เมื่อไรควรไปตรวจสุขภาพกันดี

การตรวจสุขภาพประจำปี ก็เป็นเหมือนโอกาสดีๆ ครั้งหนึ่งในรอบปีที่เราจะได้ไปเช็คสภาพร่างกายของเราว่าเป็นอย่างไรบ้าง เราต่างคนต่างก็ใช้ชีวิตที่สำบุกสมบัน ทำงานกันมากมาย ต้องเผชิญหน้ากับความเครียดหลาย ๆ อย่างในชีวิตประจำวันของเราในรอบ 1 ปี จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะต้องหันกลับมามองและสนใจในสุขภาพของเรากันนะครับ


เป็นคนที่แข็งแรงอยู่แล้ว ออกกำลังกายประจำ ยังต้องไปตรวจอีกหรอ ? เป็นคำถามที่น่าจะเกิดขึ้นกับใครหลายคน ควรมาตรวจครับ เพราะขนาดรถยนต์เรายังต้องเอาเข้าเช็คสภาพกันทุกปีเลย แล้วทำไมเราจะไม่พาตัวเราเองมาเช็คสภาพร่างกายกันดูล่ะครับ การตรวจสุขภาพก็เป็นเหมือนการสำรวจตรวจสอบ ว่าร่างกายเรามีส่วนไหนเสื่อมลง หรือเสียหายไปแล้วหรือเปล่า ซึ่งในบางอย่างอาจจะไม่แสดงอาการออกมาให้เราเห็นหรือรู้สึกก็เป็นได้ ดังนั้น ทางเดียวที่เราจะได้รู้ก่อน แก้ไขได้ทันท่วงที ก็คือ การมาตรวจสุขภาพนั่นเองครับ


ตรวจมาก ตรวจน้อยแค่ไหนดี ? เอาตามจริง ก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานร่างกายของเราแต่ละคน ทั้ง เพศ อายุ ความแข็งแรงของร่างกาย โรคประจำตัวที่เป็นอยู่ และเงินในกระเป๋าเราครับ ตอนนี้เราสามารถเดินเข้าไปตรวจสุขภาพตาม รพ. คลินิก ต่าง ๆ ได้ง่ายมาก เพราะแต่ละที่ต่างก็นำเสนอโปรโมชั่น สิทธิพิเศษต่าง ๆ กันอย่างมากมายเพื่อดึงดูดลูกค้า แต่ !!! สิ่งที่เราต้องคิด และพิจารณาให้ดีก่อนก็คือ ความครบถ้วนและความคุ้มค่าครับ (แอบสืบข้อมูลเกี่ยวกับคุณหมอด้วยก็ดี รพ.ไหนมี หมอหล่อ หมอสวยก็น่าไปเน่าะ 55) เลือกที่เหมาะกับตัวเราและเราสะดวกที่จะเข้าถึงได้มากที่สุด


หลัก ๆ นะครับ สิ่งที่เราควรเช็คสภาพกันเป็นประจำทุกปี ได้แก่ 


  1. #ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count: CBC) จะได้รู้ว่า เราซีด (เลือดจาง หรือ ภาษาหมอเรียกกันว่า Anemia) ไหม เม็ดเลือด เกล็ดเลือด เราเป็นไงบ้าง เพราะบางครั้งการตรวจเม็ดเลือดนั้นก็สามารถสะท้อนถึงเรื่องการกินอยู่ของเราโดยตรง เช่น ภาวะเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก ขาดกรดโฟลิก หรือ ขาดวิตามินบี 12 เป็นต้น


  2. #น้ำตาลในเลือด (Fasting blood glucose) และ น้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1C) เพื่อบ่งบอกเกี่ยวกับการควบคุมการใช้น้ำตาลในร่างกายเราว่าเป็นอย่างไร ไม่เป็นเบาหวาน ก็อย่านิ่งนอนใจ ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงเบาหวาน ก็จะได้รีบปรับเปลี่ยนการกินการอยู่ของเราให้ดีขึ้น โดยเฉพาะเจ้า HbA1C นี้ ยังจำกันได้ไหม หมอหล่อคอเล่าย้ำนักย้ำหนาว่า ตัวนี้คือ ผลิตผลของ #AGEs นะที่เกิดมากก็แก่ง่าย ตายไว ครับ


 3. #ระดับไขมันในเลือด ทั้งคอเลสเตอรอล (Cholesterol) และไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เป็นสิ่งที่เราควรให้ความสนใจ และควรตรวจให้ครบนะครับ ทั้ง Total cholesterol (ตัวรวม) HDL (ตัวดี) LDL (ตัวไม่ดี) และ Triglyceride แม้ว่าปัจจุบันนี้ จะมีหลักฐานทางการแพทย์ออกมาแล้วว่า อาหารการกินมีความสัมพันธ์กับระดับไขมันในเลือดน้อย แต่ เราก็ต้องควบคุมให้ดีอยู่เสมอนะครับ โดยเฉพาะเจ้าไขมันเลวหรือ LDL ที่ยังคงเป็นตัวร้ายที่เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดอยู่


 4. #ค่าการทำงานของไต (BUN/Cr) และ ค่าการทำงานของตับ (Liver enzymes ต่างๆ) 2 อย่างนี้ สำคัญมากๆ เพราะตับ = โรงงานดีท็อกของเสียต่าง ๆ ในร่างกาย ส่วน ไต = ตัวรองของเสียต่าง ๆ ออกจากร่างกาย ดังนั้น 2 อย่างนี้ ห้ามเสื่อม ห้ามวาย ห้ามทำร้ายเค้าเด็ดขาดนะครับ 


 5. #ปัสสาวะ (Urinalysis หรือ UA) เป็นการดูประสิทธิภาพการทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะที่ดีและราคาถูกอีกอัน เพราะทำให้เรารู้ได้ว่า ปัสสาวะที่ผ่านการกรองจากไตลงมาจนถูกขับออกมาทางท่อปัสสาวะนั้นเป็นอย่างไรบ้าง


 6. #เอ็กเรย์ปอด (CXR) ดูปอดของเราว่าเป็นอย่างไรบ้าง + ดูขนาดหัวใจในเบื้องต้นได้อีกด้วย


 7. #คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) น่าจะเป็นเรื่องดี ที่เราได้ตรวจสอบการทำงานของหัวใจเบื้องต้นจาก EKG เพราะเป็นการตรวจที่ทำง่าย ได้ผลไว และมีประโยชน์มากในการตรวจดูว่าหัวใจเราเต้นเป็นอย่างไรบ้าง อย่าลืมนะครับว่า หัวใจทำงานตลอดเวลา ลาหยุด ลาพักร้อนหรือขี้เกียจเต้นไปเฉย ๆ เลยไม่ได้ นี้จึงเป็นสัจธรรมที่ธรรมชาติเองก็ยังบอกกับเราว่า #หัวใจต้องมั่นคงและซื่อสัตย์อยู่เสมอ นั่นเอง (เกี่ยวกันไหม ????)


 8. #ไทรอยด์ฮอร์โมน (Thyroid hormones 3 ตัวหลักนะ มี - TSH, FT3 & FT4) เป็นฮอร์โมนไม่กี่ตัว ที่มีการตรวจประเมินกันอย่างแพร่หลาย เพราะมีความสำคัญมากในการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติสุข ฮอร์โมนไทรอยด์ ควบคุมเรื่องการเผาผลาญสารอาหารต่างๆ ในร่างกาย ความกระฉับกระเฉง ความ Active คิดคล่องสมองไว อุณหภูมิของร่างกาย และอีกหลาย ๆ ระบบ แม้เราจะไม่ได้เป็นโรคฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานมาก (ไทรอยด์เป็นพิษ หรือ Hyperthyroidism) หรือ ทำงานน้อย (Hypothyroidism) แต่หากเริ่มมีค่าเริ่มสูงหรือเริ่มต่ำ ก็เป็นเรื่องดีที่เราต้องมาหาสาเหตุกันก่อนและรีบลงมือแก้ไขนะครับ


 9. #อื่น ๆ ที่จำเป็นตามแต่ละคน เช่น การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง แมมโมแกรม + อัลตร้าซาวด์เต้านมในผู้หญิงที่มีข้อบ่งชี้ ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก หรือ ตรวจแปปสเมียร์ (Pap smear) ตรวจความหนาแน่นของมวลกระดู(BMD) และ อื่น ๆ เป็นต้น


 10. #Special สำหรับใครที่ให้ความสนใจและใส่ใจในการดูแลสุขภาพที่มาก กว่านี้ ในปัจจุบันยังสามารถเดินเข้ามาปรึกษาคุณหมอด้าน Wellness ก่อน เพื่อวางแผนตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้นะครับ เช่น
>> การตรวจวัดระดับฮอร์โมนแบบสมบูรณ์แบบ (เพราะฮอร์โมนทุกตัวทำงานอย่างสมดุลกัน หากตัวนึงผิดปกติย่อมส่งผลถึงตัวอื่น ๆ ด้วย) 
>> ระดับสารอาหารในเชิงลึก ได้แก่ ระดับวิตามิน สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) ระดับแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย ระดับกรดไขมัน เช่น โอเมก้า 3 และ 6 
>> รวมไปถึงระดับสารพิษ โลหะหนักที่ตกค้างในร่างกายต่างๆ ได้ด้วย 


อย่างที่ว่าไป แต่ละคนมีความแตกต่างกันทั้งในด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจและสังคมความเป็นอยู่ ดังนั้น การเลือกอะไรก็ตามที่พอเหมาะ พอดี กับตัวเราจึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในมิติของการดูแลสุขภาพของตัวเราเอง การให้รางวัลชีวิตด้วยการดูแลสุขภาพจึงเป็นสิ่งที่มีแต่ได้กับได้ ได้อยู่นาน ได้เที่ยวนาน ได้เห็นโลกในมุมมองใหม่ ๆ สถานที่ใหม่ ๆ ได้อยู่กับคนที่เรารัก อย่างมีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดี สิ่งต่าง ๆ เหล่านีน่าจะเป็นบทสรุปของการมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบของมนุษย์เราก็ว่าได้ครับ 







ที่มา : หมอหล่อคอเล่า

เมื่อไรควรไปตรวจสุขภาพกันดี

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์