โรคฮิตวัยทำงาน! ส่องสัญญาณ ปวดหลัง อาการที่ไม่ควรวางใจ


โรคฮิตวัยทำงาน! ส่องสัญญาณ ปวดหลัง อาการที่ไม่ควรวางใจ

"ปวดหลัง" อาการยอดฮิตของคนวัยทำงาน เกิดขึ้นได้จากการใช้ชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การยืน นั่งทำงานผิดท่า การนอนผิดพลิกผิดท่า หรือการออกกำลังกาย รวมไปถึงการเสื่อมของกระดูกสันหลังเมื่อมีอายุมากขึ้นด้วย

สาเหตุของอาการปวดหลัง

อาการปวดหลังเกิดจากอวัยวะและส่วนของร่างกายบริเวณหลัง เช่น ข้อกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกสันหลัง กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เกิดภาวะเคล็ดขัดยอก เสื่อม หรืออักเสบ เป็นต้น หรืออาการปวดหลังอาจเกิดจากอวัยวะของร่างกายส่วนอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับหลังแต่ร้าวมา เช่น มีนิ่วในไต หลอดเลือดใหญ่ในท้องโป่งพอง เป็นต้น

 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง

- การออกกำลังกายที่มากเกินไป

- การใช้งานหลังที่ผิดท่า เช่น ออฟฟิสซินโดรม ขับรถนานๆ ยกของหนัก ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บในส่วนของอวัยวะที่เกี่ยวข้อง เช่น หมอนรองกระดูก กล้ามเนื้อหลัง

- คนที่ไม่ดูแลสุขภาพ สูบบุหรี่ จะทำให้หมอนรองกระดูกสึกหรอ เสื่อมเร็วขึ้น

- คนสูงอายุที่มีภาวะกระดูกพรุน จะทำให้กระดูกสันหลังคด และมีอาการปวด เนื่องจากความผิดรูปของกระดูกสันหลัง

 

ไม่จำเป็นต้องอายุมากก็ปวดหลังได้

อาการปวดหลังสามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัย ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น วัยกลางคน หรือผู้สูงอายุ แต่ส่วนใหญ่คนที่อายุน้อย เมื่อมีอาการปวดหลังก็มักจะไม่เป็นอันตราย เช่น ออกกำลังกายเล่นกีฬามากไปทำให้กล้ามเนื้อยอกมากกว่า ขณะที่ คนสูงอายุ จะมีโอกาสที่เกิดภาวะกระดูกพรุน เนื้องอก ข้อกระดูกเสื่อม หมอนรองกระดูกผิดปกติ ได้มากกว่าวัยอื่นๆ

อาการปวดหลังที่พบได้บ่อยใน "วัยทำงาน"

ปวดตั้งแต่บั้นเอวขึ้นไป


มีอาการปวดตั้งแต่บริเวณบั้นเอวขึ้นไป อาจเป็นข้างเดียว หรือทั้งสองข้าง ถ้าเป็นน้อยจะมีแค่อาการปวดเมื่อย ถ้ามีอาการมากจะปวดอยู่ตลอดเวลาและมีอาการหลังแข็งเกร็งทำให้เดินตัวเอียง สาเหตุเกิดจากกล้ามเนื้อหลังที่มีการหดเกร็ง หรือมีการฉีกขาดของกล้ามเนื้อหลังบางส่วน เมื่อมีการบิดหรือเอียงตัวทันทีขณะออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา

การปฐมพยาบาล : เมื่อมีอาการปวดหลังให้หยุดวิ่งทันที แล้วประคบด้วยน้ำแข็ง 10-20 นาที ให้ยาแก้ปวด ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน ต้องใช้ยาต้านการอักเสบ และยาคลายกล้ามเนื้อประมาณ 1-3 สัปดาห์ และให้การรักษาด้วยวิธีกายภาพบำบัด เช่น ความร้อน คลื่นเหนือเสียง เป็นต้น อาการจะหายไปเอง ภายใน 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นแพทย์จะให้บริหารกล้ามเนื้อ เพื่อฟื้นฟูให้กล้ามเนื้อกลับมาแข็งแรง แต่หากผู้ป่วยไม่พักรักษาตัวระหว่างการรักษาจะทำให้โรคปวดหลังนี้เรื้อรังได้ และทำให้รักษายาก หายช้ากว่าปกติ

การป้องกัน : ทำได้โดยไม่เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายในบริเวณพื้นที่ขรุขระ หรือทางขึ้นลงที่สูง เพราะทำให้เกิดการบิดเอียงของหลัง และควรบริหารกล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรงอยู่เสมอ

ปวดบริเวณกึ่งกลางหลังกระเบนเหน็บ เมื่อเคลื่อนย้ายหรือเอี้ยวตัว


มีอาการปวดเฉพาะบริเวณกึ่งกลางหลังกระเบนเหน็บมักพบในผู้สูงอายุจะมีอาการปวด เมื่อเคลื่อนไหวเอี้ยวตัวจะไม่มีอาการปวดร้าวไปจุดอื่น ถ้ามีอาการมากจะปวดตลอดเวลา สาเหตุเกิดจากการเสื่อมของกระดูกสันหลังซึ่งเป็นส่วนที่ต่อกับกระดูกเชิงกราน เนื่องจากเป็นส่วนที่เคลื่อนไหวอยู่เสมอ จึงเป็นง่ายกว่ากระดูกสันหลังส่วนอื่นๆ พบมากในผู้สูงอายุ

การปฐมพยาบาล : เมื่อมีอาการปวดขณะออกกำลังกายให้หยุดพัก และประคบเย็นประมาณ 10 นาที ให้ยาแก้ปวด ถ้าไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน อาการไม่หายไป ต้องรักษาด้วยยาต้านการอักเสบ พร้อมทั้งให้การรักษาทางกายภาพบำบัดร่วมด้วยหลังอาการดีขึ้นแล้ว เพื่อให้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรงอยู่เสมอ

การป้องกัน : ทำได้โดยไม่เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายในบริเวณพื้นที่ขรุขระ หรือทางขึ้นลงที่สูง สามารถบริหารยืดกล้ามเนื้อหลังแค่เพียงเล็กน้อยก่อนออกกำลังกายเท่านั้น

* ที่สำคัญที่สุดที่ต้องระวัง คือ เมื่อมีอาการปวดหลัง ควรงดออกกำลังกายทันที!

 

2 อาการปวดหลังที่ "อันตราย"

1.มีอาการปวดหลังที่เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะเวลาที่เป็นมานานพอสมควร มากกว่า 2 - 3 อาทิตย์ขึ้นไป และมีอาการปวดตอนกลางคืนโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหลับไปแล้วมีอาการปวดจนต้องตื่นขึ้นมารับประทานยาแก้ปวดทุกคืน ลักษณะนี้ทำให้นึกถึงภาวะของ "โรคเนื้องอก" หรือการอักเสบติดเชื้อ

2.อาการปวดหลังที่มีการร้าวลงขา ร่วมกับมีอาการชาและหรืออ่อนแรงของขา แสดงว่ามีการ "กดทับเส้นประสาท" นอกเหนือจากนี้จะเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ ปัสสาวะแสบขัดขุ่น แน่นหน้าอก ปวดท้อง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการ 2 ลักษณะข้างต้นนี้ ควรไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยอาการ และหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป แต่อาการปวดหลังที่พบบ่อย ส่วนมาก 90% ไม่เป็นอันตราย เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งตกใจ และให้หมั่นสังเกตตัวเองว่าไปทำอะไรมาที่อาจทำให้เกิดอาการขึ้น

 

แนวทางการรักษาอาการปวดหลัง

วิธีการรักษาเบื้องต้น - เรียกว่าการรักษาแบบอนุรักษ์นิยม เช่น การกายภาพบำบัด การใช้ยาลดอาการปวดหรือคลายกล้ามเนื้อ การใส่เครื่องพยุงหลัง อบความร้อน บีบนวด การบริหารกล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรง หรือการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมการทำงาน สำหรับกลุ่มที่เป็นระยะแรก หรืออาการไม่รุนแรง ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่สาเหตุไม่ร้ายแรง ดังนั้น การรักษาด้วยวิธีนี้มักจะสำเร็จ

การทำหัตถการ - เช่น ในบางกรณีอาจใช้การฉีดยาลดการอักเสบหรือ steroid เฉพาะที่ เข้าไปในบริเวณที่มีการอักเสบเรื้อรัง หรือฉีดไปบริเวณรอบๆ บริเวณเส้นประสาทที่มีการกดทับ อักเสบ นอกจากนี้ยังมีการใช้ลวดความร้อน Radio Frequent (RF) จี้ไปบริเวณเส้นประสาทที่มีอาการปวด

การผ่าตัด - แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดจากข้อบ่งชี้ โดยข้อบ่งชี้ที่สำคัญข้อแรกคือ รักษาโดยวิธีการไม่ผ่าตัดแล้วไม่ดีขึ้น มีอาการปวดเพิ่มมากขึ้นจนกระทั่งกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ลุก นั่ง ยืน เดิน ลำบาก และจะพิจารณาการผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีอาการปวดร้าวไปตามเส้นประสาท มีอาการชา และอ่อนแรงเนื่องจากมีการกดทับเส้นประสาทที่ชัดเจน โดยการผ่าตัด มี 3 วิธี ได้แก่

- กำจัดสิ่งที่กดทับเส้นประสาท อาจจะเป็นหมอนรองกระดูก หินปูน หรือส่วนของข้อกระดูกสันหลังที่เคลื่อนมากดทับ

- การยึดและเชื่อมข้อกระดูกสันหลังที่ขยับเขยื้อนให้อยู่นิ่งๆ ในปัจจุบันจะใช้การใส่โลหะยึด

- ในบางกรณีมีความจำเป็นต้องแก้ไขความผิดรูป เช่น ความโก่ง โค้ง งอ ของข้อกระดูกสันหลังให้เข้ารูป

ในบางกรณีอาจใช้การทำผ่าตัดแผลเล็ก เช่น ใช้กล้อง Microscope ไปกรอหินปูนหรือเอาหมอนรองกระดูกที่ทับเส้นประสาทออก หรือในกรณีที่ต้องใส่โลหะยึดกระดูกสันหลัง โดยปกติก็จะมีแผลที่ใหญ่ขึ้น ตามขนาดของกระดูกสันหลังและรอยโรค เช่น เป็น 1 ข้อ 2 ข้อ หรือ 3 ข้อ

 

วิธีป้องกันอาการปวดหลัง

- เรียนรู้วิธีการออกกำลังกายโดยเฉพาะบริเวณกล้ามเนื้อหลังที่ถูกต้องและปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ

- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อหลัง เช่น การยกของหนัก

- งดสูบบุหรี่ เนื่องจากพบว่าบุหรี่ทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมได้อย่างรวดเร็ว

 



เครดิตแหล่งข้อมูล : tnnthailand





เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์