มะเร็งเต้านม รู้จักไว้แต่ไม่อยากทักทาย


มะเร็งเต้านม รู้จักไว้แต่ไม่อยากทักทาย

มะเร็งเต้านม คือ ความผิดปกติของเซลล์เต้านมที่เกิดการแบ่งตัวและสามารถลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้ โดยทั่วไปเชื่อว่ามะเร็งเต้านมส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงมาจากเซลล์ที่อยู่ระหว่างบริเวณท่อน้ำนมส่วนปลายและต่อมน้ำนม หรือบางทฤษฎีเชื่อว่า อาจมีต้นกำเนิดมาจากสเต็มเซลล์บริเวณท่อน้ำนมและต่อมน้ำนม แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นมะเร็งเต้านมชนิดต่างๆ

คนเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน?

ใช่! ในอดีตมะเร็งเต้านมเคยเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งปากมดลูก แต่หลายปีมานี้มะเร็งเต้านมกลายเป็นอันดับ 1 ของมะเร็งที่พบในสตรี และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในเมืองใหญ่พบมากกว่าในชนบท อเมริกาและยุโรปพบมากกว่าในเอเชีย

มะเร็งเต้านมพบได้ตั้งแต่อายุไม่ถึง 20 ปี แต่พบได้น้อยมาก และพบได้มากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น ดังแผนภูมิด้านล่าง


จากสถิติจะเห็นได้ว่า เริ่มพบมะเร็งเต้านมสูงในผู้ที่มีอายุ 35-39 และสูงขึ้นมากเมื่ออายุ 40-44 ปี ดังนั้นผู้หญิงทุกคนควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการทำแมมโมแกรม ± อัลตร้าซาวนด์เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป หรือน้อยกว่านั้นถ้ามีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ร่วมด้วย

ผู้ชายเป็นมะเร็งเต้านมได้หรือไม่

ผู้ชายก็สามารถเป็นมะเร็งเต้านมได้ แต่มีโอกาสน้อยกว่าผู้หญิงประมาณ 100 เท่า แต่กว่าจะตรวจพบก็มักจะเป็นค่อนข้างมาก เนื่องจากผู้ชายมีเนื้อเต้านมน้อย ก้อนจึงลุกลามมาที่ผิวหนังหรือลามเข้าไปในผนังทรวงอกได้เร็ว

สาเหตุของมะเร็งเต้านม?

สาเหตุของมะเร็งเต้านมมีปัจจัยหลายๆ อย่างร่วมกัน เช่น กรรมพันธุ์ การได้รับยาฮอร์โมนหลังหมดประจำเดือนเป็นระยะเวลานาน แต่ถึงแม้ญาติสายตรงไม่มีประวัติการเป็นมะเร็ง ทั้งยังไม่เคยได้รับฮอร์โมนก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้ เนื่องจากมีปัจจัยอื่นๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม เช่น
  • เริ่มมีประจำเดือนเร็ว เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม เริ่มมีประจำเดือนช้าออกไปมีความเสี่ยงลดลง 5-10% ต่อปี เนื่องจากการเริ่มมีประจำเดือนเร็ว แสดงว่ารังไข่ผลิตฮอร์โมนเพศหญิงมากระตุ้นเต้านมเร็วขึ้น

  • หมดประจำเดือนช้า หมดช้าลง 1 ปี ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 3% ต่อปี ในทางตรงกันข้าม หญิงที่ประจำเดือนหมดเร็วหรือถูกตัดรังไข่ออกทั้งสองข้างจะทำให้ความเสี่ยงลดลง (การตัดแต่มดลูกไม่มีผลใดๆ เนื่องจากรังไข่ยังทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนได้อยู่)

  • อายุตอนมีบุตรคนแรก หญิงที่มีบุตรหลังอายุ 35 ปี พบว่ามีความเสี่ยงสูงกว่าหญิงที่มีบุตรคนแรกเมื่ออายุ 20 ปี  40-60% ดังนั้น การมีบุตรเร็วจึงลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม และยังพบว่าการตั้งครรภ์ทำให้ความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมสูงขึ้นชั่วคราว แต่จะลดลงเรื่อยๆ  โดยหลังจากผ่านไป 10 ปีจะกลายเป็นช่วยป้องกันแทน และจะมีผลดีในระยะยาว การที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในช่วงแรกเนื่องจากการตั้งครรภ์ทำให้มีฮอร์โมนเพศหญิงเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เซลล์เต้านมได้รับการกระตุ้นให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมสูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อตั้งครรภ์ครบกำหนดก็ทำให้เซลล์เต้านมเกิดการพัฒนา (differentiation) จนเซลล์ทนต่อสารก่อมะเร็งได้ดีขึ้น ในระยะยาวแล้วจึงมีผลในการป้องกัน

  • จำนวนบุตร การมีบุตรหลายคนช่วยลดความเสี่ยง โดยลดลง 7% ต่อบุตร 1 คนที่เพิ่มขึ้น

  • การให้นมบุตร การให้นมบุตรเป็นระยะเวลานานมีผลในทางป้องกัน  ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมได้ประมาณ 4.3% ต่อทุกๆ 1 ปีของการให้นมบุตร ยิ่งให้ปริมาณมากและนานยิ่งมีผลช่วยป้องกันมะเร็งเต้านม เนื่องจากการให้นมบุตรจะทำให้รังไข่กลับมาทำงานช้าลง และยังทำให้เซลล์เต้านมพัฒนาให้ทนต่อสารก่อมะเร็ง (differentiation) อีกด้วย

  • ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน ขณะที่กินยาคุมกำเนิดมีความเสี่ยงสูงขึ้น 24% และเมื่อหยุดใช้ ความเสี่ยงจะลดลงเรื่อยๆ จนเหมือนปกติเมื่อหยุดกินยาเกิน 10 ปี แต่ยังไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาของการใช้ยาคุมกำเนิดกับความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม

  • ยาฮอร์โมนสำหรับหญิงวัยทอง ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 2.3% ต่อจำนวนปีที่ใช้ฮอร์โมน และความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 35% ในหญิงที่ใช้เกิน 5 ปี แต่ความเสี่ยงกลับเท่าปกติหลังจากหยุดยาไปแล้ว 5 ปี และยังพบว่าการให้ฮอร์โมนรวม (estrogen ร่วมกับ progestin) เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมมากกว่าฮอร์โมน estrogen เพียงอย่างเดียว

  • ดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) หญิงวัยหมดประจำเดือนที่อ้วนจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยถ้ามี BMI = 28 kg/m2 มีความเสี่ยงมากกว่า BMI <21 kg/m2 ประมาณ 26% (วัยที่ยังมีประจำเดือนไม่พบผลดังกล่าว)สาเหตุน่าจะเกิดจากวัยหมดประจำเดือน รังไข่หยุดสร้างฮอร์โมน แต่จะมีการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงจากเซลล์ไขมัน ดังนั้น BMI มากจึงมีระดับฮอร์โมนสูงกว่า

  • การดื่มสุรา เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามปริมาณของสุราที่ดื่ม เช่น ดื่มวันละ 35-44 g/day เพิ่มความเสี่ยง 32 % ดื่ม 45 g/day ขึ้นไปเพิ่มความเสี่ยง 46% เมื่อเทียบกับหญิงที่ไม่ดื่มสุรา หรือเพิ่มความเสี่ยง 7% ต่อแอลกอฮอล์ 10 g/day

  • การออกกำลังกายเป็นประจำ อาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมลง 10-50%

  • อาหารประเภทถั่วเหลือง อาจมีฤทธิ์ในทางป้องกัน เนื่องจากพบว่าประเทศที่มีการบริโภคถั่วเหลืองปริมาณมาก เช่น ชาวญี่ปุ่นและจีน พบมะเร็งเต้านมค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับชนชาติอื่น ในถั่วเหลืองมีสารคล้ายฮอร์โมนเพศหญิง ได้แก่ isoflavones แต่ออกฤทธิ์อ่อนกว่าฮอร์โมนในร่างกายหลายเท่า จึงน่าจะมีผลในทางลดฤทธิ์ของฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกายสตรีวัยที่ยังมีประจำเดือน มีรายงานว่าผู้หญิงที่ได้รับ isoflavones มากกว่า 20 mg/day มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมลดลง 29% เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ได้รับ ≤ 5 mg/day

  • อาหารที่มีไขมันสูง อาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมได้ 10-50% มีการศึกษาที่ให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยลดอาหารประเภทไขมันลง เพิ่มผักและผลไม้มากขึ้นในระยะเวลา 8 ปีพบว่าความเสี่ยงลดลง 9% แต่อาจเกิดจากอาหารประเภทไขมันสูงทำให้มี BMI สูง หรืออาจจะเนื้อแดงที่ผ่านความร้อนจนไหม้อยู่ด้วย ซึ่งน่าจะเป็นตัวการที่เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมมากกว่า

  • การได้รับรังสี เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม และขึ้นกับปริมาณรังสีและอายุที่ได้รับด้วย เช่น จะยิ่งเสี่ยงถ้าได้รับเมื่ออายุน้อยกว่า 20 ปี และจะมีผลน้อยถ้าได้รับหลังอายุ 40 ปี ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด Hodgkin ที่ได้รับรังสีมากกว่า 40 Gy มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า

  • พันธุกรรม ถ้ามีประวัติคนในครอบครัว โดยญาติสายตรงลำดับหนึ่ง (มารดา พี่สาว น้องสาว) เป็นมะเร็งเต้านม 1 คน จะมีโอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้นกว่าคนปกติ 2 เท่า ถ้ามีญาติเป็นมากกว่า 1 คน มีญาติเป็นมะเร็งเต้านมเมื่ออายุน้อย เป็นมะเร็งเต้านมทั้งสองข้าง เป็นทั้งมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ หรือมีญาติผู้ชายเป็นมะเร็งเต้านม จะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นไปอีก

  • เชื้อชาติ อเมริกา ยุโรป และแอฟริกา มีความเสี่ยงมากกว่าเอเชีย

  • ยีนส์ หลายชนิดมีผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านม เช่น BRCA1 และ BRCA2 ซึ่งเป็นยีนส์ป้องกันมะเร็งเต้านม (breast cancer suppressor genes) เมื่อเกิดความผิดปกติที่ยีนส์ตัวใดตัวหนึ่งนี้ จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า ถ้ามียีนส์ BRCA1 ผิดปกติ มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมประมาณ 50-90% ถ้า BRCA2 ผิดปกติ มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมประมาณ 50% นอกจาก BRCA แล้ว ยังมียีนส์อื่นๆ แต่เปอร์เซ็นต์ไม่สูงมาก

  • ลักษณะเนื้อเต้านมที่หนาแน่น พบจากแมมโมแกรม (Mammographic density) พบว่าเต้านมที่มีลักษณะหนาแน่นมาก  มีความเสี่ยงมากขึ้น  2-6 เท่า และพบว่า การรับประทานยาฮอร์โมนสำหรับสตรีวัยทองมีผลทำให้เต้านมหนาแน่นขึ้น

  • ประวัติเนื้องอกที่เต้านม เนื้องอกบางชนิด ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม เช่น เนื้องอกธรรมดา (fibroadenoma) และถุงน้ำเต้านม (ซีสต์, cyst) เนื้องอกบางชนิดเพิ่มความเสี่ยงเล็กน้อย คือ ประมาณ 1.5-1.9 เท่า เช่น adenosis, intraductal papilloma เนื้องอกบางชนิดที่เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมประมาณ 3-5เท่า ได้แก่ atypical lobular hyperplasia (ALH), atypical ductal hyperplasia (ADH) เนื้องอกบางชนิด (DCIS) ถือว่าเริ่มเป็นมะเร็งระยะก่อนลุกลาม หรือบางชนิด (LCIS) เป็นตัวบ่งชี้ว่าอาจจะเป็นมะเร็งได้ในอนาคต

  • ประวัติโรคทางเต้านม ถ้ามีประวัติเหล่านี้ ได้แก่ ADH, ALH, LCIS, DCIS ฯลฯ รวมทั้งประวัติที่เคยเป็นมะเร็งเต้านมมาแล้วข้างหนึ่ง จำเป็นต้องตรวจติดตามเป็นประจำ

มะเร็งเต้านม รู้จักไว้แต่ไม่อยากทักทาย

>>>>
Cr::phyathai.com


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์