รวม 5 วิถีชีวิตห่างไกลโรคหัวใจ ไม่อยากเป็นโรคหัวใจ ใช้ชีวิตอย่างไรดี


รวม 5 วิถีชีวิตห่างไกลโรคหัวใจ ไม่อยากเป็นโรคหัวใจ ใช้ชีวิตอย่างไรดี

1. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

เพราะสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหัวใจส่วนหนึ่งนั้น มักมาจากการอุดตันของไขมันในหลอดเลือด โดยมีปัจจัยมาจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง และไม่ออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงานส่วนเกินในร่างกายออกไป ดังนั้น การออกกำลังกายจึงเป็นตัวป้องกันการเกิดโรคหัวใจได้ดี

ซึ่งการออกกำลังกายในที่นี้ ไม่ได้หมายความถึงแค่การไปฟิตเนส การยกเวท หรือการวิ่งในสวนสาธารณะเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการออกแรงทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ในทุกๆ วันด้วย เช่น เดินไปทำงาน การขึ้นลงบันได การนั่งรถยนต์เป็นเวลานาน หรือการเคลื่อนไหวร่างกายระหว่างที่อยู่ในออฟฟิศด้วย เพราะการออกกำลังกายนั้น จะช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจมีสมรรถภาพทำงานได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัว ช่วยลดปัจจัยการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันได้

แต่หากพูดถึงคำว่า "การออกกำลังกาย" หลายคนก็อาจนึกไปถึงการใส่ชุดกีฬาเป็นทางการ การวิ่งบนลู่วิ่ง การเล่นเวทหนักๆ การเล่นโยคะในห้องสตูดิโอใหญ่ๆ หรือการเข้าฟิตเนสเพื่อปั่นจักรยานในคลาสกับเทรนเนอร์ แต่ความจริงแล้ว คุณสามารถออกกำลังได้ในระหว่างวันอย่างง่ายๆ แต่สม่ำเสมอได้ เพียงเท่านี้ คุณก็สามารถป้องกันโรคหัวใจได้แล้ว โดยมีเคล็ดลับต่อไปนี้



เปลี่ยนมาทำงานบ้านด้วยตนเอง:หลายคนอาจมีแม่บ้าน หรือมีสมาชิกในครอบครัวคอยดูแลทำความสะอาดบ้านให้ หลังจากนี้ให้คุณลองเปลี่ยนมาทำงานบ้านด้วยตนเองดูบ้าง เช่น ล้างห้องน้ำ กวาดบ้าน ดูดฝุ่น ล้างรถ คุณอาจไม่รู้ว่าการทำงานบ้านคือ การออกกำลังกายชั้นดีอย่างหนึ่งที่ดารานักแสดงหลายคนมักใช้เป็นเคล็ดลับเพื่อสุขภาพที่ดีและเพื่อดูแลรูปร่างให้ดูดีอย่างสม่ำเสมอ

ขยับเคลื่อนไหวระหว่างวันให้มากขึ้น: หนุ่มสาวชาวออฟฟิศหลายคนคงต้องนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เกือบทั้งวัน โดยไม่ได้เคลื่อนไหวไปไหน บางทีคุณอาจลองหาเวลาพักซัก 10-15 นาทีในการลุกออกไปเดิน หรือหาอะไรทำเพื่อเคลื่อนไหวร่างกายบ้าง หรือในระหว่างพักกลางวันก็อย่าอยู่นิ่งนั่งเล่นโทรศัพท์มือถือจนหมดชั่วโมงพัก แต่เปลี่ยนเป็นลองออกเดิน หรือขยับร่างกายให้พลังงานข้างในมีการเผาผลาญบ้าง หรือใครที่เดินทางมาทำงาน หรือกลับบ้านโดยต้องต่อรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างแทนการเดิน คุณอาจลองเปลี่ยนจากการต่อรถมาเป็นการเดินสัปดาห์ละ 2-3 วันก็ได้ เพื่อให้ร่างกายได้มีการเคลื่อนไหวบ้าง

เปลี่ยนจากการพักผ่อนอยู่กับที่เป็นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ: เคล็ดลับข้อนี้น่าจะเหมาะกับผู้ที่ไม่มีเวลาระหว่างวันมาออกกำลังหรือเคลื่อนไหวร่างกาย ถ้าอย่างนั้น ลองแบ่งเวลาช่วงเย็น หรือช่วงวันหยุดซัก 3-5 วันต่อสัปดาห์ ให้เป็นเวลาที่คุณจะได้ออกกำลังกายตามสวนสาธารณะ ฟิตเนส หรือคุณอาจออกกำลังกายได้ง่ายๆ เองที่บ้านโดยผ่านการดูจากคลิปวีดีโอบนอินเตอร์เน็ต ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกหลายช่องทาง แต่ระยะเวลาในการออกกำลังกายที่ดีควรอยู่ที่ประมาณ 30 นาทีขึ้นไป

มีความสม่ำเสมอ: ถึงแม้คุณจะมีเวลา มีเครื่องมือออกกำลังกาย มีเทรนเนอร์หรือแพทย์คอยให้คำแนะนำเรื่องการออกกำลังกายดีแค่ไหน แต่หากคุณมีไม่มีสม่ำเสมอและหนักแน่นในการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายต่างๆ ซึ่งไม่ใช่แค่โรคหัวใจก็ยังมีอยู่ และจะทำให้คุณไม่มีระเบียบวินัยในการเสริมความแข็งแรงให้ร่างกายอย่างต่อเนื่อง นี่เป็นอีกปัจจัยที่ยากต่อผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน นั่นคือ ชนะใจตนเองและไม่หาข้ออ้างที่ไม่ออกกำลังกายเมื่อถึงเวลา


2. ไม่บริโภคแอลกอฮอล์เยอะเกินไป
หลายครั้งที่การสังสรรค์และดื่มเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสพิเศษต่างๆ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก และเป็นที่ชื่นชอบสำหรับไลฟ์สไตล์ของใครหลายคน ซึ่งการบริโภคแอลกอฮอล์นั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิดร้ายแรงขนาดนั้น เพียงแต่คุณต้องรู้จักการจำกัดปริมาณการบริโภคให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และไม่ส่งผลต่อการทำงานของระบบในร่างกาย ซึ่งรวมไปถึงระบบการทำงานของหัวใจด้วย

เพราะเมื่อคุณบริโภคแอลกอฮอล์เข้าไป หัวใจจะต้องมีการสูบฉีดเลือดให้แรงและหนักขึ้น อีกทั้งแอลกอฮอล์ยังส่งผลให้ความดันโลหิตของคุณสูงขึ้นได้ด้วย เนื่องมาจากการไปทำลายหลอดเลือดหัวใจให้ตีบลง ซึ่งหากคุณยังคงบริโภคแอลกอฮอล์ซ้ำๆ ถี่ๆ จนเกินขีดจำกัดของตนเอง กล้ามเนื้อหัวใจก็จะเกิดการอักเสบจากการทำงานหนักมากเกินไป จนส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจบวมโต มีพังผืด เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน และหัวใจล้มเหลวได้

ทางที่ดี หากคุณเป็นผู้ที่เสพติดการบริโภคแอลกอฮอล์ คุณควรเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาแนวทางในการบำบัดเพื่อเลิกเสพติดการบริโภคแอลกอฮอล์ต่อไป เพราะนอกเหนือจากโรคเกี่ยวกับหัวใจแล้ว ยังมีโรคแทรกซ้อนอีกมากมายที่เกิดขึ้นได้จากบริโภคแอลกอฮอล์ด้วย เช่น โรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งลำไส้ โรคซึมเศร้า โรคพิษสุราเรื้อรัง



3. ไม่สูบบุหรี่
หลายคนคงทราบว่าการสูบบุหรี่นั้นไม่เคยสร้างผลดีใดๆ ต่อร่างกาย แต่อย่างไรก็ตาม หลายคนก็ยังคงเลือกที่จะสูบ เพราะคิดว่าเป็นวิธีระบายความเครียด หรือรู้สึกว่าเป็นการสร้างบุคลิกเท่ๆ ให้กับตนเอง แต่คุณรู้หรือไม่ว่า หลอดเลือดของผู้ที่ติดบุหรี่นั้น จะเสื่อมและตันเร็วยิ่งกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 10-15 เท่า และในบุหรี่มีสารประกอบกว่า 4,000 ชนิดที่สร้างอันตรายให้กับร่างกายเราได้


4. บริหารภาวะอารมณ์
อารมณ์ความรู้สึกกับโรคหัวใจอาจฟังดูเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ความจริงแล้วภาวะอารมณ์ที่ไม่ปกติ เช่น ความเครียด อาการวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ล้วนแต่ส่งผลต่อระบบการทำงานของร่างกายทั้งนั้น และสามารถเป็นปัจจัยที่นำไปสู่โรคหัวใจได้

 
5. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
อย่างที่หลายๆ คนทราบว่า การพักผ่อนน้อยย่อมส่งผลต่อภาวะทางสุขภาพหลายๆ ด้าน ซึ่งในส่วนของโรคหัวใจ ผู้ที่นอนหลับพักผ่อนน้อยนั้นมีความเสี่ยงที่จะมีแคลเซียมไปเกาะตามผนังหลอดเลือดมากขึ้น และยังทำให้เกิดความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย ดังนั้น ยิ่งคุณนอนน้อยมากขึ้นเท่าไร ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคทางหัวใจก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

เพื่อผลที่ดีต่อสุขภาพและหัวใจของคุณ คุณควรจัดเวลานอนให้ตนเองนอนหลับได้อย่างน้อย 7-9 ชั่วโมง หรือหากคุณมีปัญหาด้านการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ รู้สึกนอนหลับไม่สนิท หรือรู้สึกง่วงนอนอยู่ตลอดเวลาแม้จะนอนเพียงพอแล้ว คุณควรไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับเพื่อหาสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้น และหาวิธีการรักษาต่อไป

หากคุณต้องการป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคหัวใจ สิ่งสำคัญที่จะทำจะต้องมีก็คือ "สติ" ในการใช้ชีวิต และให้คิดเสมอว่าทุกการกระทำ ทุกพฤติกรรมที่คุณใช้ชีวิตในแต่ละวันมีผลต่อสุขภาพของคุณทั้งนั้นไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง

หากคุณใช้ชีวิตอยู่ภายใต้การตระหนักถึงสุขภาพที่ดีของตนเองทุกวัน ไม่เพียงแต่ความเสี่ยงของโรคหัวใจเท่านั้นที่จะลดน้อยลง แต่ความเสี่ยงของโรคด้านอื่นๆ และภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับสุขภาพที่เป็นอันตรายก็จะลดลงไปด้วยเช่นกัน




เครดิตแหล่งข้อมูล : honestdocs





เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์