ภัยเงียบมะเร็งปากมดลูกอันตรายใกล้ตัวคุณ

คำโบราณที่ว่า "เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก" แต่ในครั้งนี้ขอโยงไปในเรื่องของสุขภาพนะคะ โดยเฉพาะมดลูกมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งได้ทั้งปากมดลูก โพรงมดลูก กล้ามเนื้อมดลูก เป็นต้น ลองมาเช็คดูกันนะคะว่า คุณมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกหรือไม่ มีวิธีสังเกต และป้องกันอย่างไร ติดตามอ่านค่ะ

ภัยเงียบมะเร็งปากมดลูกอันตรายใกล้ตัวคุณ

มะเร็งปากมดลูก

ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า โรคมะเร็งปากมดลูกพบมากเป็นอันดับ 2 ในสตรีไทยและทั่วโลก ซึ่งในประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตประมาณ 4,500 รายต่อปี และพบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 8,000 คนต่อปี สาเหตุโรคมะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่เกิดจากความอาย จึงไม่กล้าเข้ารับการตรวจคัดกรอง จากสถิติดังกล่าว ถือว่ามะเร็งปากมดลูกเป็นอันตรายที่พบได้มากในผู้หญิง มาทำความรู้จักกับโรคมะเร็งปากมดลูกกันค่ะ

สาเหตุ

มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า HPV (Human Papilloma Virus) ภาษาไทยเรียกกันว่า ไวรัสหูด ส่วนใหญ่ติดต่อจากการสัมผัสทางเพศสัมพันธ์ที่มีรอยถลอกของผิวหรือเยื่อบุ ทำให้เชื้อไวรัสเข้าไปที่ปากมดลูก ปากมดลูกจึงมีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อหรือเซลล์ จากปากมดลูกปกติกลายเป็นระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก ซึ่งถ้าหากมีการติดเชื้อดังกล่าวแล้ว เชื้อไวรัส HPV จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบริเวณปากมดลูก โดยอาจจะใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือน หรือบางรายอาจจะใช้เวลานานถึง 15 ปีกว่าอาการจะแสดงออกมา

มะเร็งปากมดลูก หากเป็นระยะแรก ๆ ก็จะอยู่เฉพาะบริเวณปากมดลูกเท่านั้น แต่หากเป็นระยะที่รุนแรงมาก มะเร็งก็จะลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง เช่น ท้องด้านล่าง และบางครั้งอาจลามไปที่ปอดหรืออวัยวะส่วนอื่น ๆ ที่อยู่ไกลด้วยเช่นกัน ซึ่งหากอาการมาถึงระดับนี้แล้ว การรักษาก็จะยากมาก

โรคมะเร็งปากมดลูกแบ่งออกเป็น 4 ระยะ

ระยะที่ 0 คือ ระยะเริ่มแรกก่อนเป็นมะเร็ง คือ ระยะที่เซลล์ของปากมดลูกเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง สามารถตรวจพบได้จาการตรวจแป๊บสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test) เป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือสอดผ่านและถ่างช่องคลอด จากนั้นจะทำการป้ายเซลล์จากมดลูกส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติหรือเซลล์ที่มีการเปลี่ยนแปลงซึ่งอาจทำให้เกิดมะเร็งได้

ระยะที่ 1 คือ ระยะที่มีเซลล์มะเร็งอยู่เฉพาะบริเวณปากมดลูกเท่านั้น

ระยะที่ 2 คือ ระยะที่มะเร็งลุกลามออกจากปากมดลูกไปบริเวณช่องคลอดส่วนบนหรืออุ้งเชิงกรานแต่ยังไม่ลุกลามถึงผนังอุ้งเชิงกราน

ระยะที่ 3 คือ ระยะที่มะเร็งลุกลามไปจนติดผนังอุ้งเชิงกราน หรือก้อนมะเร็งมีการกดทับท่อไตทำให้การทำงานของไตเสื่อมลงจนไตด้านนั้นไม่ทำงาน (หรืออาจจะเป็นไตทั้งสองข้างเลยก็ได้)

ระยะที่ 4 คือ ระยะที่มะเร็งลุกลามเข้าสู่อวัยวะข้างเคียงคือ กระเพาะปัสสาวะ หรือลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก หรือมะเร็งกระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น ตับ ปอด กระดูก สมอง หรือต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ

ฝ่ายหญิง

1.ผู้หญิงที่มีคู่นอนหลายคน จะมีความเสี่ยงสูงมาก เพราะมีโอกาสได้รับเชื้อมากกว่าผู้หญิงที่มีคู่นอนเพียงคนเดียว

2.การมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อยกว่า 17 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่มีการกลายรูปของเซลล์ปากมดลูกมาก ช่วงนี้จะมีความไวต่อสารก่อมะเร็งสูงมาก โดยเฉพาะเชื้อเอชพีวี

3.การตั้งครรภ์และการคลอดลูกมากกว่า 4 ครั้งขึ้นไปมีความเสี่ยของการเป็นมะเร็งปากมดลูกสูงขึ้น 2-3 เท่า

4.มีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เริม ซิฟิลิส และหนองใน เป็นต้น

5.การรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานานมากกว่า 5 ปี 10 ปี จะมีความเสี่ยงสูงขึ้น 1.3 เท่า และ 2.5 เท่าตามลำดับ

6.ไม่เคยได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมาก่อน

ฝ่ายชาย

เนื่องจากส่วนใหญ่การติดเชื้อเอชพีวีบริเวณอวัยวะเพศได้มาจากการมีเพศสัมพันธ์ ถือว่ามะเร็งปากมดลูกเกี่ยวข้องกับการมีเพศสัมพันธ์ และการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีเชื้อเอชพีวี (ซึ่งผู้ชายส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือไม่ตรวจพบเชื้อ) แม้เพียงครั้งเดียวก็มีโอกาสติดเชื้อเอชพีวีและเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ ปัจจัยเสี่ยงทางฝ่ายชาย ได้แก่

1.ผู้หญิงที่มีสามีเป็นมะเร็งองคชาติ

2.ผู้หญิงที่แต่งงานกับชายที่เคยมีภรรยาเป็นมะเร็งปากมดลูก

3.ชายที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

4.ชายที่มีประสบการณ์ทางเพศตั้งแต่อายุยังน้อย

5.ชายที่มีคู่นอนหลายคน

อาการ

เมื่อกล่าวถึงอาการของมะเร็งปากมดลูก ลองเช็คดูนะคะว่าคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ติดตามอ่านค่ะ

1.มีตกขาวมากผิดปกติ มีกลิ่นเหม็นมาก และมีสีเข้ม ออกไปทางสีน้ำตาลแก่

2.ประจำเดือนมาไม่ปกติ บางครั้งมาแบบกะปริบกะปรอย หรืออาจมามากและนานกว่าปกติ

3.ขณะมีเพศสัมพันธ์และหลังมีเพศสัมพันธ์จะรู้สึกเจ็บและมีเลือดออก

4.มีเลือดออกทางช่องคลอด โดยเลือดที่ออมานั้นไม่ใช่เลือดประจำเดือน ลักษณะของเลือดจะออกมาแบบกะปริบกะปรอย

5.มีเลือดออกหลังจากตรวจภายใน หรือสวนล้างช่องคลอด

6.อยู่ในวัยทองแต่มีเลือดออกคล้ายเลือดประจำเดือน

7.มีอาการอ่อนเพลียและหน้ามืดบ่อยครั้ง

8.เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

9.ปวดท้องน้อย หรืออุ้งเชิงกราน เนื่องจากเชื้อมะเร็งลุกลามไปกดทับเส้นประสาท

10.หากมะเร็งปากมดลูกอยู่ในระยะลุกลาม เชื้อมะเร็งจะลามไปอวัยวะอื่น ๆ ทำให้มีอาการเหล่านี้ตามมา ได้แก่ ปวดหลัง ขาบวม ถ่ายเป็นเลือดสด หากโรคลุกลามไปกดทับท่อน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานหรือทำให้ท่อน้ำเหลืองเหล่านั้นอุดตัน และมีอาการปัสสาวะผิดปกติ มีอาการของไตวายเฉียบพลันหากลุกลามไปกดทับท่อไต เนื่องจากท่อไตอยู่ติดกับปากมดลูกเป็นต้น

การป้องกันมะเร็งปากมดลูก

1.ควรตรวจหามะเร็งปากมดลูกปีละครั้ง หรือเมื่อมีอาการผิดปกติ เช่น ตกขาว หรือมีเลือดออกผิดปกติ

2.ผู้หญิงอายุ 30 ปีขึ้นไป ควรตรวจภายใน เพื่อค้นหามะเร็งปากมดลูก

3.ผู้หญิงที่คุมกำเนิดยาเม็ดคุมกำเนิด หรือผู้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยง ควรได้รับการตรวจมะเร็งปากมดลูกทุก 6 เดือน

4.ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย หรือการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย

5.ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (จะกล่าวถึงในหัวข้อถัดไป)

เรื่องน่ารู้ วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก

ฉีดได้ตั้งแต่อายุเท่าไร

การฉีดวัคซีนเอชพีวีจะได้ประโยชน์สูงที่สุดถ้าฉีดก่อนที่จะติดเชื้อเอชพีวีหรือก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพราะการติดเชื้อเอชพีวีส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีเชื้อเอชพีวีอยู่ ซึ่งผู้ชายจะไม่มีอาการผิดปกติ อายุที่มีข้อมูลของการฉีดวัคซีนเอชพีวีคือ 9 ปีขึ้นไป ในต่างประเทศจะแนะนำให้ฉีดวัคซีนในสตรีวัยแรกรุ่น อายุ 12-14 ปี ด้วยเหตุผล 3 ประการคือ 1.ส่วนใหญ่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ 2.ยังไม่ติดเชื้อเอชพีวี และ3.วัคซีนสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าในผู้ใหญ่

ต้องฉีดกี่เข็ม

ต้องฉีดทั้งหมด 3 เข็ม เข็มที่สองและสามห่างจากเข็มแรกสองและสี่เดือนตามลำดับ ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิได้เต็มที่เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV

ครั้งที่1ให้ฉีดตามที่กำหนด

ครั้งที่สองห่างจากครั้งแรก 1-2 เดือน

ครั้งที่ 3 ห่างจากเข็มแรกประมาณ 6 เดือน

ภูมิคุ้มกันอยู่ได้นานเท่าไร

จากการคำนวณทางคณิตศาสตร์คาดว่าภูมิคุ้มกันน่าจะอยู่ได้นานอย่างน้อย 20-30 ปี หรืออาจจะนานตลอดชีวิต

มีข้อห้ามในการฉีดหรือไม่

ข้อห้ามได้แก่
1.ผู้ที่มีอาการแพ้หรือมีภาวะไวเกินต่อสารประกอบในวัคซีน เช่น ยีสต์ และสารเสริมการกระตุ้น

2.ผู้ที่มีอาการที่บ่งชี้ว่าเคยแพ้หรือมีภาวะไวเกินหลังจากการฉีดวัคซีนครั้งแรก

ถ้าตั้งครรภ์ฉีดได้หรือไม่

ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนในขณะตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ระหว่างการฉีดวัคซีนเอชพีวีให้ครบ 3 เข็ม ควรคุมกำเนิดไว้ก่อนจนถึงหลังฉีดเข็มที่ 3 ไปนานอย่างน้อย 1 เดือน หากพบว่าตั้งครรภ์ขณะกำลังได้รับวัคซีนแต่ยังฉีดไม่ครบ ให้ฉีดวัคซีนเข็มที่เหลือต่อในช่วงหลังคลอด

มะเร็งปากมดลูกภัยเงียบที่ใกล้ตัวผู้หญิงเราจริง ๆ นะคะ ดูจากสถิติที่ออกมาเป็นตัวเลขที่น่ากลัวทีเดียว เมื่อรู้เช่นนี้แล้วก่อนอื่นควรสำรวจตนเองว่ามีภาวะเสี่ยงหรือไม่ และที่สำคัญควรไปตรวจภายในและตรวจคัดกรองมเร็งปากมดลูกเพื่อความปลอดภัย เพราะโรคนี้ไม่แสดงอาการในช่วงแรกหากตรวจพบได้เร็วจะได้รักษาอย่างรีบด่วนมีโอกาสหายได้นะคะ

 






เพจ โรคร้ายไม่ตายง่ายๆ by หมอท๊อป

 


ภัยเงียบมะเร็งปากมดลูกอันตรายใกล้ตัวคุณ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์