จู่ๆ ก็ใจสั่น อาจเป็นสัญญาณเตือนของ “โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ”


จู่ๆ ก็ใจสั่น อาจเป็นสัญญาณเตือนของ “โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ”

หากพูดถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจแล้ว หลายๆ คนอาจจะรู้สึกว่าเป็นโรคร้ายที่มักเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่หรือค่อนข้างเกิดได้ในผู้สูงอายุเป็นส่วนมาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคร้ายแรงที่เกี่ยวกับหัวใจบางโรค ก็สามารถเกิดได้กับเด็กๆ หรือวัยรุ่น วัยทำงานได้เหมือนกัน อย่างเช่น "โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ" ที่เป็นอันตรายสามารถถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้นั้น ถือเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจที่ "ทุกคน" มีความเสี่ยง สามารถพบได้ในทุกวัย จึงเป็นโรคที่เราควรทำความรู้จัก และทำความเข้าใจเอาไว้ เพื่อให้สังเกตอาการได้ทัน และเข้ารับการรักษาได้เร็ว

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะคืออะไร ทำความรู้จักไว้ ให้รู้เท่าทัน

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด อาทิ โรคหัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น ซึ่งสาเหตุหลักๆ เกิดจากความผิดปกติของการนำไฟฟ้าในห้องหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นในจังหวะที่ไม่ปกติ โดยจะเต้นเร็วขึ้นกว่าเดิม เต้นเร็วกว่าที่ควรจะเป็น โดยไม่สัมพันธ์กับกิจกรรมใดๆ กล่าวคือ โดยปกติเวลาเราออกกำลังกาย หัวใจจะค่อยๆ เต้นจากช้าไปเร็ว แต่สำหรับคนที่เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น แม้ว่าคนไข้จะนั่งอยู่เฉยๆ หัวใจก็สามารถเต้นเร็วขึ้นมาได้มากถึง 150 ครั้งต่อนาทีได้

สังเกตอาการแสดงอย่างไร ว่าเสี่ยงภัยเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ?

อาการแสดงหลักๆ ที่เป็นสัญญาณเตือนว่าเราอาจป่วยเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น ได้แก่

1.ใจสั่น บางรายมีอาการคล้ายกับจะหน้ามืดหรือมีอาการเวียนศีรษะในช่วงเวลาที่ใจสั่น
2.ใจสะดุด รู้สึกถึงจังหวะการเต้นของหัวใจที่สะดุด และอาจมีอาการวูบหมดสติร่วมด้วย
3.ใจหาย รู้สึกว่าหัวใจเว้นช่วงที่เต้นไปนานผิดปกติหรือรู้สึกว่าจะหมดสติร่วม
4.วูบหมดสติ โดยไม่ได้มีปัจจัยกระตุ้น โดยมักจะสัมพันธ์กับอาการใจสั่น

ทั้งนี้ อาการใจสั่น ใจสะดุด หน้ามืด วูบหมดสติ เหล่านี้ จะเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นว่าจะต้องสัมพันธ์กับการออกแรงใด ๆ ทั้งสิ้น คือเป็นในขณะที่นั่งพัก หรือนอนพักอยู่เฉยๆ หรือในขณะที่ออกกำลังหรือช่วงหลังออกออกกำลังกายไปแล้ว นั่งพักไปประมาณ 5 ถึง 10 นาทีแล้ว แต่หัวใจยังคงเต้นรัวอยู่ตลอด ในบางรายอาจมีอาการวูบหมดสติไปในขณะออกกำลังกายได้ อาการแบบนี้มีลักษณะของความเสี่ยงที่อาจเป็นสัญญาณของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ หากสังเกตพบควรรีบมาปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

ตรวจวินิจฉัยอย่างไร ถึงจะทราบว่าเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ?

เบื้องต้นเมื่อคนไข้มาพบแพทย์ด้วยอาการใจสั่น ใจสะดุด หน้ามืด แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย แล้วดำเนินการตรวจต่าง ๆ เช่น คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) , คลื่นสะท้อนหัวใจ (Echocardiography) , คลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 - 48 ชั่วโมง (24 - 48 hour Holter Monitoring) , Loop Recorder , Event Recorder รวมไปจนถึงการดูคลื่นไฟฟ้าหัวใจจากข้อมูลใน Apple Watch หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่สามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจ หรือเก็บข้อมูลคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้ เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย

ซึ่งเมื่อรู้แล้วว่าเป็นหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดใด ก็จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาการรักษา ซึ่งหนึ่งในการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะที่ได้ประสิทธิภาพดี และมีโอกาสในการรักษาให้หายขาดคือ การรักษาด้วยการศึกษาสรีระไฟฟ้าและจี้ไฟฟ้าหัวใจ (Electrophysiology Study and Radiofrequency Ablation) เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจชนิดใด ซึ่งโดยปกติหากตรวจพบแล้วว่าเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดใดแล้ว แพทย์ก็จะสามารถทำการรักษาด้วยวิธีการจี้ไฟฟ้าหัวใจไปด้วยพร้อมกันได้เลย

Electrophysiology Study and Radiofrequency Ablation มีวิธีการทำอย่างไร?

ในการตรวจสรีระไฟฟ้าหัวใจ เพื่อหาความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจนั้น มีขั้นตอนในการดำเนินการ ดังนี้

1.จัดคนไข้ให้นอนบนเตียงในห้องปฏิบัติการ ในท่าพร้อมทำหัตการสำหรับตรวจสรีระไฟฟ้าหัวใจ
2.วิสัญญีแพทย์ดำเนินการให้ยาสลบแก่ผู้ป่วย
3.แพทย์ทำการใส่สายสวนผ่านทางหลอดเลือดดำบริเวณขาหนีบของคนไข้ พร้อมกับติดอุปกรณ์ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 3 สาย โดยหลอดเลือดดำจะเชื่อมตรงเข้าสู้ห้องหัวใจ
4.เมื่อใส่สายสวนแล้ว แพทย์จะทำการใช้รังสี เพื่อฉายให้เห็นโครงสร้างของหัวใจและตำแหน่งของสายสวน สำหรับใส่สายสวนได้ถูกต้องตามตำแหน่งที่ต้องการ
5.กระตุ้นหัวใจ เพื่อทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ และทำการทดสอบ (Electrophysiology Study) เพื่อหาว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะที่ตำแหน่งใด
6.เมื่อพบตำแหน่งที่ผิดปกติแล้ว แพทย์จึงทำการรักษาความผิดปกตินั้นด้วยการจี้ไฟฟ้าหัวใจ

โดยภาพรวมของ Electrophysiology Study นั้น สามารถกล่าวได้ว่า เป็นการตรวจสรีระไฟฟ้าหัวใจ ร่วมกับการรักษาด้วยการจี้ไฟฟ้าหัวใจไปพร้อมๆ กัน ซึ่งก่อนที่จะทำการรักษาด้วยวิธีการ "จี้ไฟฟ้าหัวใจ" ได้นั้น จะต้องทำการตรวจสรีระไฟฟ้าและจี้ไฟฟ้าหัวใจให้ทราบแน่ชัดก่อนว่า "ตำแหน่งใด?" คือตำแหน่งที่ต้องทำการจี้รักษาเพื่อให้คนไข้หายขายจากโรคและกลับมามีหัวใจที่เต้นในจังหวะปกติได้อีกครั้ง

การตรวจสรีระไฟฟ้าหัวใจโดยไม่ใช้รังสี ทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับร่างกาย

ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ประกอบกับความเชี่ยวชาญของบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลพญาไท 3 ทำให้สามารถทำ "การตรวจสรีระไฟฟ้าหัวใจ" ได้โดยที่ไม่ใช้รังสี ซึ่งแพทย์จะใช้เทคโนโลยี 3D ในการทำให้เห็นภาพโครงสร้างของหัวใจว่าตำแหน่งใดที่ผิดปกติแทนการใช้รังสี และเมื่อทราบแล้วว่าตำแหน่งความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจอยู่ที่ใด ก็จะทำการรักษาด้วยการจี้ไฟฟ้าหัวใจต่อไปตามลำดับ ทั้งนี้ การตรวจสรีระไฟฟ้าหัวใจโดยไม่ใช้รังสี ถือเป็นการรักษาทางเลือกที่ทำให้คนไข้ไม่ได้รับความเสี่ยงจากการใช้รังสีในการร่วมรักษา

ซึ่งในการใช้รังสีนั้น อาจทำให้มีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ โดยยิ่งสัมผัสรังสีมากก็ยิ่งมีความเสี่ยงมาก โดยผลเสียนั้นเกิดขึ้นได้กับอวัยวะต่าง ๆ ได้แก่ ดวงตา ทำให้เกิดต้อกระจกก่อนวัย ธัยรอยด์ ทำให้เกิดการทำงานผิดปกติ รังไข่และอัณฑะ ทำให้เป็นหมัน แต่สิ่งที่เป็นความเสี่ยงที่เป็นที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือ รังสี อาจนำไปสู่การเกิดมะเร็งได้เช่นกัน โดยอาจนำไปสู่ มะเร็งผิวหนัง มะเร็งเต้านม มะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ มะเร็งรังไข่ มะเร็งหลอดอาหาร และกระเพาะอาหาร เป็นต้น หากเราสามารถเลือกได้ว่าไม่ต้องโดนรังสีเลย ก็ถือเป็นทางเลือกที่มีความปลอดภัยมากกว่า

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และบางชนิดก็เป็นความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด อีกทั้งโดยทั่วไปแล้วจะตรวจวินิจฉัยค่อนข้างยาก เพราะอาการจะเป็นๆ หายๆ บ่อยครั้งที่ไปพบแพทย์แต่อาการก็หายไปแล้ว จึงถือเป็นโรคเงียบ ที่เราต้องหมั่นสังเกตอาการตัวเองให้ดี และอย่ามองข้ามการตรวจสุขภาพเป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถรู้เท่าทันโรค และเข้ารับการรักษาได้ทันเมื่อพบความผิดปกติ

"จู่ๆ หัวใจก็เต้นแรง เร็ว โดยไม่ได้ออกแรงอะไร 
พึงตระหนักให้รู้ไว้ ว่าเราอาจกำลังเสี่ยงภัย 
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ"

เครดิตแหล่งข้อมูล : นพ.สุวิทย์ คลังเปรมจิตต์



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์