นอนไม่อิ่มอย่าวางใจ Sleep Test วินิจฉัยป้องกันภัยถึงชีวิต


นอนไม่อิ่มอย่าวางใจ Sleep Test วินิจฉัยป้องกันภัยถึงชีวิต

ความรู้สึกนอนไม่เต็มอิ่ม ไม่สดชื่นหลังตื่นนอน ง่วงตอนกลางวัน ขับรถหลับใน สมาธิสั้น อาจเป็นอาการสัญญาณเตือนของผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน โดยอาจเป็นผลมาจากภาวะนอนกรน หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ไม่เข้ารับการตรวจวินิจฉัย ก็จะทำให้เสี่ยงอันตราย ยิ่งถ้าเป็นผลมาจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับด้วยแล้ว การปล่อยให้อาการรุนแรงขึ้น ก็ส่งผลเสียต่อหัวใจจนอาจก่อให้เกิดภาวะขาดออกซิเจน หรือหัวใจล้มเหลวขณะหลับจนถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว ทั้งนี้ การจะทราบได้ว่าเรามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ รุนแรงแค่ไหน สามารถให้แพทย์ตรวจได้ด้วยการทำ Sleep Test

Sleep Test คืออะไร มีวิธีการทำอย่างไรบ้าง?

Sleep Test คือ การตรวจการนอนหลับ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ตรวจในกลุ่มผู้ป่วยที่มาปรึกษาแพทย์ด้วยภาวะนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อันเนื่องมาจากมีอาการนอนไม่เต็มอิ่ม ไม่สดชื่นหลังตื่นนอน จนทำให้มีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน การตรวจจะทำให้ทราบได้ว่าผู้ป่วยมีภาวะนอนกรนหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับกันแน่ โดยหลักการและแนวทางในการทำ Sleep Test นั้น มีรายละเอียดดังนี้

*การตรวจ Sleep Test จะมีการตรวจคลื่นสมอง เพื่อดูว่าอยู่ในภาวะใดขณะหลับ หลับลึก หลับตื้นหรือถึงเข้าระดับฝัน มีการตรวจคลื่นหัวใจดูว่าเต้นช้า เต้นเร็ว เต้นผิดจังหวะ หรือหยุดเต้นหรือไม่ รวมถึงมีการตรวจคลื่นกล้ามเนื้อร่วมด้วยว่ามีการชัก เกร็ง กระตุก หรือเป็นลมชักหรือไม่ เพราะผู้ป่วยบางรายก็เป็นลมชักขณะหลับได้

*การตรวจ Sleep Test จะทำให้ทราบการทำงานของระบบทางเดินหายใจ ตรวจว่าเวลานอนหลับ มีลมหายใจออกทางจมูกดีหรือไม่ ซึ่งถ้าพบว่ามีลมหายใจออกทางปากอย่างเดียวหรือมากผิดปกติ ก็แสดงว่าจมูกมีปัญหา เช่น อาจเป็นภูมิแพ้จมูก ผนังกั้นจมูกคด จมูกบวม ตลอดจนตรวจทราบได้ว่าลักษณะการหายใจขณะหลับของเรานั้น อกขยับหรือไม่ ท้องขยับหรือไม่ และเรามีการหยุดหายใจกี่ครั้งขณะหลับ ช่วงเวลาไหนบ้าง มีความถี่มากน้อยเท่าไร รวมถึงหยุดหายใจในขณะที่นอนตะแคง นอนหงาย หรือว่านอนคว่ำมากกว่ากัน

*โดยปกติสำหรับคนทั่วไป จะมีค่าการหยุดหายใจอยู่ที่ไม่เกิน 5 ครั้งต่อชั่วโมง หากตรวจ Sleep Test แล้วพบว่ามีค่าการหยุดหายใจน้อยกว่า 5 ครั้ง จะหมายถึงการมีภาวะนอนกรน แต่หากค่าการหยุดหายใจมีมากเกิน 5 ครั้งต่อชั่วโมง จะหมายถึงการมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

*หากตรวจ Sleep Test แล้วพบว่า มีค่าการหยุดหายใจอยู่ระหว่าง 5-15 ครั้งต่อชั่วโมง จะถือว่าอยู่ในภาวะหยุดหายใจระดับเล็กน้อย แต่หากค่าการหยุดหายใจอยู่ระหว่าง 15-30 ครั้งต่อชั่วโมง จะถือว่าอยู่ในระดับรุนแรงปานกลาง และหากค่าการหยุดหายใจเกิน 30 ครั้งต่อชั่วโมงขึ้นไป จะอยู่ในระดับรุนแรงมาก ซึ่งภาวะการหยุดหายใจในระดับปานกลางถึงรุนแรงนั้น อาจส่งผลต่อหัวใจ ทำให้เกิด Heart Attack ขาดออกซิเจนขณะหลับจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

*ก่อนทำการตรวจ Sleep Test ผู้ป่วยต้องไม่มีอาการป่วย ไม่เป็นหวัด ไม่มีการติดเชื้อในช่องคอ และในระหว่างการทำ Sleep Test หากรู้สึกว่านอนไม่หลับ ควรแจ้งแพทย์หรือพยาบาล เพื่อรับยานอนหลับ เพราะหากไม่หลับ จะไม่สามารถทำการตรวจ Sleep Test ได้ ทั้งนี้ ระยะเวลาในการตรวจ Sleep Test อาจเป็น 1 คืน หรือ 2 คืนก็ได้ ขึ้นอยู่กับอาการของคนไข้แต่ละราย

เพราะเหตุใด จึงนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ?
สาเหตุหลักๆ ของภาวะนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เกิดจากสรีระร่างกายของคนที่แตกต่างกัน เช่น คนไข้บางรายมีช่องปากแคบ ต่อมทอลซิลโต เพดานหย่อน โคนลิ้นโต ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับได้มากกว่า เพราะสรีระดังกล่าวจะมีผลต่อการอุดกั้นทางเดินหายใจ หรือในบางกรณีก็จะเกิดจากจมูกและโครงหน้าที่มีความผิดปกติ เช่น เป็นภูมิแพ้ ผนังกั้นจมูกคด จมูกเบี้ยว ก็ทำให้หายใจลำบากได้ หรือคนที่มีคางสั้น โคนลิ้นก็จะดันไปด้านหลังมากกว่าปกติ ทำให้อุดกั้นทางเดินหายใจจนหายใจไม่สะดวก เป็นต้น ซึ่งการทำ Sleep Test จะเป็นการตรวจที่บอกได้ว่าเรามีภาวะนอนกรน หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และมีอาการรุนแรงแค่ไหน ต้องรักษาอย่างไรจึงจะเหมาะสม

รักษาอย่างไร เมื่อมีภาวะนอนกรนหรือหยุดหายใจขณะหลับ?

เมื่อเข้ารับการตรวจ Sleep Test แล้วพบว่ามีความผิดปกติ แนวทางในการรักษาสำหรับภาวะนอนกรนจะเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์เป็นหลัก เช่นลดน้ำหนัก เปลี่ยนพฤติกรรมการนอน ไม่นอนหงายเพราะจะทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจได้ง่าย หลีกเลี่ยงยาและเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยานอนหลับ ย่ากล่อมประสาท ยาแก้แพ้

สำหรับภาวะหยุดหายใจขณะหลับนั้น ในกรณีทำ Sleep Test แล้วพบว่ามีการหยุดหายใจเกิน 20 ครั้งต่อชั่วโมง แพทย์จะรักษาด้วยการใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพถึง 90-99% แต่คนไข้อาจจะไม่สะดวก และรู้สึกอึดอัดที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในขณะนอนหลับ จึงอาจเลือกรักษาด้วยการผ่าตัดก็ได้ ซึ่งก็สามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และโครงสร้างความผิดปกติของโครงหน้า จมูก และปากของแต่ละคน อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยการใช้เครื่องช่วยหายใจหรือการผ่าตัด ก็ต้องทำควบคู่กันไปกับการลดน้ำหนักและการออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงมากขึ้นซึ่งส่งผลต่อการรักษาที่จะได้ประสิทธิภาพมากขึ้น

หากพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการนอนกรนเสียงดัง รู้สึกนอนไม่อิ่ม ไม่สดชื่นหลังตื่นนอน สมาธิสั้น และง่วงกลางวันติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ไม่หาย อาจเป็นไปได้ว่าเราหรือคนใกล้ชิดมีภาวะนอนกรนหรือหยุดหายใจขณะหลับ ควรรีบเข้ามารับคำปรึกษาจากแพทย์ ทำการตรวจ Sleep Test เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ อันนำไปสู่การวางแผนการรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงมากขึ้น จนนำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ และอันตรายถึงชีวิตจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

เครดิตแหล่งข้อมูล : phyathai


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์