ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ปล่อยทิ้งไว้ยิ่งเสี่ยงมะเร็ง


ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ปล่อยทิ้งไว้ยิ่งเสี่ยงมะเร็ง

    เชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยได้ยินเรื่องราวของโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษกันมาบ้าง แต่ทราบหรือไม่ว่า ยังมีโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ซึ่งอันตรายไม่แพ้กัน นั่นก็คือภาวะ ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ซึ่งหากปล่อยไว้ นานวันไปอาจกลายเป็นมะเร็งที่ต่อมไทรอยด์ได้ ดังนั้นเราจึงไม่ควรมองข้าม

สังเกตอาการอย่างไร...ว่าเสี่ยงภัยจากก้อนที่ต่อมไทรอยด์

โดยปกติแล้ว คนไข้ที่มีก้อนที่ต่อมไทรอยด์จะมาพบแพทย์ด้วยการคลำพบก้อนที่คอ ซึ่งก้อนก็จะมีทั้งแบบโตเร็วและโตช้า โดยหากก้อนที่ต่อมไทรอยด์มีขนาดใหญ่ คนไข้จะมีอาการจุกแน่นคอ เหมือนมีอะไรติดคอ กลืนติด กลืนลำบาก แต่หากก้อนที่ต่อมไทรอยด์มีขนาดเล็ก ก็อาจไม่มีอาการแสดงอื่นๆ ใดเลย หรืออาจคลำไม่พบเลยก็ได้ จึงทำให้ส่วนใหญ่แล้วคนไข้มักจะมาพบแพทย์เมื่อก้อนมีขนาดใหญ่ ดังนั้น ในการตรวจวินิจฉัย จึงจำเป็นต้องอาศัยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ร่วมกับการตรวจทางรังสีวิทยา เช่น อัลตร้าซาวด์ไทรอยด์ และในบางครั้งอาจต้องเจาะเอาเนื้อไทรอยด์มาตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อดูว่าเป็นเนื้อมะเร็ง หรือเป็นเพียงเนื้องอกธรรมดา

ก้อนที่ต่อมไทรอยด์อันตรายแค่ไหน...ใครเสี่ยงเป็นบ้าง
ก้อนที่ต่อมไทรอยด์นั้นมีทั้งกลุ่มที่ไม่ใช่มะเร็ง และกลุ่มที่เป็นมะเร็ง ซึ่งพบได้ในทุกเพศทุกวัย โดยหากพบในเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี หรือพบในผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งไทรอยด์ ทั้งนี้ ผู้หญิงจะมีความเสี่ยงพบก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์ได้มากกว่าผู้ชาย แต่ผู้ชายมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งได้มากกว่าผู้หญิง โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดก้อนที่ต่อมไทรอยด์ขึ้นนั้น เป็นผลมาจากพันธุกรรม ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ในแต่ละบุคคล และสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษหรือสารเคมีมากๆ เช่น บริเวณพื้นที่ที่มีกัมมันตรังสี บริเวณโรงงานนิวเคลียร์ มักพบรายงานผู้ป่วยเป็นมะเร็งที่ต่อมไทรอยด์มากกว่าที่อื่นๆ

รักษาอย่างไร...เมื่อพบก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์
เมื่อคลำพบเจอก้อนที่ต่อมไทรอยด์ แพทย์จะทำการตรวจดูก่อนว่า ก้อนที่เจอนั้นเป็นมะเร็งหรือเนื้องอกทั่วไปที่ไม่ใช่มะเร็ง ได้แก่ การเจาะเลือดดูระดับฮอร์โมนว่าอยู่ในภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ หรือมีภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติหรือไม่ หรือการตรวจอัลตราซาวด์ พิจารณาเพิ่มเติมถึงลักษณะของก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ว่าเป็นเนื้อแข็งๆ เป็นถุงซีสต์ หรือว่าเป็นทั้งก้อนเนื้อและซีสต์ปนรวมกัน มีภาวะหินปูนเกาะไทรอยด์หรือไม่ ซึ่งหากตรวจพบว่ามีภาวะหินปูนเกาะไทรอยด์ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์มากยิ่งขึ้น หรือทำการเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อดูว่าเป็นเนื้อร้ายหรือเป็นเนื้องอกธรรมดา ซึ่งหากทำการตรวจทุกวิธีดังกล่าวแล้ว พบว่ามีความเสี่ยงต่ำที่จะเป็นมะเร็ง แพทย์จะทำการรักษาด้วยการให้ยาเป็นหลัก

หากการรักษาด้วยยาในระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ไม่ยุบลง หรือระหว่างรักษาพบการเติบโตของก้อนแบบผิดปกติ ก็ต้องพิจารณาเปลี่ยนมารักษาด้วยการผ่าตัด โดยในกระบวนการผ่าตัดก้อนที่ต่อมไทรอยด์นั้นคนไข้จะต้องใช้ยาสลบ ความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังมากที่สุดก็คือ "เรื่องเสียงแหบ" ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้สูงถึงกว่า 10% เนื่องจากบริเวณด้านหลังต่อมไทรอยด์จะมีเส้นประสาท Recurrent Laryngeal Nerve (RLN) ทำหน้าที่ควบคุมสายเสียง เส้นประสาทเส้นนี้สีขาวเหลืองนวล เส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 1-2 มิลลิเมตรเท่านั้น ซึ่งถือว่าเล็กมากๆ ในคนไข้บางรายก้อนที่ไทรอยด์แข็ง มีพังพืด ก้อนติดหลอดลม หลอดอาหาร จึงทำให้การผ่าตัดไทรอยด์ทำได้ยาก การหาเส้นประสาท RLN หาได้ยาก และอาจทำให้เส้นประสาทบาดเจ็บได้ จึงต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์เฉพาะทางในการรักษา

ผ่าตัดก้อนที่ต่อมไทรอยด์ปลอดภัย...ด้วยเทคโนโลยีใหม่ เครื่องตรวจหาเส้นประสาท Recurrent Laryngeal Nerve (RLN)

เนื่องจากการผ่าตัดก้อนที่ต่อมไทรอยด์มีความเสี่ยงเรื่องอาจผ่าตัดถูกเส้นประสาทที่ไปควบคุมสายเสียง ดังนั้นในปัจจุบัน จึงได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาใหม่ที่เรียกว่า NIM หรือ Nerve Integrity Monitor ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายด้ามปากกา ใช้ตรวจหาการตำแหน่งของเส้นประสาทขณะผ่าตัด โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือดังกล่าวจิ้มไปยังบริเวณที่คาดว่าจะเป็นตำแหน่งเส้นประสาท

 ซึ่งหากมีเส้นประสาทอยู่บริเวณนั้น เครื่อง NIM จะส่งเสียงร้องเตือนให้แพทย์รับทราบ แต่หากไม่มีเสียงเตือนก็แสดงว่าบริเวณนั้นไม่มีเส้นประสาทอยู่ ทำให้แพทย์สามารถผ่าตัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงในการผ่าตัดผิดพลาดลงจนเหลือใกล้ 0% มากที่สุดก้อนที่ต่อมไทรอยด์ หากไม่ได้เป็นก้อนเนื้อร้าย ไม่ได้เป็นมะเร็ง ก็อาจไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด

และไม่จำเป็นต้องทำการผ่าตัด แต่ทั้งนี้ก็ต้องติดตามดูอาการ และตรวจสุขภาพต่อมไทรอยด์อยู่เสมอ โดยหากพบว่าก้อนมีขนาดใหญ่ขึ้นก็ควรได้รับการผ่าตัดออกเพื่อป้องกันความเสี่ยงเป็นเนื้อร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ในขณะที่หากเป็นก้อนมะเร็ง หลังผ่าตัดรักษานำก้อนเนื้อร้ายที่ต่อมไทรอยด์ออกไปแล้ว ก็จะมีการรักษาต่อเนื่องด้วยการกลืนแร่ หรือฉายรังสีเพิ่มเติม ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้มากขึ้น

ดังนั้น แนวทางในการป้องกันให้เราห่างไกลและปลอดภัยจากโรคก้อนที่ต่อมไทรอยด์ รวมถึงมะเร็งที่ต่อมไทรอยด์มากที่สุดก็คือ การหมั่นสังเกตอาการ คลำสำรวจก้อนที่คอ และเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อคัดกรองโรค หากพบเจอได้เร็วโอกาสการรักษาให้หายขาดก็มีสูงขึ้น

เครดิตแหล่งข้อมูล : phyathai


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์