค่าเบาหวาน และสภาพร่างกายอื่นๆ โดยรวมของคนไข้ให้พร้อมเสียก่อนว่าสามารถรับยาได้หรือไม่ ซึ่งถ้าหากพร้อมก็จะเริ่มให้ยาชุดแรกทันที โดยการให้ยารักษาวัณโรคแบ่งได้ออกเป็น 2 ช่วง คือช่วง 2 เดือนแรก จะเป็นช่วงที่เรียกว่า Intensive เป็นการให้ยาแบบเข้มข้น โดยจะมียาทั้งหมด "4 กลุ่ม" ไม่นับรวมวิตามินอื่นๆ ซึ่งหลังจาก 2 เดือนแรกผ่านไป วัณโรคจะค่อยๆ สงบลง จึงเริ่มเข้าสู่กระบวนการให้ยาในช่วงที่ 2 ที่มีความเข้มข้นน้อยลงกว่าเดิม คือเหลือให้ยาเพียงแค่ "2 กลุ่ม" เท่านั้น และให้ต่อไปเป็นระยะเวลาอีกประมาณ 4 เดือน หลังจากนั้นก็อยู่ที่วิจารณญาณของแพทย์ว่าจะให้ยาต่อหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะหายขาดภายใน 6 เดือน

วัณโรคจะหายได้ 100% จริงหรือไม่ ขึ้นอยู่ที่คนไข้ 100%

ในระหว่างการให้ยา คนไข้จำเป็นจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งเรื่องการทานยา และพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่างๆ เช่น ห้ามดื่มเหล้าโดยเด็ดขาด เพราะตัวยารักษาวัณโรคนั้นออกฤทธิ์ต่อตับ ซึ่งหากทานเหล้าด้วยอาจส่งผลต่อการทำให้ตับเป็นอันตรายและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ หรือผู้ป่วยที่ทานยาหม้อ ยาสมุนไพรแต่เดิมอยู่ หรือชอบซื้อยาชุดกินเอง ไม่ว่าจะเพื่อรักษาโรคหรือว่าบำรุงร่างกาย ก็จำเป็นจะต้องปรึกษาแพทย์ หากอยากที่จะรักษาให้หายขาดจากวัณโรค ทั้งนี้ วัณโรคเป็นโรคที่รักษาหายได้ 100% แต่คนไข้ต้องไม่ดื้อ ต้องทานยาสม่ำเสมอ และปฏิบัติตามแพทย์สั่งด้วย

ผลข้างเคียงที่ต้องทราบไว้ ในช่วงระหว่างให้ยารักษาวัณโรค

ในขณะที่ทานยารักษาวัณโรคอยู่นั้น ปัสสาวะของคนไข้อาจมีสีเหลืองเข้มจนเป็นสีส้มได้ คือเป็นสีแบบน้ำส้มแฟนต้าได้เลย รวมถึงอาจมีอาการคลื่นไส้ พะอืดพะอม หรือมีผื่นคันขึ้นตามร่างกายก็สามารถพบได้ ซึ่งหากพบเล็กน้อยถือว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่น่ากังวลแต่อย่างใด แต่ถ้าหากพบว่ามีผื่นขึ้นเป็นจำนวนมาก มีอาการปากบวม ตาบวม มีไข้สูง มีอาการปวดท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง ไม่อยากอาหาร อาเจียน ฯลฯ ลักษณะอาการเหล่านี้ถือว่าผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์ทันที

ไม่มีอาการไออย่าชะล่าใจ คุณอาจกำลังเป็นวัณโรคอยู่ก็ได้โดยไม่รู้ตัว

สุดท้ายนี้ที่หมออยากฝากเอาไว้ก็คือ การตรวจสุขภาพประจำปีคือสิ่งที่ช่วยเราคัดกรองให้ปลอดภัยจากวัณโรคได้ เพราะจริงๆ แล้ววัณโรคไม่ได้มีแค่แบบที่แสดงอาการอย่างเดียว แต่มีแบบที่ไม่แสดงอาการด้วย ซึ่งปัจจุบันพบได้บ่อยมาก คือไม่ได้ไอ ไม่ได้มีไข้ ไม่ได้มีอาการอะไรเลย แต่มีวัณโรคอยู่ในปอด ซึ่งแบบนี้ไม่เพียงเป็นอันตรายกับตัวเองเท่านั้น แต่ยังทำให้เรายังกลายเป็นคนที่แพร่เชื้อไปสู่คนอื่นๆ โดยไม่รู้ตัวอีกด้วย ซึ่งแม้วัณโรคจะรักษาหายได้ แต่เมื่อเป็นแล้วไม่รู้ ไม่ได้รับการรักษา ก็จะก่อให้เกิดการแพร่กระจาย ซึ่งจะยิ่งทำให้วิกฤตวัณโรคนั้นควบคุมได้ยากมากขึ้น ดังนั้น การตรวจสุขภาพ การเอกซเรย์ปอด จึงเป็นสิ่งที่เราไม่ควรมองข้าม เพราะหากเราป่วยเป็นวัณโรคก็จะช่วยให้ตรวจพบและรักษาหายได้เร็ว ไม่เป็นอันตรายต่อคนใกล้ชิดในครอบครัว และถือเป็นการช่วยควบคุมการแพร่กระจายของวัณโรคไปด้วยพร้อมๆ กัน ซึ่งส่งผลต่อต่อสังคมทั้งประเทศ

เครดิตแหล่งข้อมูล : phyathai.com


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์