‘ไทรอยด์เป็นพิษ’ กระทบร่างกายเกือบทุกระบบ สังเกตสัญญาณเตือนของโรค


‘ไทรอยด์เป็นพิษ’ กระทบร่างกายเกือบทุกระบบ สังเกตสัญญาณเตือนของโรค

ไทรอยด์เป็นพิษ กระทบร่างกายเกือบทุกระบบ สังเกตสัญญาณเตือนของโรค เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที

"ไทรอยด์" เป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย อยู่บริเวณส่วนหน้าของลำคอ ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ และหลั่งเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อไปออกฤทธิ์ตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย อย่างไรก็ตาม การสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ จำเป็นต้องใชไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ หากได้ไอโอดีนมากหรือน้อยเกินไป อาจทำให้ไทรอยด์ทำงานผิดปกติ และส่งผลกระทบต่ออวัยวะแทบทุกระบบในร่างกาย

หน้าที่สำคัญของไทรอยด์ฮอร์โมน

• เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของร่างกาย และอวัยวะต่าง ๆ
• สัมพันธ์กับการทำงานของสมองและระบบประสาท รวมถึงภาวะด้านอารมณ์
• เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญของร่างกาย การควบคุมอุณหภูมิ
• เกี่ยวข้องกับการทำงานของอวัยวะหลายชนิด เช่น กล้ามเนื้อ หัวใจ และกระดูก
ทั้งนี้ หากร่างกายมีภาวะระดับฮอร์โมนสูงกว่าปกติ จะไปกระตุ้นให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานมากขึ้น ภาวะนี้เรียกว่า "ไทรอยด์เป็นพิษ" ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

"ไทรอยด์เป็นพิษ" มีอาการแสดงอย่างไร?

ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการแสดงที่แตกต่างกันไป บางรายไม่มีอาการแสดง บางรายอาการชัดเจน และอาจรุนแรงถึงขั้นวิกฤติ เนื่องจากฮอร์โมนไทรอยด์กระตุ้นการทำงานของร่างกายหลายระบบ จึงมีอาการได้หลากหลาย ดังนี้

• ระบบหัวใจและหลอดเลือด: เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจถึงขั้นหัวใจล้มเหลว
• ระบบประสาท: มือสั่น หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ขาดสมาธิ
• ระบบผิวหนัง: เหงื่อออกมาก ผิวชื้น ผมร่วง ศีรษะล้าน หนังหนาบริเวณหน้าแข้ง นิ้วปุ้ม เล็บกร่อน
• ระบบตา: ตาโตขึ้น เปลือกตาเปิดกว้าง หรืออาจตาโปน
• ระบบทางเดินอาหาร: หิวบ่อย ถ่ายบ่อย ถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียน
• ระบบเผาผลาญ: น้ำหนักตัวลดแม้ทานปกติหรือทานมาก ตัวอุ่นขึ้น
• ระบบสืบพันธุ์: ประจำเดือนมาผิดปกติ กระปริดกระปรอย ประจำเดือนขาด มีบุตรยาก
• ระบบกล้ามเนื้อ: อ่อนแรง มือสั่น
• คอ: คอโต บางรายอาจมีก้อนที่ไทรอยด์
สาเหตุที่ทำให้ไทรอยด์เป็นพิษ
• ไทรอยด์สร้างฮอร์โมนมากขึ้น
• ไทรอยด์อักเสบ จึงปล่อยฮอร์โมนที่เก็บไว้ออกมามาก
• ได้รับฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินขนาด จากยา หรือผสมในอาหารเสริมบางชนิด
• การรับประทานยาบางชนิด
• ภาวะแพ้ท้องรุนแรง หรือเนื้องอกรังไข่สร้างฮอร์โมนไทรอยด์มาก
• เนื้องอกต่อมใต้สมอง สร้างฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ แต่พบได้น้อยมาก
การรักษาไทรอยด์เป็นพิษ

สามารถรักษาได้ด้วยการให้ยายับยั้งการสร้างฮอร์โมนต่อมไทรอยด์ กลืนน้ำแร่รังสี หรือการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม การเลือกวิธีการรักษา ขึ้นอยู่กับอาการ ความรุนแรง และโรคประจำตัวของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป

ดูแลตนเองอย่างไรหากไทรอยด์เป็นพิษ
ผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษควรพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจติดตามอาการ และรับประทานยาสม่ำเสมอ ไม่หยุดยาเอง งดการสูบบุหรี่ เลี่ยงรับประทานอาหารที่มีไอโอดีนสูง วางแผนการคุมกำเนิด ไม่ควรตั้งครรภ์ขณะไทรอยด์เป็นพิษ หรือหากมีอาการผิดปกติ อาการไทรอยด์กำเริบ ควรพบแพทย์อย่างทันท่วงที

Cr:::amarintv.com


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์