กินแต่อาหารกระป๋อง ได้สารอาหารเพียงพอไหม


กินแต่อาหารกระป๋อง ได้สารอาหารเพียงพอไหม

ร้านค้าปลีกและห้างสรรพสินค้าหลายรายออกมาเตือนว่าการที่อังกฤษแยกทางจากสหภาพยุโรปแบบไร้ข้อตกลง อาจนำไปสู่การขาดแคลนอาหารชั่วคราว และคนบางส่วนได้เริ่มกักตุนอาหารกระป๋องเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว

รัฐบาลระบุว่า ปริมาณอาหารจะเพียงพอไม่ว่าจะออกจากสหภาพยุโรปโดยมีหรือไม่มีข้อตกลงก็ตาม

แต่จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าคุณไม่กินผักหรือผลไม้สดเลย และกินแต่อาหารกระป๋องเพียงอย่างเดียว?

ในปี 2017 แอนดี ทวิกก์ จากบีบีซี เรดิโอ เดอร์บี ทดสอบตัวเองให้กินแต่อาหารกระป๋องเป็นเวลา 1 สัปดาห์

"จริง ๆ แล้ว ผมทำมันเล่น ๆ"

"ผมชอบมันฝรั่งกระป๋อง และถั่วลันเตากระป๋องมาก ผมเลยสงสัยว่า จะเป็นยังไงถ้ากินแต่อาหารกระป๋องสักพักหนึ่ง ผมเลยตั้งเป้าไว้ที่ 1 สัปดาห์ ผมคิดว่า ก็ไม่น่าจะยาก"


เขาเกือบจะทำมันสำเร็จ แต่ก็ล้มเลิกในวันที่ 7 อะไรทำให้เขาตบะแตก นั่นก็คือ อาหารประเภทย่าง ที่คนอังกฤษมักรับประทานในวันอาทิตย์

"ผมทำมาได้ 6 วัน กินแม้กระทั่งกะหล่ำดาว (Brussels sprout) กระป๋อง!"

"ผมกินพาย เฟรย์ เบนโตส มันอร่อยมาก แต่แล้วก็เบื่อ แม้ว่าร่างกายผมสบายดี ไม่ได้อ่อนแรง หรืออะไร" เขาบอกว่า เขาไม่แน่ใจว่า สิ่งที่เขาทำ "ถูกหลักโภชนาการ" หรือไม่ เพราะเขากินเช่นนี้เพียงแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ และแอนดีก็ไม่ได้สอบถามนักโภชนาการด้วย

นี่คือสิ่งที่ผู้คนจำนวนมากคิดเกี่ยวกับอาหารกระป๋อง

โภชนาการน้อย?
การบรรจุกระป๋อง ทำให้ต้องห่อหุ้มและถนอมอาหารด้วยการใช้แรงดันที่อุณหภูมิสูงมาก ส่งผลให้สารอาหารบางอย่างถูกทำลาย ไม่ต่างกับการทำอาหารปกติ

ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมอาหารกล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ คนจึงมักคิดว่าอาหารกระป๋องมีสารอาหารน้อยกว่าผักและผลไม้สด แต่นั่นก็ไม่เสมอไป

กินแต่อาหารกระป๋อง ได้สารอาหารเพียงพอไหม

บริดเจ็ต เบเนลัม เป็นนักวิทยาศาสตร์โภชนาการที่มูลนิธิโภชนาการอังกฤษ (British Nutrition Foundation)

เธอบอกว่า "พูดโดยทั่วไป อาหารกระป๋องที่คุณกินได้มีอยู่หลากหลายมาก ตั้งแต่ผลไม้, ผัก, มันฝรั่ง และเมล็ดพืช ไปจนถึงปลา และอาหารกระป๋องพร้อมรับประทานอย่าง ซุป, ถั่วอบ หรือ พริก

"บางอย่างก็มีโภชนาการมาก บางอย่างก็มีน้อย ยกตัวอย่าง ปลาที่มีไขมันมากบรรจุกระป๋อง อย่างแซลแมน ดีต่อสุขภาพ ถั่วและเมล็ดพืชต่าง ๆ อย่างถั่วชิกพีและถั่วเลนทิล ก็เป็นแหล่งโปรตีนและใยอาหารชั้นดีแต่มีไขมันต่ำ"

"โชคร้าย ไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบสารอาหารมากนักระหว่างอาหารกระป๋อง กับอาหารสด หรือแช่แข็ง"

เธอกล่าวว่า สารอาหารหลักที่อาจเสียหรือลดลงในกระบวนการบรรจุกระป๋องคือ วิตามินที่ละลายในน้ำบางชนิด ซึ่งไม่สามารถสะสมไว้ในร่างกายได้ และมีความสำคัญต่อสุขภาพผิว, หลอดเลือดและกระดูก และระบบประสาท"

วิตามินที่เสียไป
นักวิจัยได้พยายามวัดวิตามินที่เสียไปโดยเปรียบเทียบกันระหว่างผลไม้และผักสด, แช่แข็ง และบรรจุกระป๋อง โดยพบว่า แม้ว่าอาหารแช่แข็งสูญเสียสารอาหารน้อยกว่า ในช่วงแรกที่ถูกบรรจุหีบห่อ แต่เมื่อนำกลับมาต้มที่บ้าน ก็สูญเสียสารอาหารไปในปริมาณที่ใกล้เคียงกับอาหารกระป๋อง

เช่นเดียวกัน แม้ว่าผักและผลไม้ที่เก็บมาสด ๆ และยังไม่ผ่านการปรุง จะมีสารอาหารจำนวนมาก แต่มันก็จะค่อย ๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป แม้ว่าคุณจะเก็บผักและผลไม้ไว้ในตู้เย็นก็ตาม

บริดเจ็ต กล่าวว่า "อาหารกระป๋อง อาจจะสูญเสียสารอาหารบางอย่างไปอย่างเช่นวิตามินซีและไทอามีน ซึ่งอาจสูญเสียได้ขณะทำอาหาร แต่เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่ คงขึ้นอยู่กับการกินอาหารโดยรวม"

"ในทางโภชนาการ มันอาจจะไม่เป็นไร ตราบเท่าที่คุณกินอาหารที่หลากหลาย ที่ฉันห่วงคือ ความจำเจ รสสัมผัสที่น่าเบื่อ อาหารอาจจะถูกอัดเข้าด้วยกันเมื่อถูกบรรจุกระป๋อง คุณคงไม่สามารถหาสลัดกระป๋องได้ เพราะฉะนั้นคุณจะต้องมั่นใจว่ากินอาหารที่หลากหลายมากพอ"

เมื่อต้องเลือก อะไรคือสิ่งที่ต้องระวัง

ซื้ออะไร
แฟรงกี ฟิลิปส์ นักโภชนาการ จากสมาคมโภชนาการอังกฤษ (British Dietetic Association) เห็นด้วยว่า การกินที่หลากหลายคือเรื่องสำคัญ

"คุณคงไม่มีปัญหาอะไรในช่วง 2-3 วัน แต่การกินอาหารกระป๋องอาจทำได้จำกัดในระยะยาว คุณคงจะต้องค่อนข้างระมัดระวังว่า ควรเลือกกินอาหารกระป๋องแบบไหน

เครื่องปรุงอย่างเกลือ, น้ำตาล และไขมัน บางครั้งก็ถูกเติมลงในอาหารแปรรูปต่าง ๆ เพื่อช่วยเพิ่มรสชาติให้น่าดึงดูดใจมากขึ้น


นั่นหมายความว่า คุณอาจจะได้อาหารมากกว่าปริมาณที่แนะนำ และรับแคลอรีเข้าไปมากกว่าที่ต้องการ "นี่คือจุดที่คุณอาจจะล้มเหลวในแง่ของโภชนาการ" แฟรงกี กล่าว

กินแต่อาหารกระป๋อง ได้สารอาหารเพียงพอไหม

ยกตัวอย่างเช่น ผลไม้บรรจุกระป๋องที่แช่ในน้ำเชื่อมจะมีน้ำตาลมาก ส่วนผักในน้ำเกลือมักเค็ม

แต่น้ำผักและน้ำผลไม้บรรจุกระป๋องถือเป็นรายการอาหารที่ควรบริโภคทุกวัน

แฟรงกี กล่าวว่า "อาหารหมู่หลักส่วนใหญ่ อย่าง โปรตีน, คาร์โบไฮเดรต, ควรจะหาซื้อได้ง่าย ผลิตภัณฑ์นมอาจจะยากขึ้นสักหน่อย"

"เรื่องที่ผมกังวลเรื่องหนึ่งคือ เนื้อกระป๋อง ที่ค่อนข้างเค็ม จากวิธีที่ใช้ในการเก็บรักษา"

แฟรงกี กล่าวว่า "ฉลากสารอาหารบนกระป๋องจะช่วยบอกคุณ" คำแนะนำสำหรับผู้ใหญ่คือ

ไขมันรวม - สูง: ไขมันมากกว่า 17.5 กรัม ต่อปริมาณ 100 กรัม, ต่ำ: ไขมัน 3 กรัม หรือน้อยกว่า ต่อปริมาณ 100 กรัม

ไขมันอิ่มตัว - สูง: ไขมันอิ่มตัวมากกว่า 5 กรัม ต่อปริมาณ 100 กรัม, ต่ำ: ไขมันอิ่มตัว 1.5 กรัม หรือน้อยกว่า ต่อปริมาณ 100 กรัม

น้ำตาล - สูง: น้ำตาลรวมมากกว่า 22.5 กรัม ต่อปริมาณ 100 กรัม, ต่ำ: น้ำตาลรวม 5 กรัม หรือน้อยกว่า ต่อปริมาณ 100 กรัม

เกลือ - สูง: เกลือมากกว่า 1.5 กรัม ต่อปริมาณ 100 กรัม (หรือโซเดียม 0.6 กรัม), ต่ำ: เกลือ 0.3 กรัม หรือน้อยกว่า ต่อปริมาณ 100 กรัม (หรือโซเดียม 0.1 กรัม)
แต่ยังมีข้อควรพิจารณาอื่น ๆ อีก รวมถึงความปลอดภัยด้านอาหาร

เก็บอาหารเหลือไว้ในตู้เย็นดีไหม?
กระป๋องทำมาจากเหล็ก เคลือบด้วยดีบุกหรือโครเมียมออกไซด์ เพื่อกันไม่ให้เป็นสนิม ส่วนการบรรจุอาหารที่มีความเป็นกรดอย่าง มะเขือเทศ

ต้องมีการเคลือบบาง ๆ ที่ด้านในกระป๋องด้วยผู้เชี่ยวชาญความปลอดภัยด้านอาหารแนะนะว่า เมื่อเปิดอาหารกระป๋อง แล้วใช้ไม่หมดในคราวเดียว ควรเทอาหารใส่ชาม หรือภาชนะอื่น แล้วนำเข้าตู้เย็น

กินแต่อาหารกระป๋อง ได้สารอาหารเพียงพอไหม

ไม่ควรเก็บอาหารไว้ในกระป๋องที่เปิดแล้ว หรือนำกระป๋องนั้นไปใช้เก็บอาหารหรือปรุงอาหารอื่น ๆ ต่อ เพราะว่าเมื่อกระป๋องถูกเปิดแล้ว อาหารจะสัมผัสกับอากาศ ดีบุกจากกระป๋องอาจจะซึมเข้าอาหารในกระป๋องได้เร็วกว่าเดิม

คำแนะนำนี้ไม่ได้ใช้กับอาหารกระป๋องที่มีฝาปิด อย่าง น้ำเชื่อม และโกโก้ เพราะอาหารประเภทนี้ไม่ทำปฏิกิริยากับกระป๋อง

หน่วยงานกำกับความปลอดภัยด้านอาหารของสหรัฐฯ มีคำแนะนำเพิ่มเติม:

ใส่ใจวันหมดอายุ - ตรวจสอบครัวทุก ๆ 2-3 สัปดาห์ และใช้อาหารกระป๋องที่มีก่อน อาหารที่มีความเป็นกรดสูงอย่าง มะเขือเทศ, สับปะรด และของดอง จะเก็บไว้ได้นาน 12-18 เดือน อาหารที่มีความเป็นกรดต่ำอย่าง สปาเกตตี, มันฝรั่ง และถั่ว จะเก็บได้ 2-5 ปี

ระวังกระป๋องที่เสียหาย - ถ้ากระป๋องที่บรรจุอาหารมีรอยบุ๋ม แต่ไม่พบความผิดปกติอื่น อาหารน่าจะปลอดภัยสำหรับรับประทาน ส่วนกระป๋องที่ฝาบวม, หรือมีรอยบุ๋ม และรั่ว เป็นสัญญาณของการเน่าเสีย เมื่อเปิดกระป๋อง ให้ตรวจดูว่ามีความผิดปกติอื่น ๆ หรือไม่ อย่างเช่น ของเหลวที่ทะลักออกมา, กลิ่นเหม็น หรือเชื้อรา อย่าชิมหรือใช้อาหารกระป๋องเหล่านี้ ให้นำไปทิ้งทันที

เวลาเปิดกระป๋อง ได้ยินเสียง "ฟู่" ถือเป็นเรื่องปกติหรือไม่? - กระป๋องบางอย่างอาจมีเสียงฟู่ เพราะว่าถูกบรรจุในสุญญากาศ และเสียงนั้นเกิดจากแรงกดอากาศ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตาม ถ้ากระป๋องมีเสียงดังผิดปกติเวลาเปิด หรือสิ่งที่อยู่ภายในทะลักออกมาอย่างแรงเวลาเปิด อาจจะเป็นข้อบ่งชี้ว่า อาหารนั้นเน่าเสีย และควรทิ้ง

แล้วเรื่องสารเคมีล่ะ
ผู้คนบางส่วนกังวลว่า กระป๋องอาจมีสารเคมีอันตรายอยู่ รวมถึงสารที่ชื่อว่า บิสฟีนอล เอ (Bisphenol A) หรือ BPA

BPA ถูกใช้ผลิตพลาสติกเป็นหลัก รวมถึงภาชนะหลายชนิดที่ใช้ใส่อาหาร แต่มันยังถูกใช้เคลือบด้านในกระป๋องบรรจุอาหารและเครื่องดื่มด้วย

หน่วยงานมาตรฐานอาหารของสหราชอาณาจักร ได้ตรวจสอบสาร BPA และระบุว่า ระดับของสาร BPA ที่คนบริโภคเข้าไปไม่ถึงขั้นที่เป็นอันตราย

หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารของยุโรป ยังได้ประเมินเรื่องนี้ และระบุว่า การรับสาร BPA จากการกินอาหารกระป๋อง "ไม่ได้ทำให้เกิดข้อกังวลด้านสุขภาพต่อคนทุกกลุ่มอายุ"

โครงการพิษวิทยาแห่งชาติของสหรัฐฯ (US National Toxicology Programme) กำลังทำการศึกษาระยะยาวเกี่ยวกับ BPA อยู่ โดยศึกษาผลกระทบในหนูที่รับสารนี้ ก่อนและหลังออกลูก เพื่อดูว่า มีความเชื่อมโยงกับโรคต่าง ๆ อย่างมะเร็ง หรือไม่ คาดว่า จะมีการออกรายงานฉบับสุดท้ายในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีนี้

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอาหารกระป๋อง

ว่ากันว่า ประวัติศาสตร์ของการบรรจุกระป๋องเริ่มต้นจากจักรพรรดินโปเลียน เชื่อกันว่า พระองค์ทรงเสนอพระราชทานเงิน 12,000 ฟรังก์ให้แก่ผู้ใดก็ตามที่สามารถหาวิธีป้องกันเสบียงอาหารของกองทัพจากการเน่าเสีย จักรพรรดินโปเลียนพระราชทานเงินรางวัลนี้ให้แก่ นิโคลาส์ อัปเพิร์ต ซึ่งคิดค้นกระบวนการบรรจุเนื้อสัตว์และสัตว์ปีกในขวดแก้ว แล้วปิดด้วยจุกไม้ก๊อก จากนั้นนำไปแช่ในน้ำเดือด

ต่อมาไม่นาน อังกฤษรู้ความลับทางทหารนี้ ปีเตอร์ ดูแรนด์ ได้จดสิทธิบัตรการใช้ภาชนะโลหะสำหรับบรรจุกระป๋องในปี 1810

ปัจจุบัน ผู้คนในสหราชอาณาจักรยังคงชื่นชอบอาหารกระป๋อง จากข้อมูลของ Kantar Worldpanel กลุ่มวิจัยผู้บริโภค ระบุว่า ผู้คนในสหราชอาณาจักรใช้เงินซื้ออาหารกระป๋องมากกว่า 500 ล้านปอนด์ หรือราว 2 หมื่นล้านบาท ในช่วง 12 สัปดาห์ก่อนถึงวันที่ 30 ธ.ค. 2018 ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะคนในสหราชอาณาจักรมักซื้อผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋องในช่วงฤดูหนาวมากกว่าในฤดูร้อน

การศึกษาผู้ใหญ่ 2,000 คน ซึ่งจัดทำโดยสมาคมผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์โลหะ พบว่า โดยเฉลี่ย ผู้ใหญ่ 1 คน มีอาหารกระป๋องเก็บไว้ 16 กระป๋อง และกินอาหารกระป๋องอย่างน้อย 3 มื้อใน 1 สัปดาห์

ถั่วอบได้ชื่อว่าเป็นอาหารกระป๋องยอดนิยมที่สุดที่มีการใช้ในการประกอบอาหาร ตามมาด้วยมะเขือเทศกระป๋อง, ซุป, ปลา อย่างทูนาและแซลมอน และผักอื่น ๆ อย่างข้าวโพดหวาน

เครดิตแหล่งข้อมูล : bbc.com/thai

กินแต่อาหารกระป๋อง ได้สารอาหารเพียงพอไหม

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์