ดูแลสุขภาพอย่างไรเมื่อเกิดวิกฤตหมอกควัน


ดูแลสุขภาพอย่างไรเมื่อเกิดวิกฤตหมอกควัน

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะวิธีป้องกันปัญหาหมอกควัน รวมถึงการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยเป็นพิเศษ เพื่อให้การดำเนินชีวิตเป็นไปด้วยความปลอดภัย

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า หมอกควันเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และยังบดบังทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทาง ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะวิธีป้องกันปัญหาหมอกควันและวิธีปฏิบัติตนเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาหมอกควัน ดังนี้

การป้องกันปัญหาหมอกควัน โดยไม่ประกอบกิจกรรมที่เพิ่มปริมาณหมอกควัน อาทิ เผาขยะ จุดธูปเทียน เพราะทำให้สถานการณ์หมอกควันรุนแรงมากขึ้น หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมที่ทำให้เกิดไฟป่า โดยไม่เผาวัสดุทางการเกษตร ไม่จุดไฟหาของป่าหรือล่าสัตว์ รวมถึงไม่เผาวัชพืชหรือพงหญ้าแห้งเป็นทางเดินในป่า

เตรียมพื้นที่ทำการเกษตรโดยการฝังหรือไถกลบ หากจำเป็นต้องเผาวัชพืชและวัสดุทางการเกษตร ให้จัดทำแนวกั้นไฟล้อมรอบพื้นที่การเกษตร กำจัดขยะอย่างถูกวิธี โดยการฝังกลบหรือเผาในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด

หลีกเลี่ยงการเผาในที่โล่งแจ้ง โดยเฉพาะขยะประเภทสารพิษ ในส่วนของการปฏิบัติตนเพื่อลดผลกระทบจากหมอกควัน

ควรใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากหมอกควัน โดยสวมแว่นตาป้องกันการระคายเคืองตา สวมหน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ ปิดปากหรือจมูก ปิดประตูและหน้าต่างให้มิดชิด พร้อมใช้ผ้าชุบน้ำอุดตามช่องระบายอากาศเพื่อปิดกั้นฝุ่นละอองมิให้ลอยเข้ามาในบ้าน ลดหรืองดการประกอบกิจกรรมนอกบ้าน หากจำเป็นให้สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการสูดดมฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย

เพิ่มความระมัดระวังในการขับรถผ่านเส้นทางที่มีหมอกควันปกคลุม อาทิ ปิดไฟหน้ารถ ไฟตัดหมอก ไม่ขับรถเร็ว ไม่แซงหรือเปลี่ยนช่องทางกะทันหัน นอกจากนี้ ควรดูแลสุขภาพ

กรณีอาศัยในพื้นที่ประสบปัญหาหมอกควัน ไม่ควรออกกำลังกายและทำงานที่ต้องออกแรงมากในที่โล้งแจ้ง เพราะร่างกายจะสูดดมฝุ่นละอองเข้าไปในปริมาณมาก รวมถึงควรดูแลกลุ่มเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจและภูมิแพ้ไม่ให้เข้าไปอยู่ในบริเวณที่มีฝุ่นละอองหมอกควัน ตลอดจนจัดเตรียมยาที่จำเป็น อาทิ ยาสามัญประจำบ้าน ยาประจำตัว ที่สำคัญ ควรสังเกตอาการผิดปกติของร่างกาย หากมีอาการแน่นหน้าอกหรือหายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์

ทั้งนี้ การเรียนรู้การป้องกันปัญหาหมอกควันและวิธีปฏิบัติตนเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาหมอกควันอย่างถูกต้อง จะช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปด้วยความปลอดภัย

Cr:::สสส.


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์