“โรคหลอดเลือดสมอง” ภัยเงียบที่ทุกคนควรรู้จัก!


“โรคหลอดเลือดสมอง” ภัยเงียบที่ทุกคนควรรู้จัก!

     โรคหลอดเลือดสมองคือภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตกส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย การทำงานของสมองหยุดชะงัก  ซึ่งคนส่วนใหญ่กว่า 80 % เป็นชนิดหลอดเลือดสมองตีบและอุดตัน (Ischemic stroke) และอีกประมาณ 20 % เป็นหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke)

สาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองตีบและอุดตันเกิดจาก
  1. หลอดเลือดแดงตีบตันเนื่องจากมีการสะสมของไขมันที่ผนังหลอดเลือด เกิดจากโรคความดันสูง,ไขมัน,เบาหวาน

  2. เกิดจากมีลิ่มเลือด (ส่วนใหญ่มาจากหัวใจ) อุดหลอดเลือดแดงที่สมอง เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

  3. สาเหตุอื่นๆ เช่น โรคเลือดแข็งตัวผิดปกติ, หลอดเลือดแดงอักเสบ, การติดเชื้อ, ยาเสพติด  
ปัจจัยเหล่านี้เสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง
  1. ความดันโลหิตสูง

  2. ภาวะไขมันในเลือดสูง

  3. โรคเบาหวาน

  4. โรคหัวใจ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ, ลิ้นหัวใจผิดปกติ

  5. การสูบบุหรี่และการดื่มสุรา

  6. อายุที่มากขึ้น
อาการของโรคหลอดเลือดสมอง
  1. อ่อนแรงหรือชาครึ่งซีกของร่างกาย

  2. เวียนศีรษะ บ้านหมุน เดินลำบาก

  3. ปวดศีรษะรุนแรงเฉียบพลัน

  4. ตามัว เห็นภาพซ้อน มองไม่เห็น

  5. พูดไม่ชัด นึกคำพูดไม่ออก ไม่เข้าใจคำพูด
โดยอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันทันทีทันใด หากพบความผิดปกติเหล่านี้ อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณอันตรายของโรคหลอดเลือดสมองได้

การตรวจวินิจฉัยโรคนั้นทำได้หลายวิธี ดังนี้
  1. การตรวจเลือด ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจระดับน้ำตาลและไขมัน ตรวจการแข็งตัวของเลือดเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของโรค

  2. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

  3. การตรวจด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์ ได้แก่ การตรวจหลอดเลือดที่คอ การตรวจหลอดเลือดในสมอง การตรวจหัวใจ

  4. การตรวจทางรังสี ได้แก่ การตรวจสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Brain)  การตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Brain)
โรคหลอดเลือดสมองรักษาอย่างไร?

สำหรับการรักษานั้นขึ้นอยู่กับชนิด ความรุนแรง และระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการ ยิ่งเข้ารับการรักษาเร็วเท่าไร ความพิการและอัตราการตายจะลดลงมากเท่านั้น    

โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน รักษาเร็ว..ยิ่งหายเร็ว

หากผู้ป่วยพบความผิดปกติ และรีบมาโรงพยาบาลภายในระยะเวลาไม่เกิน 4.5 ชั่วโมงหลังมีอาการ แพทย์จะให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ (rtPA : recombinant tissue plasminogen  activator ) เพื่อรักษา นอกจากนี้ยังมีการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดระยะเฉียบพลันที่เกิดจากหลอดเลือดสมองเส้นหลักอุดตันด้วยการรักษาผ่านสายสวนหลอดเลือด (Mechanical thrombectomy) ซึ่งแพทย์ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย 

ปรับพฤติกรรมลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
  1. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

  2. ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม

  3. ตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง

  4. ควบคุมระดับความดันโลหิต ไขมัน และน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

  5. รับประทานอาหารที่ประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน มัน เค็ม

  6. งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

  7. หากมีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ควรรีบมาพบแพทย์ แม้ว่าอาการเหล่านั้นจะหายได้เองเป็นปกติ

  8. ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองแล้วจะมีโอกาสเป็นซ้ำได้ ในกรณีที่เป็นชนิดตีบหรืออุดตันแพทย์จะรักษาโดยให้กินยาต้านเกล็ดเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ผู้ป่วยต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและไม่ควรหยุดยาเอง
การป้องกันเป็นการรักษาโรคหลอดเลือดสมองที่ดีที่สุด ทุกคนสามารถทำได้ด้วยการเริ่มต้นดูแลเอาใจใส่สุขภาพของตนเอง หมั่นตรวจสุขภาพและควบคุมปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคและสำหรับกรณีของผู้ที่เคยมีอาการหลอดเลือดสมอง ควรรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อช่วยลดโอกาสการเกิดซ้ำ


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์